fbpx
1 e1586580364273

เตรียมรับมือ กู้เงิน-ผ่อนบ้าน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ต่อปี จากการประชุมนัดที่ 3 ของปี 2565 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา แต่ก็ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อๆ ไป

คณะกรรมการประเมินว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป”

จากสัญญาณที่กนง.ส่งมาสรุปได้อย่างเดียวว่า ถึงเวลานับถอยหลังสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในอีกไม่นานเกินรอ ซึ่งนักวิเคราะห์บางสำนักประเมินว่า กนง.อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จากการประชุม 3 ครั้งที่เหลือในเดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน รวม 0.75% ทำให้เราอาจจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับจาก 0.5% เป็น 1.25% ภายในปีนี้เลยทีเดียว

ขณะที่กูรูในตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ไว้ต่ำกว่าเล็กน้อย โดยมองว่า กนง.อาจจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีก 0.25-0.5% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับมาอยู่ที่ร้อยละ 0.75-1%

เอาเป็นว่า ดอกเบี้ยถึงเวลาที่จะต้องปรับขึ้น แต่จะขึ้นมากหรือน้อยก็อยู่กับสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้เลย จะทำได้ก็เพียงตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกันจะดีกว่า

ในทางทฤษฎีที่ได้คิดคำนวณกันไว้ การขึ้นดอกเบี้ยทุกๆ 1% จะส่งผลต่อการผ่อนบ้านอยู่ที่ประมาณ 8% ถ้าดอกเบี้ยมีโอกาสปรับขึ้น 0.50-0.75% ก็จะต้องผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น 4-6% ซึ่งจะกระทบทั้งคนที่กำลังจะกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม ก็จะกู้ได้ยากขึ้นหรือได้วงเงินกู้น้อยลง

ส่วนคนที่ผ่อนบ้านอยู่ก็จะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่นถ้าผ่อนบ้านอยู่เดือนละ 10,000 บาท ถ้าดอกเบี้ยขึ้น 0.50-0.75% ก็จะต้องผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น 4-6% ก็จะต้องผ่อนเพิ่มเป็น 10,400-10,600 บาท หรือถ้าผ่อนอยู่เดือนละ 20,000 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 20,800-21,200 บาท เป็นต้น

แม้ค่าผ่อนบ้านจะปรับขึ้น 4-6% ในปีนี้ แต่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นค่าผ่อนก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้อีกในปีต่อๆ ไป ซึ่งหลายๆ คนที่แบกภาระหนักอยู่แล้วก็อาจจะเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผ่อนต่อไม่ไหว หนทางแก้ไขคือ ต้องกล้าที่จะเดินไปขอเจรจากับแบงก์ในการขอปรับปรุงหนี้ หรือจะขอปรับดอกเบี้ยใหม่ เพื่อให้ค่างวดการผ่อนมันลดลง ที่เรียกว่าการทำ Retention

ถ้าแบงก์เดิมมีข้อเสนอที่ไม่ค่อยจะผ่อนปรน ก็ลองดูเงื่อนไขของแบงก์อื่นๆ ถ้าสามารถลดภาระการผ่อนให้กับเราได้ก็ขอทำ Refinance ซึ่งพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การยื่นกู้เงินกับแบงก์ใหม่ที่มีเงื่อนไขที่กว่าแล้วเอาเงินที่กู้ได้มาโปะหนี้กับแบงก์เดิม

แต่การจะ Refinance ได้ ก็ต้องดูด้วยว่า 1.ระยะเวลาผ่อนกับแบงก์เดิมเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผ่อนอย่างน้อย 3 ปีถึงจะย้ายแบงก์ได้ และ 2.เรายังมีสุขภาพการเงินที่ดีพอในการขอสินเชื่อกับแบงก์ใหม่ เช่น เงินเดือนไม่ได้ถูกลดลง การงานอาชีพยังมั่นคง ไม่มีหนี้ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งก็ต้องปรึกษาหารือกับแบงก์ใหม่ว่าเราสามารถได้แค่ไหน

เช่นเดียวกับคนที่กำลังจะกู้ซื้อบ้านในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะทำให้เรากู้ได้ยากขึ้น ได้วงเงินที่ลดน้อยลง ก่อนที่จะตัดสินใจเซ็นสัญญาจองซื้อบ้านกับโครงการไหน อยากให้แวะไปคุยกับแบงก์ก่อนว่า เราสามารถกู้เงินได้มากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยกำลังขึ้น ถ้ากู้ได้น้อยลงก็อาจจะต้องหาผู้กู้ร่วม หรืออาจจะต้องผ่อนดาวน์กับโครงการไปก่อน

ที่สำคัญดอกเบี้ยควรจะเลือกเป็นดอกเบี้ยคงที่ระยะ 1-2 ปี เพื่อให้เราผ่อนบ้านได้แบบไม่ต้องกังวลกับดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นในช่วงเวลานับจากนี้ครับ