fbpx

จากสนามม้านางเลิ้ง สู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙

อุทยานเฉลิมพระเกียรติอุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางเมือง ที่จะทำให้ปวงชนชาวไทยได้อยู่ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกครั้ง และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ตราบชั่วนิรันดร์

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของทั้ง 2 พระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องป่าและน้ำซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวน

“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ…”

(พระราชดำรัสสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 ณ บ้านถ้ำคิ้ว อำเภอล่องดาว จังหวัดสกลนคร)

ที่สำคัญอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9  พระราชทานไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ และยังเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงเป็นสถานที่ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป

สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” (พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเศก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562)

พื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯเป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน ครอบคลุมพื้นที่ 279 ไร่ (ที่ดินสนามม้านางเลิ้งเดิม) โดยเริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่พ.ศ. 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในพ.ศ. 2567

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯยังเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยาน และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ จึงมีแนวคิดการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย พระบรมราชาอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 บ่อน้ำเลข 9 สะพานเลข 9 สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบากง เป็นต้น

ด้วยน้ำพระราชหฤทัย ดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปี สวนแห่งนี้ได้สะท้อนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ฝายชะลอน้ำ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง กลางน้ำ เช่น แก้มลิง พืชชุ่มน้ำ กังหันชัยพัฒนา เกษตรทฤษฎีใหม่ บ่อปลานิล  และปลายน้ำ เช่น พืชกรองน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังออกแบบให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ หรือแก้มลิงในยามวิกฤติจากอุทกภัยอีกแห่งของกรุงเทพมหานคร

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ราว 4,500 ต้น จัดวางคล้ายคลึงป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ เช่น การปลูกพืชกรองฝุ่น การปลูกไม้โตเร็ว เครื่องสร้างร่มเงา ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก และพืชบำบัดน้ำ สร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นอกจากจะให้ความรู้ในหลากมิติที่เข้าถึงได้ง่าย ผู้คนยังได้รับความสุขจากธรรมชาติ ภายในสวนยังมีเส้นทางเดินและวิ่ง ทางปั่นจักรยาน ที่รายล้อมด้วยทัศนียภาพที่งดงาม มีสนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกิจกรรมและนันทนาการ ลานริมน้ำ ร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ลานจอดรถและส่วนอำนวยความสะดวกต่างๆ มีการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน

ทั้งหมดคือภาพรวมของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ สวนแห่งความสุขและความยั่งยืน ซึ่งในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ