ช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี หลายท่านอาจเจอปัญหาต้องรับโอนบ้าน โอนห้องชุด ทั้งๆ ที่คุณภาพงานยังไม่ตรงใจ เพราะสิ่งที่กำลังจะรับโอนนั้นอาจไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ หรือไม่เป็นไปตามห้องตัวอย่างที่มักจะสร้างให้ดูสวยงาม เช่น แปลนห้องไม่ตรงตามโฆษณา ส่วนกลางที่น้อยกว่าที่โฆษณาไว้ สเป็คของที่ได้ไม่เหมือนห้องตัวอย่าง หรือห้องมีความชำรุด เป็นต้น
Property Mentor ขอนำคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.มานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหากเราเจอปัญหาเช่นนี้
หากเราพบว่าโครงการสร้างไม่ตรงแบบที่ได้โฆษณาไว้ หรือไม่เป็นไปตามแบบที่ตกลงกันไว้ไม่ว่าจะเป็นภายในห้องหรือบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง ก็ถือเป็นสิทธิที่ผู้บริโภคสามารถจัดการด้วยวิธีการต่างๆ ได้
เริ่มจากการทำจดหมายพูดคุยกับโครงการ เพื่อให้โครงการแก้ไขเพราะเป็นวิธีที่ง่ายสุดและเป็นวิธีประนีประนอมที่ดีสุด แต่หากโครงการไม่แก้ไขให้เราทำจดหมายปฏิเสธการจ่ายเงินและการโอนกรรมสิทธิ์ รวมไปถึงสามารถร้องเรียนไปยัง สคบ. หรือฟ้องศาลด้วยตัวเองได้เลย ผู้บริโภคควรสงวนหรือรักษาสิทธิ์ได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย
สคบ. ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษา เนื่องจากผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากกรณีได้ทำสัญญาซื้อคอนโดมิเนียมของโครงการแห่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่ามีการก่อสร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามสัญญา ต่อมาบริษัทได้ก่อสร้างแล้วจนเสร็จและได้นัดผู้บริโภครับตรวจห้องชุดดังกล่าว พบว่า ห้องชุดก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบและภายในห้องตรวจสอบแล้วพบว่าการตกแต่งไม่เรียบร้อยหลายรายการ ผู้บริโภคจึงแจ้งให้บริษัทดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ พร้อมชำระค่าปรับล่าช้าตามสัญญา แต่ทางบริษัทไม่สามรถดำเนินการแก้ไขให้ได้
ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์เรียกค่าเสียหายแก้ไขพื้นห้องชุดจำนวน 100,000 บาท และแก้ไขชุดครัวจากการติดตั้งผิดเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท และค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งทางบริษัทรับข้อเสนอของผู้บริโภคและจะแจ้งผลการพิจารณาเป็นลายลักษณ์อักษรทราบภายใน 15 วัน
ต่อมาบริษัทได้มีเอกสารแนบท้ายสัญญาขอขยายเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ออกไป 6 เดือน ผู้บริโภคได้มีการประสานไปยัง สคบ.เพื่อขอให้บริษัทดำเนินการชำระค่าปรับก่อสร้างตามสัญญาจำนวนเงินขั้นต่ำ 10 % ของราคาห้องชุด ชดเชยกรณีก่อสร้างผิดแบบตามที่ตกลงกันเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท โดย สคบ.ได้มีการประสานงานไปยังบริษัท พบว่าบริษัทได้นัดผู้บริโภคไปรับโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดิน แต่ผู้บริโภคไม่ได้ไปตามกำหนดนัด บริษัทได้ทำบันทึกเป็นหลักฐาน อีกทั้งได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังผู้บริโภค
จากกรณีนี้ สคบ. ได้นำเรื่องร้องทุกข์เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า ผู้บริโภคได้ทำสัญญาห้องชุดกับบริษัทเพื่ออยู่อาศัยด้วยตนเอง จึงเป็นผู้บริโภคตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เมื่อพิจารณาตามสัญญาระบุว่า “บริษัทรับรองว่าจะดำเนินการโครงการอาคารชุดให้แล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค โดยทางบริษัทจะแจ้งกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน”
เมื่อพิจารณาว่า ถึงแม้บริษัทก่อสร้างห้องชุดไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญา บริษัทจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดเสร็จแล้วพร้อมที่จะให้ผู้บริโภคไปรับโอนกรรมสิทธิ์แต่ผู้บริโภคไม่ได้ไปตามนัด และอ้างว่าหากจะไปรับโอนกรรมสิทธิ์นั้น บริษัทต้องชำระหนี้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด และเรียกค่าเบี้ยปรับล่าช้า
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ผู้บริโภคไม่ควรนำเหตุผลที่บริษัทไม่ชำระค่าเบี้ยปรับล่าช้ามาเป็นเหตุไม่รับโอน เพราะการกระทำของบริษัทดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
สคบ. ขอแนะนำผู้บริโภคว่าหากจะซื้อคอนโดมิเนียมหรือโครงการใดๆ ไม่ควรตัดสินใจเพียงภาพโฆษณาหรือข้อความประชาสัมพันธ์ที่ไม่สามารถการันตีความแน่นอนใดๆ ควรศึกษาข้อมูลสัญญาการซื้อขายให้ดีเช็คสภาพรายละเอียดห้องชุดให้ถี่ถ้วนก่อนจะมอบโอนกรรมสิทธิ์ ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขข้อสัญญา เพื่อใช้สิทธิผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ และควรเก็บเอกสารหลักฐานทั้งหมดไว้
ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จ สัญญาการซื้อขายหลักฐานการโต้ตอบต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนและนำมาร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป หรือต้องการปรึกษาสามารถติดต่อมาที่สายด่วน สคบ. 1166 หรือ ทางเว็บไซต์www.ocpb.go.th
คลิปวิดีโอข้อแนะนำเพิ่มเติมเรื่องของการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายคอนโด