“โครงข่ายรถไฟฟ้าที่สมบูรณ์จะเริ่มในปีหน้า”
รถไฟฟ้า 10 สายตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือที่เรียกว่า M-MAP ที่กำลังเร่งดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปอย่างสิ้นเชิง ความเจริญจะกระจายจากเขตเมืองชั้นในออกสู่นอกเมือง จุดตัดรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ที่เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง หรือ interchange จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางความเจริญของชุมชน เช่นสถานีกลางบางซื่อ มักกะสัน วงเวียนใหญ่ จะเกิดจุดศูนย์รวม หรือแหล่งชุมนุมคน (Node) ขึ้น หรือในพื้นที่ปลายทางของรถไฟฟ้าออกไปชานเมือง ก็จะกลายเป็น Node ของชานเมือง เช่น ลำลูกกา หรือ รังสิต มีนบุรี เป็นต้น
ในเมื่อรถไฟฟ้ามีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต ทำให้ผังเมืองของกรุงเทพฯ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกันทั้งผังในระดับภาค และผังเมืองรวมจังหวัด ซึ่งนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวถึงแนวคิดของผังเมืองรวมกรุงเทพฯที่อยู่ระหว่างการยกร่างในขณะนี้ว่า จะเน้นการส่งเสริมในโซน CBD (Central Business District) หรือย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ให้ทำอะไรได้มากขึ้น สามารถใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตามแนวรถไฟฟ้า ให้คนลดการใช้รถยนต์ นอกจากนี้ยังได้กำหนด Sub CBD ไว้หลายจุด เช่น มักกะสัน วงเวียนใหญ่ บางซื่อ บางแค เป็นต้น
ขณะที่ผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองตามพื้นที่รอบจุดเปลี่ยนถ่ายสัญจรตามแกนการพัฒนาระบบขนส่งสายหลักโดยพัฒนาเมืองศูนย์กลาง และเมืองบริวารดังนี้
ศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลัก CBD ได้แก่ พื้นที่ภายในวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมด้านการค้าและบริการ และสำนักงานใหญ่ธุรกิจระดับประเทศและนานาชาติ ในพื้นที่เขตปทุมวัน บางรัก สาทร อโศก วัฒนา คลองเตย พระราม 9 และห้วยขวาง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณถนนรัชดาภิเษกฝั่งตะวันออกทั้งหมด
ศูนย์กลางพาณิชยกรรมรอง Sub CBD การพัฒนาระบบขนส่งทางรางทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะส่งผลให้เกิดการพัฒนารอบจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรตามหลักการของ TOD (Transit-Oriented Development) โดยได้กำหนดพื้นที่รองรับการพัฒนาโดยรอบศูนย์คมนาคมที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ศูนย์คมนาคมมักกะสัน และศูนย์คมนาคมวงเวียนใหญ่ รองรับการเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง ให้เป็นศูนย์กลางการค้าและบริการระดับนานาชาติและการท่องเที่ยวระดับโลก
นอกจากนี้ยังได้กำหนด เมืองศูนย์กลางชานเมืองในพื้นที่บริเวณจุดตัดระบบขนส่งมวลชนทางรางกับถนนสายหลักของภาคมหานครในบริเวณชานเมือง และจังหวัดปริมณฑล จะเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมที่อยู่อาศัยและแหล่งงานเพื่อรองรับและให้บริการประชาชน ได้แก่ บางแค สมุทรปราการ และมีนบุรี สุวรรณภูมิ รังสิต บางใหญ่
รวมถึงการกำหนดเมืองบริวารหลักรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการให้บริการสาธารณะของพื้นที่ปริมณฑลประกอบด้วยเมืองหลัก 9 ได้แก่ นครปฐม คลองหลวง นนทบุรี สมุทรสาคร ศาลายา ลำลูกกาบางบ่อ บางเสาธง และลาดกระบัง
ทั้งนี้ การปรับปรุงผังเมืองรวมในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพให้เมืองเติบโตในแนวดิ่ง เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของเมือง พัฒนาพื้นที่รอบจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ กระจายกิจกรรมการค้าการบริการ และแหล่งงานออกไปสู่พื้นที่ชานเมืองและปริมณฑล เพื่อรองรับการพัฒนาชุมชนเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรในอนาคต
เมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสร้างเสร็จเป็นวงแหวนที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายต่างๆ ระบบโครงข่ายคมนาคมทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเริ่มสมบูรณ์ และได้ปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม ทำให้ทางเลือกในการอยู่อาศัยของผู้บริโภคก็จะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งที่ต้องคอยเฝ้าระวังคือ ราคาที่ดินที่จะปรับขึ้นตามแนวรถไฟฟ้า จะส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยในอนาคตด้วยเช่นกัน