fbpx
AshtonAsoke Gal1

อดีตผู้ว่ารฟม.ยันทางเข้าแอชตัน อโศก ไม่ผิดวัตถุประสงค์เวนคืน

อดีตผู้ว่ารฟม. ยืนยันชัดเจน การอนุญาตให้แอชตัน อโศก ใช้ที่ดินเป็นทางผ่าน ทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์และไม่ขัดกฎหมายเวนคืน เผยรฟม.อนุญาตให้ผ่านทางเป็นมาแล้ว 100 โครงการ ขณะโนเบิล ออกโรงแจง คอนโดขอทางเข้า-ออกถูกต้องตามกฎหมาย

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านช่องยูทูบ Money Chat Thailand กรณีโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งได้รับการอนุญาตให้ใช้ที่ดินผ่านทางในสมัยที่นายยงสิทธิ์เป็นผู้ว่าการรฟม.โดยระบุว่า การอนุญาตให้เอกชนใช้ที่ดินของรฟม.เป็นทางผ่านนั้น เป็นการอนุญาตที่ถูกต้องตามระเบียบของรฟม.และทำในลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อใช้สำหรับกิจการรฟม.

ทั้งนี้ โดยปกติการเวนคืนที่ดินของรฟม.ก็เป็นการรอนสิทธิ์ที่ดินข้างเคียงอยู่แล้วทำให้กลายเป็นที่ดินตาบอด หรือใช้ประโยชน์ได้ลดลง ระเบียบของรฟม.ที่ออกมาก็เพื่อให้ที่ดินข้างเคียงได้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองตามแนวรถไฟฟ้า อย่างที่ดินของแอชตัน อโศก ก็เคยถูกทิ้งให้เป็นที่รกร้างที่อยู่กลางเมืองมาเป็นเวลา 20 ปี เมื่อมีการเปิดทางเข้าออกและมีการขอใช้พื้นที่ขยายทางเข้าออกให้เข้าหลักเกณฑ์ที่สร้างอาคารสูงได้ ที่ดินแปลงนี้จึงถูกนำมาพัฒนอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใกล้สถานีรถไฟฟ้าก็จะทำให้เกิดการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น และลดการใช้รถใช้ถนนลง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อใช้ในกิจการของรฟม.ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมารฟม.ก็ได้อนุมัติให้โครงการของเอกชนใช้ที่ดินรฟม.เป็นทางผ่านเข้าโครงการและนำไปขอใบอนุญาตก่อสร้างในลักษระเดียวกันรวม 14 โครงการ และที่ใช้เป็นทางผ่านอีกเป็น 100 โครงการ

นอกจากนี้ ตามกฎหมายควบคุมอาคารก็ให้ใช้ที่ดินอื่นเป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณะหรือเป็นที่ส่วนบุคคลก็ตาม ถ้าเข้าของอนุญาตและมีความกว้างตามที่กำหนดก็สามารถนำมาขอออกใบอนุญาตได้

สรุปก็คือ รฟม.ได้อนุญาตอย่างถูกต้องตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของรฟม. เพื่อส่งเสริมให้ที่ดินข้างที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนได้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ และไม่เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการเวนคืน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้คนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาจราจร ซึ่งเป็นภารกิจของรฟม. และการนำที่ดินที่อนุญาตให้ผ่านทางมาใช้ประกอบการขอนุญาตก็สร้าง ตามกฎหมายควบคุมอาคารก็สามารถทำได้ ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่ดินสาธารณะหรือที่ดินเอกชน ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และกฎหมายที่กำหนด เพียงแต่ว่า มีการตีความกฎหมายเป็นอย่างอื่น

ขณะเดียวกัน บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว และ โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา ว่าเป็นโครงการลักษณะเดียวกันแอชตัน อโศก โดยยืนยันว่า ทั้ง 2 โครงการได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการดังนี้

1.โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออกจากถนนรัชดาภิเษก [ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)] โดยที่ดินเดิมของโครงการมีทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ แต่ถูกเวนคืนโดย รฟม. ส่งผลให้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งโครงการไม่มีทางเข้า-ออก ด้วยเหตุนี้ รฟม.จึงชอบที่จะอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรดังกล่าว เป็นทางเข้า-ออกของโครงการได้ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งการที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์ของการเวนคืนเดิมเสียไป และ รฟม.ยังคงใช้ที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามปกติ โดยอาคารจอดรถของ รฟม. ดังกล่าวได้เปิดใช้งานแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน กรณีนี้จึงเห็นได้ชัดว่า รูปแบบการใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ ไม่ได้มีการดัดแปลงรูปแบบการใช้งานที่มีอยู่เดิม ย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงความกว้างของทางเข้า-ออกแต่อย่างใด ทางเข้า-ออกของโครงการจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว

2.โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออก จากถนนรัชดาภิเษก ซอย 6 โดยที่ดินเดิมของโครงการได้ถูกเวนคืนโดย รฟม. บางส่วน เพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรม อาคารจอดรถแล้วจร และลานจอดรถเพิ่มเติม ส่งผลให้ที่ดินโครงการไม่มีทางเข้าออก ด้วยเหตุนี้ รฟม.จึงชอบที่จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินบางส่วน เพื่อวัตถุประสงค์ในการผ่านเข้า-ออกของโครงการ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน โดยไม่มีเงื่อนระยะเวลา ซึ่งการที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวเป็นการใช้ตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ ไม่ได้มีการดัดแปลงรูปแบบการใช้งานที่มีอยู่เดิม ย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงความกว้างของทางเข้า-ออกแต่อย่างใด เพราะแต่เดิม รฟม. ก็ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้า-ออกของลานจอดรถอยู่แล้ว จึงสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ บริษัทยังได้นำที่ดินอีกส่วนหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนเป็นภาระจำยอม เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก ร่วมกันของโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ด้วย ดังนั้น ทางเข้า-ออกของโครงการจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว

บริษัทขอให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า และยืนยันว่า โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย และได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ