งานหาย รายได้ลด ในช่วงที่เราต้องเผชิญกับวิกฤติจากโรคร้ายโควิด-19 เชื่อว่าหลายคนคงจะประสบปัญหาแบบนี้ ส่งผลให้การเงินเกิดปัญหาสภาพคล่องชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีสตางค์ไปจ่ายหนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้บัตรเครดิต แล้วจะทำอย่างไรดี เรามีทางออกให้ครับ
ก่อนอื่นเราต้องตั้งสติด้วย 3 คำนี้ก่อนครับ ก็คือ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอาย ไม่ต้องบ่ายเบี่ยง เมื่อเรามีปัญหาก็ควรจะเข้าไปปรึกษากับแบงก์ที่เป็นเจ้าหนี้เราโดยตรง เพราะการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมากับเจ้าหนี้ แสดงว่าเราต้องการจะรักษาทรัพย์สินของเราไว้ เชื่อว่าเจ้าหนี้ก็พร้อมจะร่วมหาทางออกออกให้ครับ
แต่ก่อนที่เราจะไปคุยกับแบงก์ เราก็ต้องรู้กันซะก่อนว่า เราสามารถจะขอเจรจาแก้ปัญหาหนี้ในแบบไหนได้บ้างครับ ซึ่งข้อมูลล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้วางแนวทางให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจไว้ดังนี้ครับ
เริ่มกันที่สินเชื่อบ้านก่อนครับ เราสามารถขอให้เจ้าหนี้บรรเทาภาระหนี้ได้โดยการขอลดค่างวด หรือพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนหรือพักเงินต้นและขอลดอัตราดอกเบี้ย หรือพักชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปก่อน
หลังจากลดค่างวดหรือพักชำระหนี้ตามกำหนดแล้ว ค่อยทยอยชำระหนี้คืนเป็นขั้นบันไดตามความสามารถของลูกหนี้
ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลสามารถขอเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาว หรือขอลดค่างวดในการผ่อนชำระ และในกรณีที่ขยายระยะเวลาเกินกว่า 48 งวด ให้สถาบันการเงินทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด หรือจะใช้วิธีรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่นก็ได้ครับ
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สามารถขอลดค่างวดหรือขยายเวลาผ่อนชำระได้
ในกรณีที่ลูกหนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงมี 2 ทางเลือก คือขอพักชำระค่างวดโดยยกเว้นดอกเบี้ยในช่วงที่ขอพัก หรือขอคืนรถในกรณีที่เราไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ และหากราคาขายประมูลได้จริงต่ำกว่าภาระหนี้ตามสัญญา สถาบันการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับฐานะของลูกหนี้ หรือจะใช้วิธีรวมหนี้เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
หรือหากเราใช้วิธีชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปิดบัญชี ให้ลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 50% ตามข้อกำหนดของสคบ.
สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินได้จนถึงถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แต่ที่สำคัญเราจะต้องมีหลักฐานไปยืนยันว่า เราได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จริงจนทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ช่วยบรรเทาหนี้ตามแนวทางที่กล่าวมาครับ
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมกับ กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย จัดตั้ง “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้
การให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนปรับปรุงกิจการ การแบ่งปันประสบการณ์การปรับตัวและปรับธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนการจัดบรรยายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่ตรงจุดตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม รวมทั้งการเผยแพร่คลิปและสื่อการสอนต่าง ๆ เพื่อให้นำไปศึกษาเพิ่มเติม สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.bot.or.th/app/doctordebt/