fbpx

ส่องร่างผังเมืองกทม.ฝั่งธนบุรีเหนือ-ใต้เปิดพื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัย-พาณิชย์

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้เปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครไปแล้วเมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 และมีกำหนดประชุมใหญ่ เพื่อรับฟังความเห็นและการปรึกษาหารือกับประชาชนทั่วไป ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย- ญี่ปุ่น) เขตดินแดงในวันที่ 6 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 0.900-12.00 น.

ในร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายมิติ เพื่อรองรับกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นต้น

ในส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายพื้นที่สอดรับกับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทางสู่ ซึ่งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเจาะลึกลงไปในแต่ละกลุ่มเขตของกรุงเทพมหานครซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มเขต กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพฯกลาง กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออก กลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือ กลุ่มเขตกรุงธนฯใต้

Property Mentor ขอนำเสนอรายละเอียดของการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในที่ดินของแต่ละกลุ่มเขต โดยได้เริ่มจากกลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ (ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนใต้ ปั้นคลองเตย-พระราม 4 รองรับ CBD) กลุ่มเขตกรุงเทพฯตอนเหนือ (ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนเหนือ Upgrade ทำเลรัชโยธิน ดอนเมือง หลักสี่) กลุ่มเขตกรุงเทพฯตอนกลาง (ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนกลาง ยกระดับพระราม 9 ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่) กลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออก (ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตะวันออกมีนบุรี-ลาดกระบังรอวันเจิดจรัส) และในครั้งนี้เป็นกลุ่มเขตสุดท้ายคือ ฝั่งธนบุรี ทั้งกลุ่มเขตกรุงธนฯตอนเหนือ และกลุ่มเขตกรุงธนฯตอนใต้ครับ

กลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือครอบคลุมพื้นที่ 150.049 ตร.กม. ประกอบด้วย เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในปี 2565 จำแนกเป็น

-ที่อยู่อาศัย พื้นที่ 68.87 ตร.กม. (ร้อยละ 44.78)

-เกษตรกรรม พื้นที่ 18.23 ตร.กม. (ร้อยละ 11.85)

-พาณิชยกรรม พื้นที่ 10.39 ตร.กม. (ร้อยละ 6.75)

-อื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม สาธารณูปการ ที่ว่าง ฯลฯ พื้นที่ 52.57 ตร.กม. (ร้อยละ 36.62)

ผังโครงสร้างการพัฒนากลุ่มเขตกรุงธนเหนือกำหนดการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากในเขตชั้นใน ย่านที่อยู่อาศัย
หนาแน่นปานกลางในเขตชั้นกลาง และย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยในเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก พร้อมกับการสร้างเสริมบทบาททางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งการจ้างงาน โดยการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง ย่านพาณิชยกรรมเมือง ศูนย์พาณิชยกรรมชานเมือง และย่านพาณิชยกรรมชุมชน ในบริเวณที่มีศักยภาพของการเข้าถึงโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และระบบขนส่งเสริม รวมทั้งสงวนรักษาและส่งเสริมการประกอบกิจกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจด้านการเกษตรมูลค่าสูง และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน ในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม

แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือในร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 กำหนดให้บริเวณพื้นที่ริมผั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นย่านการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนดั้งเดิม (ย.11 และ ย.12) และบริเวณพื้นที่ตามแนวสาย ทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นย่านการพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.13) ประกอบกับการพัฒนาย่านวงเวียนใหญ่เป็นศูนย์พาณิชยกรรมรอง (พ.7) และย่านปิ่นเกล้าเป็นย่านพาณิชยกรรมเมือง (พ.5)

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บริเวณพื้นที่คลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ เป็นย่านการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนดั้งเดิม (ย.8 ย.9 ย.11 และ ย.13) และบริเวณพื้นที่ตามแนวสายทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ถนนราชพฤกษ์ และถนนพุทธมณฑล สาย 1 เป็นย่านการพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.8) กำหหนดให้บริเวณพื้นที่ตามแนวถนนกาญจนาภิเษก และถนนพุทธมณฑล สาย 2 เป็นย่านการพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1 และ ย.4)เพื่อรองรับการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยชานเมืองในกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ

ส่วนพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง สถานีตลิ่งชัน กำหนดให้เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พ.4) เพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์
พาณิชยกรรมชุมชนชานเมือง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในกลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือ และให้บริเวณพื้นที่ถนนพุทธมณฑล สาย 3 เป็นย่านชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 และ ก.3) เพื่อสงวนรักษาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพทางธรรมชาติ และเพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานครในอนาคต

การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้จึงมีด้วยกัน 2 บริเวณหลักๆ ได้แก่

บริเวณที่ 1 ราชพฤกษ์-กัลปพฤกษ์ ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5 เดิม) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.8) และปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7 เดิม) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) บริเวณถนนเพชรเกษม ถนนกัลปพฤกษ์ และถนนเอกชัย เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ท่าพระบางแค) สายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) และสายสีเขียว (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า-ตลิ่งชัน)

บริเวณที่ 2 ตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 เดิม) เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 และ ก.3) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.8) และพาณิชยกรรม (พ.4) เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) สายสีเขียว (บางหว้า-ตลิ่งชัน) และสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และเพื่อการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมชานเมืองตลิ่งชัน

สำหรับกลุ่มเขตกรุงธนฯใต้ครอบคลุมพื้นที่ 300.07 ตร.กม. ประกอบด้วย เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในปี 2565 จำแนกเป็น

-เกษตรกรรม พื้นที่ 86.07 ตร.กม. (ร้อยละ 28.68)

-ที่อยู่อาศัย พื้นที่ 82.82 ตร.กม. (ร้อยละ 27.60)

-พาณิชยกรรม พื้นที่ 15.91 ตร.กม. (ร้อยละ 5.30)

-อื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม สาธารณูปการ ที่ว่าง ฯลฯ พื้นที่ 115.27 ตร.กม. (ร้อยละ 38.14)

แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มเขตกรุงธนฯใต้ในร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 กำหนดให้บริเวณพื้นที่ตามแนวสายทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีม่วง และสายสีแดง เป็นย่านการพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6-ย.9) และให้บริเวณพื้นที่การเข้าถึงด้วยถนนสายประธานและ
ถนนสายหลัก ได้แก่ ถนนกาญจนาภิเษก ถนนเพชรเกษม และถนนพระรามที่ 2 เป็นย่านการพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1-ย.4)

บริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน สถานีบางแค และสายสีแดง-ถนนพระรามที่ 2 เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พ.4 และ พ.5) เพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์พาณิชยกรรมชานเมือง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในกลุ่มเขตกรุงธนฯใต้ รวมทั้งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ที่มีสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นย่านชนบทและเกษตรกรรม (ก.2และ ก.3) เพื่อส่งเสริมการประกอบกิจกรรมทางสังคมและทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรมูลค่าสูง และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชุมชน

การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนฯใต้จึงมีด้วยกัน 3 บริเวณหลักๆ ได้แก่

บริเวณที่ 1 เพชรเกษม-กัลปพฤกษ์ ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.8) และปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) บริเวณถนนเพชรเกษม ถนนกัลปพฤกษ์ และถนนเอกชัย เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-บางแค) สายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) และสายสีเขียว (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า-ตลิ่งชัน)

บริเวณที่ 2 พระรามที่ 2-กาญจนาภิเษก ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.4 และ ก.5 เดิม) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.2) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5 เดิม) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.8) และที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.9) บริเวณถนนพระรามที่ 2-กาญจนาภิเษก เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย)

บริเวณที่ 3 บางขุนเทียน ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.3 เดิม) และชนบทและเกษตรกรรม (ก.4 และ ก.5 เดิม) เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 และ ก.3) ประกอบกับการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศป่าชายเลน และเพื่อการประมงน้ำเค็มและน้ำกร่อย ตามแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทำเลเด่นของกลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากบริเวณถนนเพชรเกษม ถนนกัลปพฤกษ์ และถนนเอกชัย เปิดทางให้พัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมได้มากขึ้น ขณะที่บริเวณตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา เปลี่ยนจากพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 เดิม) เดิมกำหนดให้พัฒนาที่อยู่อาศัยได้เฉพาะบ้านเดี่ยว 100 ตารางวา เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 และ ก.3) ซึ่งในพื้นที่ที่เปลี่ยนเป็น ก.3 จะเปิดให้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านเดี่ยว 50 ตร.ว. รวมถึงบ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว และอาคารพักอาศัยรวมไม่เกิน 1,000 ตร.ม.ได้ ส่วนพื้นที่ศูนย์พาณิชยกรรมของกลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือ ได้แก่ วงเวียนใหญ่ ขณะที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง ได้แก่ ตลิ่งชัน ท่าพระ บางกอกน้อย และตลาดพลู

สำหรับกลุ่มเขตกรุงธนฯใต้ศูนย์พาณิชยกรรมหลักจะอยู่บนถนนพระราม 2 (บริเวณเซ็นทรัล พระราม 2) ส่วนทำเลที่เป็นศุนย์พาณิชย์กรรมรอง ได้แก่ บางแค บางหว้า และบางมด นอกจากนี้ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนฯใต้ ได้เปิดพื้นที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากบริเวณถนนเพชรเกษม ถนนกัลปพฤกษ์ และถนนเอกชัย ปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณถนนพระราม 2 -วงแหวนกาญจนภิเษก เป็นพื้นที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย และจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม บริเวณบางขุนเทียนก็เปิดให้พัฒนาที่อยู่อาศัยได้มากขึ้นแต่ทั้งนี้ยังมีการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศป่าชายเลน และเพื่อการประมงน้ำเค็มและน้ำกร่อยกำกับอยู่

อ่านเพิ่มเติม
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนเหนือ Upgrade ทำเลรัชโยธิน ดอนเมือง หลักสี่
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนกลาง ยกระดับพระราม 9 ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนใต้ ปั้นคลองเตย-พระราม 4 รองรับ CBD
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตะวันออกมีนบุรี-ลาดกระบังรอวันเจิดจรัส

ติดตามช่อง Property Mentor Chanel ทาง YouTube
Property Mentor Line Official: https://lin.ee/nE9XYOo4