fbpx
FB cover 16

บริษัทอสังหาฯ Strong แค่ไหน เช็คก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน

การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตจึงเป็นอะไรที่ต้องคิดให้รอบครอบ ยิ่งบริษัทที่เราจะฝากชีวิตและครอบครัว เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านหรือคอนโดที่เขาสร้างก็ยิ่งต้องมั่นใจว่า เขาไม่เบี้ยวเราแน่ๆ การตรวจสอบบริษัทที่เราจะฝากตัวฝากใจเป็นลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

บ่อยครั้งที่เราเลือกซื้อโครงการด้วยความถูกอกถูกใจ โดยไม่รู้เลยว่าบริษัทนั้นเป็นใครมาจากไหน จะทำได้อย่างที่เขียนเอาไว้ในโฆษณาหรือเปล่า ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ความแข็งแกร่งทางด้านการเงินของบริษัทถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามไป เรามีวิธีการตรวจสอบอย่างไรไปดูกันครับ

สิ่งที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับบริษัทที่เราจะซื้อบ้านหรือคอนโด หลักๆ เลย ก็จะเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ผลงานที่ผ่านมา การดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบต่อลูกค้า และความมั่นคงแข็งแรงทางด้านการเงิน ซึ่งช่องทางหนึ่งที่สามารถตรวจสอบได้คือ ผลการดำเนินงานที่แจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทำไมต้องเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ?

คำตอบก็คือ ปัจจุบันโครงการที่เปิดขายกันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นโครงการของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากถึง 70% ส่วนบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีประมาณ 30% ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในแต่ละท้องที่ก็ใช้หลักการตรวจสอบคล้ายๆ กัน เพียงแต่ข้อมูลอาจจะหายากขึ้นหน่อยเท่านั้นเอง

บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินการต่อตลาดหลักทรัพย์เป็นรายไตรมาส รายครึ่งปี และรายปี เพื่อให้นักลงทุนได้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจลงทุน การซื้อบ้านก็ถือเป็นการลงทุนเช่นกัน แต่เป็นการลงทุน เพื่อการอยู่อาศัยเป็นหลัก จึงสามารถนำข้อมูลผลการดำเนินงานมาช่วยในการตัดสินใจซื้อได้

ข้อมูลผลการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.set.or.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯนักลงทุนและผู้สนใจเข้าไปใช้บริการ เพียงพิมพ์ชื่อย่อหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนเข้าไปข้อมูลต่างๆ จะปรากฏขึ้นมาให้เราได้เลือกดูตามความต้องการ ส่วนบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th ในหมวดบริการออนไลน์

สำหรับข้อมูลทางการเงินของบริษัทที่สำคัญๆ ซึ่งจะทำให้รู้ว่า บริษัทนั้นมีสุขภาพทางการเงินดีแค่ไหน จริงๆ ก็มีหลายๆ ตัว แต่ข้อมูลชุดแรกที่ต้องดูคือ ข้อมูลทั่วไปของบริษัท ให้ดูที่ทุนจดทะเบียน และทุนจดทะเบียนชำระแล้ว บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วสูงๆ ก็เท่ากับมีเงินที่มากพอในการลงทุน

นอกจากนี้ ยังต้องดูต่อไปด้วยว่า ทุนที่มีอยู่กับโครงการที่ลงทุนนั้นมันสอดคล้องกันหรือไม่ เช่น ถ้ามีทุน 100 ไปลงทุน 500 มันก็คงจะเสี่ยงเกินไป แสดงว่าเราจะต้องใช้เงินกู้ที่สูงกว่าทุนหลายเท่า ถ้าจะให้ดี ทุนกับหนี้ควรอยู่ในสัดส่วน 1:1 ถึงจะเบาใจได้ว่า บริษัทไม่เจ๊งง่ายๆ แน่

ตัวเลขชุดต่อไปที่ต้องดู คืองบดุลซึ่งอาจจะมีตัวเลขเยอะแยะไปหมด แต่มี 2-3 ตัวเลขที่ต้องดูเพื่อการประกอบการตัดสินใจซื้อ ก็คือ สินทรัพย์รวม หนี้สินรวม และส่วนของผู้ถือหุ้น ตัวเลขชุดนี้ก็เป็นการแจกแจงรายละเอียดของ สินทรัพย์ที่มี เป็นหนี้สินรวมกันเท่าไหร่ และเป็นของผู้ถือหุ้น ก็คือ ทุนจดทะเบียน + ส่วนเกินมูลค่าหุ้น + กำไรสะสม ก็ใช้หลักการข้างต้นมาจับ ก็คือ ถ้าหนี้สินน้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นก็ถือว่าปลอดภัย แสดงว่า บริษัทนั้นมีฐานะการเงินที่มั่นคงในระดับที่ไว้วางใจได้

มาดูตัวเลขอีกชุดหนึ่งก็คือ งบกำไรขาดทุน ซึ่งจะช่วยบ่งชี้ว่า สินค้าที่บริษัทนั้นผลิตไปขายประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ให้ดูที่รายได้จากการขาย และกำไรสุทธิที่ได้ รายได้จากการขายอีกในอีกมุมหนึ่งนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้ามีรายได้จากการขายที่ดี แสดงว่าสินค้าของบริษัทนั้นได้รับความนิยมทั้งในแง่ของทำเล การดีไซน์ และราคายิ่งถ้ามียอดขายระดับหมื่นล้านบาท อีกนัยหนึ่งจะแสดงถึงความเป็นบริษัทใหญ่ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายโครงการ หลายรูปแบบ หลากหลายระดับราคา

นอกจากการนำตัวเลขต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจแล้ว เรื่องของประวัติ ประสบการณ์ และจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่ต้องแสวงหาข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันแค่ปลายนิ้วคลิกข้อมูลต่างๆ ก็จะมาปรากฏต่อหน้าให้เลือกพินิจ พิเคราะห์ได้ในทุกแง่มุม เอามาพิจารณาร่วมกัน เราก็สามารถคัดกรองบริษัทที่เราสามารเชื่อใจได้สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยครับ