fbpx
S  1531911

โคราชพัฒนาเมือง สร้างเมืองสีเขียวด้วยดิจิทัล

จังหวัดนครราชสีมา หรือ “เมืองโคราช” เป็นอีกหนึ่งเมืองหลักที่เป็นประตู่สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศักยภาพพื้นที่จัดเป็นเมืองที่จะได้รับการยกระดับให้เป็นฮับการเดินทางสู่ภาคอีสาน เนื่องจากมีทั้งรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก่อนจะขยายไปถึงจังหวัดหนองคายในอนาคต และมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา ตลอดจนรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระที่จะเปิดให้บริการในเร็วๆนี้

ในขณะที่เมืองโคราชกำลังเดินหน้าพัฒนาในมิติต่างๆ แต่ก็ไม่ลืมที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง โดยปัจจุบันบริษัท โคราชพัฒนาเมือง จำกัด อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองด้วยการพัฒนาแอพพิเคชั่น App 4Rester เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ในการสืบค้นข้อมูลต้นไม้ผ่านการปักหมุด GPS

ในเบื้องต้นได้มีการสำรวจต้นไม้ในพื้นที่เขตเมืองเก่าและรอบเมืองพบว่ามีจำนวนประมาณ 2,000 ต้น ที่จะต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวไว้กรองมลพิษ PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบไปทั่วประเทศในขณะนี้

ดร.ศิริวัฒน์ สาระเขตต์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ได้พบเห็นบ่อยครั้งกรณีต้นไม้ในเมืองถูกตัดโค่นเนื่องมาจากขาดการดูแลที่ดี ทั้งๆ ที่น่าจะมีแนวทางดูแลที่ดีกว่านี้หากมีฐานข้อมูลที่ดีว่ามีต้นไม้อะไร ปลูกอยู่ตรงพื้นที่ใดบ้าง โดยใช้นวัตกรรมเข้าไปบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการของมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลที่รวบรวมข้อมูลต้นไม้เพื่อนำเสนอรายงานต่อโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำหรับแอพพิเคชั่น App 4Rester นั้นมีความหมายถึงผู้พิทักษ์ป่า ป่าในเมือง ป่าในมือ ที่ต่อจากนี้ไปประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลต้นไม้ได้จากแอพในมือถือได้สะดวกรวดเร็วขึ้น หากใครจะตัด หรือย้ายไปอยู่จุดไหนสามารถตรวจสอบได้ โดยต้นไม้ทุกต้นจะติดเซ็นเซอร์ Iot เพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ในการตรวจสอบจึงพบว่าพื้นที่เขตเทศบาลเมืองนครราชสีมามีจำนวนต้นไม้น้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของเมืองหรือประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเขตคูเมืองเก่าพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ มีต้นไม้ราว 2,000 ต้นเท่านั้น ทั้งๆ ที่น่าจะมีประมาณ 5,000 ต้น อีกทั้งหากเมืองต่างๆ นำเอาแอพพิเคชั่นไปประยุกต์ใช้สามารถคำนวณย้อนกลับไปได้ว่าจะปลูกเพิ่มอีกเท่าไหร่ จึงถือเป็นอีกหนึ่งกุศโลบายที่นำเอาข้อมูลมาสร้างบิ๊กดาต้าได้อีกทางหนึ่งด้วย

วันนี้บริษัทโคราชพัฒนาเมืองมีข้อมูลแล้วว่าภายในเขตเมืองเก่าและพื้นที่รอบๆ มีต้นไม้จำนวนกี่ต้น สามารถนำไปวางแผนบริหารจัดการ โดยเฉพาะแนวทางในอนาคตหากจะป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษสามารถต่อยอดได้ทันที จึงวิเคราะห์พื้นที่และปริมาณความต้องการได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ไหนมีความร้อนก็จะเพิ่มต้นไม้เข้าไปให้ได้ความชุ่มชื้นเกิดขึ้น อีกทั้งจะใช้ปริมาณน้ำเท่าไหร่ในการดูแลได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

สำหรับโครงการดังกล่าวได้รับการบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนจากบริษัทโคราชพัฒนาเมือง จำกัด เทศบาลเมืองนครราชสีมา ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และโรงพยาบาลมหาราช โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา

โดยความร่วมมือครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ด้านทุนวิจัยเรื่องการสำรวจและวิเคราะห์บริบทการจัดการสิ่งแวดล้อมสีเขียวในเมืองนครราชสีมา โดยใช้กระบวนการ urban forestry เน้นพื้นที่เมืองเก่าโคราชราว 1,000 ไร่นำร่องก่อนที่จะขยายไปสู่พื้นที่โดยรอบต่อไป เจาะรายละเอียดแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถนำไปพัฒนาแต่ละรูปแบบอย่างไรที่เหมาะสม จากเครื่องมือแอพพิเคชั่นที่รวบรวมไว้เป็นบิ๊กดาต้ามาตั้งแต่ต้น เมื่อได้ข้อมูลมาครบถ้วนจึงจะนำเสนอวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่แต่ละโซนต่อไป โดยจะอ้างอิงกับข้อกำหนดด้านผังเมืองควบคู่กันไปด้วย

ดร.ศิริวัฒน์ สาระเขตต์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันภาคส่วนราชการเข้ามาร่วมมือ อาทิ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากจะต้องมีการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ การพิจารณาพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่นเดียวกับภาคผังเมืองเพื่อนำไปบริหารจัดการ

ทั้งนี้จากข้อมูลที่พบจะเห็นว่าพื้นที่ริมคูคลอง แม่น้ำสายหลักในเขตเมืองยังคงไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียวหลายจุดที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีก ตลอดจนปรับพื้นที่รองรับกิจกรรมสันทนาการได้ทั้งเดินวิ่ง ปั่นจักรยาน เป็นต้น

 

ดังนั้นรอบคูเมืองจึงจะยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสีเขียวได้มากขึ้น จากปัจจุบันจะพบว่าพื้นที่ยังมีอากาศร้อนเนื่องจากขาดความชุ่มชื้นของพื้นที่สีเขียว ลานย่าโมจึงยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบได้อีกเพื่อให้โซนนั้นสามารถลดความร้อนเพิ่มความเย็นให้กับเมืองได้อีกด้วยจากการวางแผนในข้อมูลของแอพพิเคชั่น 4Rester

“ไฮไลต์ต่อไปคือการพัฒนาเลนจักรยานในจุดสำคัญให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับนครราชสีมาได้อีกมากมาย เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างแท้จริง”

ท้ายสุดแล้วความสำเร็จจากผลลัพธ์หรืออานิสงส์ของมลพิษ PM2.5 ยังเป็นการจุดประกายความร่วมมือต่อการผลักดันให้ประชาชนหันมาสนใจต่อการอนุรักษ์ต้นไม้ การนำข้อมูลที่ได้รับจากแอพพิเคชั่นไปยกระดับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ประชาชนใส่ใจต่อการรักษาต้นไม้ในพื้นที่มากขึ้น ต่อจากนี้ไปคงจะได้เห็นการออกแบบเมืองพื้นที่สีเขียวของนครราชสีมาได้อีกมิติหนึ่งที่จะต้องบูรณาการร่วมกัน เริ่มจากชุมชนขนาดเล็กก่อนจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆโดยนำเครื่องมือและวิธีการจากการพัฒนาแอพพิเคชั่น App 4Rester ไปประยุกต์ใช้นั่นเอง

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *