fbpx
รถไฟฟ้าวิ่งไปไหน

5 รถไฟฟ้าสายใหม่ วิ่งไปไหนกัน?

เปิดพิมพ์เขียว 5 รถไฟฟ้าสายใหม่เชื่อมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล กรมรางขอเวลาศึกษา 2 ปี ก่อนเสนอเข้าครม. พร้อมอัพเดตแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างการศึกษา แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 โดยได้รับการสนับสนุนจากไจก้า หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency:JICA) โดยได้ขยายรัศมีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม

M-MAP 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.บรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง 2.ส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกทมและปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพ 3.เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี 4.ส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และ 5.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสนามบิน

5 เส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่
สำหรับพิมพ์เขียวที่ได้ศึกษาไว้มีโครงข่ายเพิ่มเติมในเบื้องต้น 5 สาย รวมระยะทาง 131 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • สายที่ 1 รังสิต-ธัญบุรี ระยะทาง 12 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และยังเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สายที่ 2 ส่วนต่อขยายสายสีเทาช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา ระยะทาง 14 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของจังหวัดปทุมธานี มีเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-ลำลูกกา
  • สายที่ 3 บางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี-บางกะปิ ระยะทาง 12 กิโลเมตร แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะวงแหวนรองรับพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าเข้าถึง โดยสายสีน้ำตาลเป็นช่วงหนึ่งในแนวเส้นทางนี้
  • สายที่ 4 หลักสี่-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ(ถนนบรมราชชนนี) ระยะทาง 30 กิโลเมตร แนวเส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบขนส่งทางรางเข้าสู่ตัวเมือง
  • สายที่ 5 สถานีแม่น้ำ-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 30 33 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ และรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม การศึกษา M-MAP 2 ยังต้องผ่านกระบวนการอีกมาก โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ถึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

อัพเดตรถไฟฟ้าสายสำคัญๆ
สำหรับรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือจากห้าแยกลาดพร้าวไปยังคูคต คาดว่าปลายปีนี้จะเปิดให้บริการไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอยากจะทำต่อไปถึงลำลูกกา คลอง 5 แต่ต้องรอให้ความหนาแน่นในพื้นที่มากกว่านี้ก่อน เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวทางใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ มีแผนจะขยายไปถึงบางปู ซอย 95 ก็ต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่งเช่นกัน

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง การดำเนินงานคืบหน้าไปเกือบ 40% ซึ่งบทบาทของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย จะเป็น Feeder Line ช่วยขนคนไปป้อนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลัก

รถไฟฟ้าสายสีชมพูจึงมีจุดตัดกับสายอื่นถึง 4 สาย บริเวณแคราย หลักสี่(วิภาวดี) หลักสี่ (พหลโยธิน) และมีนบุรี ซึ่งคาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2564
ส่วนสายสีเหลือง ซึ่งเป็น Feeder Line อีกสายจะเชื่อมต่อจากถนนรัชดาฯ เข้าสู่ลาดพร้าว แต่การก่อสร้างไม่ง่าย เพราะมีท่อประปาอยู่ใต้ถนน กว่าจะย้ายออกใช้เวลาเป็นปี จึงคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ไม่เกินปี 2565 ต้นปี จากแผนเดิมจะเปิดในปี 2564

อีกโครงการที่กระทรวงพยายามขับเคลื่อนคือ สายสีม่วงตอนใต้เตาปูน-ราษฏร์บูรณะ ซึ่งถือเป็นสายสำคัญอีกสาย เพราะจะวิ่งผ่ากลางพระนคร บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งผ่านสถานที่สำคัญๆ ซึ่งเป็นสถานที่อนุรักษ์ เช่น หอสมุดแห่งชาติ วัดบวรนิเวศ ไปตัดกับสายสีส้มใกล้ๆ กับผ่านฟ้า ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นจุดตัดใหญ่

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านสถานที่อนุรักษ์หลายแห่ง ส่วนปลายสายเดิมทีจะอยู่ที่ราษฎร์บูรณะได้ต่อไปถึงครุใน และสุดท้ายวิ่งไปถึงวงแหวนรอบนอกด้านใต้ เพื่อใช้เป็นสถานีซ่อมบำรุง

ส่วนสายที่สำคัญที่สุด คือ สายสีแดง รังสิต-บางซื่อ และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งจะมีการก่อสร้างสถานีกลางตรงบริเวณบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมระดับภูมิภาคอาเซียน และเชื่อมต่อไปถึงจีนถึงอินเดีย ซึ่งจะเปิดให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือในปี 2564

สถานีกลางตรงบริเวณบางซื่อจะเป็นสถานีกลางที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดครึ่งหนึ่งของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีรถไฟในเมืองผ่าน 5 สายทาง จะทำให้พื้นที่บริเวณ บางซื่อ-บางโพ ราคาที่ดินจะเปลี่ยนแปลงมหาศาล คือ เพราะนี่คือ ชินจูกุ ฮาราจูกุ ของประเทศไทยเลยทีเดียว

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *