fbpx

ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนเหนือ Upgrade ทำเลรัชโยธิน ดอนเมือง หลักสี่

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้เปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครไปแล้วเมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 และมีกำหนดประชุมใหญ่ เพื่อรับฟังความเห็นและการปรึกษาหารือกับประชาชนทั่วไป ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย- ญี่ปุ่น) เขตดินแดงในวันที่ 6 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 0.900-12.00 น.

ในร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายมิติ เพื่อรองรับกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นต้น

ในส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายพื้นที่สอดรับกับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทางสู่ ซึ่งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเจาะลึกลงไปในแต่ละกลุ่มเขตของกรุงเทพมหานครซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มเขต กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพฯกลาง กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออก กลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือ กลุ่มเขตกรุงธนฯใต้

Property Mentor ขอนำเสนอรายละเอียดของการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในที่ดินของแต่ละกลุ่มเขต โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ (ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนใต้ ปั้นคลองเตย-พระราม 4 รองรับ CBD) ในครั้งนี้เป็นกลุ่มเขตกรุงเทพฯตอนเหนือเป็นคิวต่อไปครับ

กลุ่มเขตกรุงเทพฯตอนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 212.98 ตร.กม. ประกอบด้วย เขตลาดพร้าว เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง และเขตบางเขน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในปี 2565 จำแนกเป็น

-ที่อยู่อาศัย พื้นที่ 87.78 ตร.กม. (ร้อยละ 41.22)

-สถาบันราชการ พื้นที่ 22.52 ตร.กม. (ร้อยละ 10.57)

-พาณิชยกรรม พื้นที่ 13.52 ตร.กม. (ร้อยละ 6.35)

-อื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม สาธารณูปการ ที่ว่าง ฯลฯ พื้นที่ 89.16 ตร.กม. (ร้อยละ 41.86)

กลุ่มเขตกรุงเทพฯตอนเหนือ จะสร้างเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง และย่านพาณิชยกรรมเมืองในบริเวณที่มีศักยภาพของการเข้าถึงโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมทั้งการสร้างเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางสังคม โดยการพัฒนาย่านการบริหารปกครอง และสาธารณูปการขนาดใหญ่ของรัฐ

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการขยายตัวของย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากในเขตชั้นใน และย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและหนาแน่นน้อยในเขตชั้นกลางและเขตชานเมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยการจัดให้มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่พอเพียงและได้มาตรฐาน

แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มเขตกรุงเทพฯตอนเหนือในร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ ได้กำหนดให้บริเวณพื้นที่ในแนวถนนรัชดาภิเษกเป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11-ย.13) เพื่อรองรับ การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว และสายสีเหลือง

รวมทั้งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตามแนวสายทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว สายสีเหลือง และสายสีชมพู เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6-ย.9) และให้บริเวณพื้นที่นอกเขตการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.2, ย.4 และ ย.5)

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้บริเวณพื้นที่ศูนย์คมนาคมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรองของกรุงเทพมหานคร (พ.7) และกำหนดให้บริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีร่วมของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นย่านพาณิชยกรรมเมือง (พ.5)

การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือจึงมีด้วยกัน 3 บริเวณหลักๆ ได้แก่

บริเวณที่ 1 ดอนเมือง-แจ้งวัฒนะ ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3 และ ย.4) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.7) และพาณิชยกรรม (พ.3) บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต และถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

บริเวณที่ 2 หลักสี่ ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) บริเวณถนนพหลโยธิน ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา เป็นพาณิชยกรรม (พ.5) เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

บริเวณที่ 3 รัชโยธิน ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) และที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5 เดิม) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.9) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11 และ ย.13) และพาณิชยกรรม (พ.7) บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน และถนนรัชดาภิเษก เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) และรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต)

ทำเลเด่นของกรุงเทพฯตอนเหนือจากการอัพเกรดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างผังเมืองรวมกทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ก็คือบริเวณโดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ที่จะมีแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซี่งจะมีบทบาทเป็นพาณิชกรรมศูนย์กลางรองของกทม.และทำให้พื้นที่ลาดพร้าว ถึงรัชโยธินมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้มากยิ่งขึ้น และเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมทางด้านเหนือ ที่สามารถแบ่งเบาการกระจุกตัวของแหล่งงานและพาณิชยกรรม ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครออกไปทางด้านเหนือได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ทำเลดอนเมือง และหลักสี่  ซึ่งเป็นพื้นที่จุดตัดของรถไฟฟ้าหลายสาย ประกอบด้วย สายสีแดง เขียวและชมพู และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้พื้นที่รอบสนามบินดอนเมืองโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมการจัดประชุมและแสดงสินค้า (ไมซ์) ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม  Convention Hall รองรับการจัดประชุม การท่องเที่ยว และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนพื้นที่บริเวณหลักสี่-สะพานใหม่ หลักสี่-รามอินทรา หลักสี่-แจ้งวัฒนะ จะเป็นย่านพาณิชยกรรมเมือง

โปรดติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ในกลุ่มเขตอื่นๆ ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้ครับ

อ่านเพิ่มเติม…
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนใต้ ปั้นคลองเตย-พระราม 4 รองรับ CBD
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนกลาง ยกระดับพระราม 9 ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตะวันออกมีนบุรี-ลาดกระบังรอวันเจิดจรัส