fbpx
ผังเมือง 4

เปิดร่างผังเมืองกทม.เวอร์ชั่นใหม่ Upgrade 9 โซน รองรับรถไฟฟ้า

ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้เริ่มต้นกระบวนการปรับปรุงร่างให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยร่างเวอร์ชั่นล่าสุดได้นำมาเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรและสมาคมวิชาชีพไปแล้ว 3 เวทีในช่วงวันที่ 8-15 มิถุนายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะนำร่างดังกล่าวเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2566

สาระสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การผังเมืองฉบับล่าสุดคือ การเพิ่มเติมแผนผังอีก 2 ผัง ได้แก่ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำ จากเดิมมีอยู่ 4 ผัง ได้แก่ 1.แผนผังแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.แผนผังแสดงที่โล่ง 3.แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง 4.แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ

ขณะเดียวกันระหว่างทางของการร่างผัง กทม.ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ได้แก่ ระบบขนส่งมวลชนที่ได้มีแผนการก่อสร้างเพิ่มจากเดิม ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์) และรถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ที่ต้องปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่ม

รวมถึงการแก้ไขปรับปรุง และเพิ่มเติมแผนผังและข้อกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคระบาด และด้านสิ่งแวดล้อม  ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นต้น

ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เวอร์ชั่นล่าสุดนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมี 9 พื้นที่ที่เป็นไฮไลท์ ได้แก่

บริเวณที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (ศ.1 และ ศ.2) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) พาณิชยกรรม (พ.1 และ พ.2 ใหม่) และสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (ส.) ประกอบกับการควบคุมเขตพื้นที่ซ้อนทับ (Overlay_Control) โดยข้อกำหนดตามแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครตามกฎหมายควบคุมอาคาร

บริเวณที่ 2 รัชโยธิน
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5 และ ย.7) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11 และ ย.13) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) รวมถึงศูนย์คมนาคมบางซื่อที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้เป็นการรองรับ ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของกทม.ในอนาคต

บริเวณที่ 3 ดอนเมือง-หลักสี่
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) เป็นประเภทที่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) และพาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

บริเวณที่ 4 ลาดพร้าว-รามอินทรา
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3 และ ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.7) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)

บริเวณที่ 5 ศรีนครินทร์
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (อ่อนนุช-เคหะฯ) สายสีแดง (ARL พญาไท-สุวรรณภูมิ) และสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง)

บริเวณที่ 6 มีนบุรี
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) และจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.10 ใหม่) และประเภทพาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

บริเวณที่ 7 ทางน้ำหลากฝั่งตะวันออก
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) บางส่วน เป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 ใหม่) โดยการดำเนินการปรับปรุง ขยาย และขุดคลองระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำตามแผนผังแสดงผังน้ำ

บริเวณที่ 8 ตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 เดิม) และประเภทชนบท และกษตรกรรม (ก.4 เดิม) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1, ย.3 และ ย.4) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง(ย.6 และ ย.8) และพาณิชยกรรม (พ.4_ใหม่) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-บางแค) และสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชัน)

บริเวณที่ 9 วงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์
ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.8) และจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.13) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) และสายสีม่วง (เตาปูน-ครุใน)

นอกจากพื้นที่ทั้ง 9 บริเวณที่มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในร่างผังเมืองรวมกทม.เวอร์ชั่นล่าสุดแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างเวอร์ชั่นเก่าอีก 25 บริเวณ อย่างไรก็ตาม ยังต้องอัพเดตอีกครั้งว่าทั้ง 25 บริเวณจะมีการปรับเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่เท่าที่ได้ข้อมูลมาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนบ้างเล็กๆ น้อยๆ
Upgrade 25 ทำเลทั่วกรุงรองรับโครงข่ายรถไฟฟ้า(ตอนที่ 1) 
Upgrade 25 ทำเลทั่วกรุงรองรับโครงข่ายรถไฟฟ้า(ตอนที่ 2) 

สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินในร่างผังเมืองเวอร์ชั่นล่าสุด พอสรุปได้ว่า จะมีการเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดรับกับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง หรือตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่เพิ่งเปิดหรือกำลังจะเปิดให้บริการ โดยจะมีการขยายที่อยู่อาศัยหนาแน่นออกไปตามแนวรถไฟฟ้าภายในวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นหลัก

ส่วนที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ก็จะขยายตัวออกไปตามแนวเส้นทางให้บริการของรถไฟฟ้าระหว่างวงแหวนรัชดาภิเษกกับวงแหวนกาญจนาภิเษก ส่วนที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ชั้นนอกของกทม. และจะพยายามรักษาพื้นที่เกษตรกรรมเอาไว้เป็นแหล่งผลิตอาหารของเมือง

นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้มีการพัฒนาในพื้นที่อนุรักษ์อย่างเช่น พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อส่งเริมการท่องเที่ยว และปรับปรุงด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้จะมีการใช้มาตรการ Overlay Control โดยนำข้อกำหนดตามแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตามกฎหมายควบคุมอาคารมาควบคุมเพื่อการอนุรักษ์อีกชั้นหนึ่ง

สำหรับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของกรุงเทพมหานคร จะแบ่งออกเป็น 9 ประเภทหลัก 30 ประเภทย่อย ได้แก่
1. พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ย. 1-5 
2 .พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ย. 6-10
3.พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ย.11-15
4. พื้นที่พาณิชยกรรม พ. 1-8
5. พื้นที่อุตสาหกรรม อ. 1 และ อ. 2
6. พื้นที่คลังสินค้า อ. 3
7. พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ก.1
8. พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ก. 2 และก. 3
9. พื้นที่สถาบันราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

ทั้งนี้ในร่างผังเมืองกทม.ได้กำหนดเนื้อที่ของการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท พบว่า ที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ย. 6-10 ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ย.11-15  และที่ดินพาณิชยกรรม พ. 1-8 มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่ดินชนบทและเกษตรกรรม ก. 2 และ ก. 3  ส่วนที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยหนสแน่นน้อย ย. 1-5  ที่ดินอนุรักษ์ชนบทบทและเกษตรกรรม ก.1 และที่ดินอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยมีสัดส่วนที่ลดลง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของมาตรการจูงใจที่เพิ่มขึ้น เรื่องของ  FAR – OSR  และล่าสุดคือ GAR การเพิ่มสีเขียวให้เมืองที่จะมาอัพเดตรายละเอียดต่างๆ ในตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม…เปิดข้อกำหนด OSR-GAR เติมพื้นที่สีเขียวให้กทม.