fbpx
รัชกาลที่ 9

“เส้นทางนี้…ที่พ่อสร้าง” 13 ต.ค. ระลึกถึงพ่อของแผ่นดิน

ภาพปกจากเว็ปไซต์พอเพียง www.porpeang.org

วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “วันนวมินทรมหาราช” เพื่อรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อของแผ่นดินอันเป็นที่รักของคนไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย วันนี้เรามาหวนรำลึกถึงเศษเสี้ยวที่พระองค์ทรงทำเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยเกี่ยวกับโครงการสร้างพื้นฐานตามแนวพระราชดำริกันครับ

สืบเนื่องจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “การจะให้ประชาชนพึ่งตนเองต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง เป็นปัจจัยรองรับ”

ด้วยแนวพระราชดำรินี้ ทำให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง ดำเนินโครงการในด้านการคมนาคม ทั้ง ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สร้างคุณูปการมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีมากมายหลายโครงการที่เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริที่พ่อของแผ่นดินที่ทรงให้ไว้จนเกิดผลเป็นรูปธรรม

ถนนรัชดาภิเษก สู่ ถนนกาญจนาภิเษก
ถนนรัชดาภิเษกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่จะต้องประสบปัญหาการจราจร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้มีรับสั่งเรื่องการสร้าง “ถนนวงแหวน” ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ถนนวงแหวนรอบใน หรือ “ถนนรัชดาภิเษก” ต่อมาในปี 2521 กระทรวงความนาคมได้สนองพระราชดำริดำเนินการก่อสร้าง “ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร” โดยเริ่มก่อสร้างจากถนนด้านตะวันตก ต่อด้วยด้านตะวันออก และด้านใต้เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายถนนวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองทั้ง 3 ด้าน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยา และในปี 2539 เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ทรงพระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนกาญจนาภิเษก”

สะพานพระราม 9 และสะพานคู่ขนานแห่งใหม่
สะพานพระราม 9 เป็นส่วนหนึ่งของทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ มีลักษณะเป็นสะพานชนิด Single Plane Fan Type Cable-Stayed Bridge หรือสะพานขึงโดยใช้สายเคเบิลขนาดใหญ่ขึงเป็นระนาบเดี่ยวไว้กับเสาสูงของสะพานเพื่อรับน้ำหนักของสะพาน เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รับแนวพระราชดำริและนำมาพัฒนาเส้นทางพิเศษเฉลิมมหานคร เพื่อเชื่อมการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่างๆ ของประเทศเข้าด้วยกัน โดยไม่ต้องเดินทางผ่านการจราจรหนาแน่นในใจกลางกรุงเทพมหานคร ช่วยลดปริมาณจราจรที่คับคั่งบนถนนระดับดิน รวมทั้งช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือคลองเตยกับภาคต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว

ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มีระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • สายดินแดง – ท่าเรือ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2524 ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากปลายถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน ผ่านถนนสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และเป็นทางระดับดินตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนพระรามที่ 4 และเป็นทางยกระดับอีกครั้งในช่วงถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ
  • สายบางนา-ท่าเรือ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2526 ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากปลายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 บริเวณทางแยกต่างระดับบางนา แล้วมุ่งไปทาง ทิศตะวันตก ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางระดับดินขนาด 6 ช่องจราจร และเป็นทางยกระดับตั้งแต่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิทถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ
  • สายดาวคะนอง-ท่าเรือ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากทางแยกต่างระดับท่าเรือ ผ่านทางแยกต่างระดับบางโคล่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 9 ช่วงนี้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และลดช่องจราจรเหลือ 4 ช่องจราจร ตั้งแต่สะพานพระราม9 และสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 2

เส้นทางสายนี้ สร้างชุมชนใหม่ปลายเส้นทางและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบกระจายตัวไปสู่ชานเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม

ต่อมาทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วง สะพานพระราม 9 เกิดปัญหาการจราจรสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ “สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 แห่งใหม่” ซึ่งเป็นสะพานที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อเปิดให้บริการจะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ปริมณฑลทางด้านตะวันตก ช่วยลดเวลาในการเดินทางให้ผู้ใช้ทางพิเศษได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยสะพานคู่ขนานแห่งใหม่นี้ ทางกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาให้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

สะพานภูมิพล 1 และ สะพานภูมิพล 2
เป็นสะพานขึงแฝดแห่งแรกของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนอุตสาหกรรมเส้นทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่เดิมสะพานแห่งนี้ได้รับการเรียกว่าสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมต่อมาได้พระราชทานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯกับจังหวัดสมุทรปราการว่าสะพานภูมิพล 1 ส่วนด้านทิศใต้ที่เชื่อมอำเภอพระประแดงกับตำบลสำโรงใต้พระราชทานนามว่าสะพานภูมิพล 2 ทำหน้าที่รองรับการลำเลียงขนถ่ายสินค้าในเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรปราการเชื่อมโยงถนนพระราม 3 ถนนปู่เจ้าสมิงพรายเข้าด้วยกันและยังทำหน้าที่เป็นทางลัดไม่ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ต้องเล่นผ่านเข้าไปในเมืองอันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตัวสะพานได้ออกแบบให้รองรับปริมาณการจราจรได้เป็นจำนวนมากและยังไม่กีดขวางการเดินเรือเนื่องจากใช้สายเคเบิลในการกระจายน้ำหนักทำให้ไม่ต้องต่อตอม่อกลางแม่น้ำและที่สำคัญเป็นภูมิศาสตร์สถาปัตยกรรมที่งดที่งดงามมาจนถึงปัจจุบัน

ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี
เป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริ เมื่อพุทธศักราช 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมอาการประชวร ของสมเด็จพระศรีนครินทร์ธาราบรมราชชนนี ซึ่งประทับรักษาตัวอยู่ณโรงพยาบาลศิริราช พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าต่อเนื่องไปจนถึงถนนพระบรมราชชนนีด้วยจึงมีแนวพระราชดำริให้สร้างทางคู่ขนานยกระดับ คลอดเหนือสะพานข้ามทางแยกอรุณอัมรินทร์ และสะพานข้ามทางแยกบรมราชชนนี

เนื่องจากทรงพิจารณาแล้วว่าการก่อสร้างถนนคู่ขนานกับถนนบรมราชชนนีในแนวระนาบไม่สามารถกระทำได้ เพราะมีบ้านเรือนของประชาชนตั้งอยู่หนาแน่น กระทรวงคมนาคมจึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร สนองแนวพระราชดำริดำเนินการก่อสร้างโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีในปี 2538 เป็นทางยกระดับกว้าง 4 ช่องจราจรระยะทาง 14 กิโลเมตร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายจตุรทิศตะวันตกเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ยังผลให้การจราจรในเขตกรุงเทพมหานครลดความคับคั่งและคลี่คลายไปได้ด้วยดี

ภาพจากเว็ปไซต์พอเพียง www.porpeang.org

รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาทรางเห็นความสำคัญของระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอันเป็นการเดินทางด้วยรถไฟยุคใหม่ สะดวกรวดเร็วทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในประเทศไทยมีรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก คือรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ – บางซื่อ ที่ชื่อว่ารถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล โครงการดังกล่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2547

ด้วยพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของปัญหาการจราจรที่นับวันมีแต่เพิ่มมากขึ้น จึงได้พระราชทานโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการคมนาคมหลายโครงการให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดูแล โดยเฉพาะเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีโครงการที่สำคัญ ดังนี้

โครงการก่อสร้างถนนชุมชนบึงพระราม 9 เชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 ถนนประชาอุทิศ
เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรบริเวณถนนพระราม 9 และต่อเชื่อมกับถนนเอกมัย-รามอินทรา ทำให้เส้นทางคมนาคมเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น มีหน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล ก่อสร้างถนนและปรับปรุงเส้นทาง โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีต เสริมเหล็กขนาด 4 ช่องทางจราจร กว้าง 14 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 3 เมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2537

โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนเทียมร่วมมิตร
นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกและลดระยะการเดินทางระหว่างถนนเทียมร่วมมิตรกับถนนพระราม 9 โดยไม่ต้องผ่านแยก อ.ส.ม.ท ทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณถนนรัชดาภิเษก และถนนพระราม 9 โดยสร้างถนนเพื่อเป็นทางลัดในพื้นที่ซึ่งเดิมเคยรกร้างว่างเปล่า ด้านข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยข้างกรมการผังเมืองบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นถนนที่มีความยาวประมาณ 1,425 เมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2537 แล้วเสร็จ เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 งบประมาณในการก่อสร้างรวม 33.7 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างถนนคู่ขนานถนนพระราม 9 จากแยกเข้าวัดอุทัยธารามถึงก่อนขึ้นทางด่วนขั้นที่ 2
เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2536 ทรงระราชทานพระราชดำริให้ทางกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ สร้างถนนคู่ขนานขึ้นบริเวณถนนพระราม 9 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณนั้นให้มีการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วขึ้น

โครงการสะพานพระราม 8
หนึ่งในโครงการจตุรทิศที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เมื่อปี 2538 ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ด้วยทรงตระหนักถึงความคับคั่งของการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคตแก้ปัญหาจราจรระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะกรุงเทพชั้นใน ที่ยังขาดการเชื่อมต่อที่เพียงพอให้สามารถคลี่คลายลงได้

โครงการก่อสร้างสะพานจตุรทิศตะวันออก
ถือเป็นโครงข่ายที่สำคัญและเป็นโครงข่ายใหญ่มีการก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมโครงการย่อๆ ปลายโครงการเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงถนนเชื่อมต่อสายอื่นได้แก่ ถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนอโศก-ดินแดง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี และถนนพระราม 9 การก่อสร้างโครงการเริ่มต้นจากทิศตะวันตก ต่อเนื่องกับโครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีและโครงการพระราม 8 ไปยังทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร