fbpx

ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนใต้ ปั้นคลองเตย-พระราม 4 รองรับ CBD

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้เปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครไปแล้วเมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 และมีกำหนดประชุมใหญ่ เพื่อรับฟังความเห็นและการปรึกษาหารือกับประชาชนทั่วไป ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย- ญี่ปุ่น) เขตดินแดงในวันที่ 6 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 0.900-12.00 น.

ในร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายมิติ เพื่อรองรับกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นต้น

ในส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายพื้นที่สอดรับกับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทางสู่ ซึ่งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเจาะลึกลงไปในแต่ละกลุ่มเขตของกรุงเทพมหานครซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มเขต กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพฯกลาง กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออก กลุ่มเขตกรุงธนฯเหนือ กลุ่มเขตกรุงธนฯใต้

Property Mentor ขอนำเสนอรายละเอียดของการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในที่ดินของแต่ละกลุ่มเขต โดยขอเริ่มต้นจากกลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้เป็นอันดับแรก

กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ครอบคลุมพื้นที่ 132.83 ตร.กม. ประกอบด้วย เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาทร เขตยานนาวา เขตบางคอแหลม เขตวัฒนา เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตสวนหลวง และเขตบางนา มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในปี 2565 จำแนกเป็น

-ที่อยู่อาศัย พื้นที่ 52.86 ตร.กม. (ร้อยละ 39.85)

-พาณิชยกรรม พื้นที่ 14.33 ตร.กม. (ร้อยละ 10.53)

-สถาบันราชการ พื้นที่ 5.11 ตร.กม. (ร้อยละ 3.76)

-อื่น ๆ ได้แก่ สาธารณูปการ ที่ว่าง ฯลฯ พื้นที่ 60.54 ตร.กม. (ร้อยละ 45.86)

การพัฒนากลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ บทบาทสำคัญคือ การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ย่านพาณิชยกรรมเมือง และย่านนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในบริเวณที่มีศักยภาพของการเข้าถึงโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากในเขตชั้นใน และย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางในเขตชั้นกลางของกรุงเทพมหานคร

แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินกลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้จึงได้กำหนดให้บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว และสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน และสายสีแดง สายสีฟ้า และสายสีเทา ในอนาคต เป็นย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (พ.8)

พร้อมทั้งกำหนดให้บริเวณพื้นที่การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและการเข้าถึงโดยถนนสายประธานและถนนสายหลัก เป็นย่านพาณิชยกรรมเมือง (พ.5) และย่านพาณิชยกรรมที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นย่านนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (พ.6)

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับกับย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (พ.8) เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11 และ ย.13-ย.15) และที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7-ย.10) ตามระยะการเข้าถึงการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้จึงมีด้วยกัน 5 บริเวณ ได้แก่

บริเวณที่ 1 บรรทัดทอง-เจริญกรุง ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พ.3 เดิม) บริเวณถนนบรรทัดทองและถนนเจริญกรุง เป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พ.6) เพื่อส่งเสริมการประกอบกิจกรรมด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

บริเวณที่ 2 อโศก-รัชดาภิเษก ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.9 และ ย.10 เดิม) เป็นพาณิชยกรรม (พ.7) และปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.7 เดิม) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.13 และ ย.14) บริเวณถนนรัชดาภิเษก เพื่อรองรับการขยายพื้นที่ย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรองและย่านที่อยู่อาศัยในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร

บริเวณที่ 3 คลองเตย ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.8_เดิม) และสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (ส.) เป็นพาณิชยกรรม (พ.5) บริเวณท่าเรือกรุงเทพ และสถานีแม่น้ำ

บริเวณที่ 4 ศรีนครินทร์ ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4 เดิม) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) บริเวณถนนศรีนครินทร์ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)

บริเวณที่ 5 บางนา ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7 เดิม) เป็นพาณิชยกรรม (พ.5) บริเวณถนนศรีนครินทร์และถนนบางนา-ตราด เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)

พื้นที่ที่จะมีบทบาทสำคัญหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ ก็คือ พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยกว่า 2,300 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งการท่าเรือฯได้ขอปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่พาณิชกรรมรองรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามแผนแม่บทที่ได้วางไว้ เชื่อมต่อกับ ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 3 และถนนพระราม 4  ซึ่งจะรองรับการขยายตัวของศูนย์กลางเศรษฐกิจ CBD (Central Business District) ของกรุงเทพฯในอนาคต

โปรดติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ในกลุ่มเขตอื่นๆ ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้ครับ

อ่านเพิ่มเติม…
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนเหนือ Upgrade ทำเลรัชโยธิน ดอนเมือง หลักสี่
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตอนกลาง ยกระดับพระราม 9 ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่
ส่องร่างผังเมืองกรุงเทพฯตะวันออกมีนบุรี-ลาดกระบังรอวันเจิดจรัส