fbpx
อสังหาฯปรับแผนธุรกิจ 1

ลุ้น ลุ้น ลุ้น มาตรการกระตุ้น
อสังหาฯ

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาเป็นวันสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจดจำนอง เหลือ 0.01% สำหรับบ้านและคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เชื่อว่า บริษัทอสังหาฯคงได้ยอดขายล๊อตสุดท้ายจากมาตรการที่ว่านี้กันไปแล้วไม่มากก็น้อย

เป็นอันเปิดจ๊อบกับมาตรการรอบนี้หลังจากใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นภาคอสังหาฯมาได้ปีเศษ แต่โชคไม่ดีที่ดันมีโควิด-19 เข้ามาผสมโรงทำให้มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองครั้งนี้ ไม่ค่อยจะปังสักเท่าไหร่ เพราะกำลังซื้อในตลาดหดตัวลงไปมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ติดลบ ยิ่งโค้งสุดท้ายของมาตรการในไตรมาสที่ 4 ซึ่งปกติจะเป็นไฮซีซั่นของตลาด แต่บรรยากาศกลับเงียบเหงากว่าทุกๆ ปี

จบไปแล้วก็ต้องถือว่าจบกันแม้ว่าจะจบไม่ค่อยสวยสักเท่าไหร่ ต่อไปก็คงต้องตามลุ้นว่า รัฐบาลจะใจดีมีมาตรการอะไรมาประคับประคองธุรกิจอสังหาฯในปีหน้ากันอีกหรือไม่ ยิ่งความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสร้ายโควิด-19 เริ่มสูงมากขึ้นจากการแพร่ระบาดที่กระจายไปในหลายจังหวัด

เศรษฐกิจที่ทำท่าว่าจะผงกหัวขึ้นได้ในปีหน้าก็อาจจะถูกโควิด-19 สวนหมัดน็อคให้สลบเหมือดอีกรอบมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จึงยังจำเป็นต้องมี เพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจอสังหาฯ โดยการลดภาระให้กับผู้ที่จะซื้อบ้านหรือคอนโด ซึ่งปัจจุบันคงเหลือแต่ผู้ซื้อตัวจริง หรือ real demand เสียเป็นส่วนใหญ่

จำได้ว่า นายกรัฐมนตรี ได้เคยเชิญผู้ประกอบการอสังหาฯ ไปพูดคุยกันแล้วรอบหนึ่ง รองนายกฯหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็เชิญ 3 สมาคมธุรกิจอสังหาฯไปคุยอีกรอบ ประเด็นหลักคือ การขอให้รัฐขจัดปัดเป่าอุปสรรคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และออกมาตรการเพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
สำหรับมาตรการที่ภาคเอกชนเสนอไปมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องหลักๆ ก็คือ

1.การขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองออกไปอีก 1 ปี โดยให้สิทธิ์กับการซื้อขายบ้าน-คอนโดทุกระดับราคา ใน 3 ล้านบาทแรก

2.เว้นวรรคมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เป็นเวลา 1ปี

3.ให้แบงก์รัฐ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารออมสิน เป็นแกนนำสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์

4.สนับสนุนลูกค้าต่างชาติที่ซื้อโครงการคอนโดมิเนียมราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ให้ได้สิทธิ์ถือวีซ่าท่องเที่ยว (Privilege Entry Visa “PE”) อยู่ในเมืองไทยได้ครั้งละ 1 ปี จนกว่าจะมีการขายยูนิตออกไป

ระหว่างที่รอคิวพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นของมาตรการต่างๆ ที่อยากจะให้รัฐบาลช่วย บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ไม่รอช้า ออกแพ็คเกจ Elite Flexible One ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษ เพื่อใช้ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เงื่อนไขก็คือเปิดให้ต่างชาติซื้อคอนโดในไทยมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ของบริษัทอสังหาฯที่เข้าร่วมโครงการ และคอนโดที่ซื้อจะต้องห้ามจำนอง จำหน่าย โอน ภายในระยะเวลา 5 ปี ถึงจะได้สิทธิ์เป็นสมาชิกบัตรประเภท “Elite Flexible One” โดยเสียค่าธรรมเนียมสมาชิก 500,000 บาท (บริษัทเจ้าของโครงการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย)

สมาชิกบัตร Elite Flexible One จะได้สิทธิ์ถือวีซ่าท่องเที่ยว (Privilege Entry Visa “PE”) เป็นเวลา 5 ปี เท่ากับของอายุบัตร โดยสามารถอยู่ในเมืองไทยได้คราวละ 1 ปี เมื่อครบ 1 ปี ก็สามารถขออยู่ต่อได้อีกคราวละ 1 ปี จนครบอายุวีซ่า โดยที่ไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ยังได้สิทธิพิเศษในการอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออกประเทศไทย

แม้จะได้ไม่เหมือนที่ขอไป แต่ก็ถือว่า รัฐได้เปิดช่องเพิ่มอีก 1 ช่องทางสำหรับการกระตุ้นภาคอสังหาฯ และก็พร้อมรับข้อเสนอแนะที่เอกชนร้องขอเข้ามา เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่อไป

ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็คงต้องรอลุ้นว่า กระทรวงการคลังและรัฐบาลจะเห็นดีเห็นงามด้วยแค่ไหน ซึ่งแหล่งข่าวที่คลุกวงในได้วิเคราะห์ให้ฟังว่า มาตรการที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ การต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองสำหรับบ้าน-คอนโดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมาให้อีก 1 ปี ส่วนเรื่องอื่นเก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้ก่อน เพราะรัฐมีภาระที่จะต้องดูแลหลายภาคส่วน

ก็คงต้องรอดูว่า ภาคอสังหาฯ จะได้ของขวัญชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่จากรัฐบาล