fbpx
2292

ผ่อนไหวมั๊ย! วิกฤติแค่ไหน ถึงต้องเลือกใช้การประนอมหนี้

ช่วงนี้หลายคนเริ่มประสบปัญหาเดียวกันคือ “เงินขาดมือ” รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ขณะที่เจ้าหนี้ (ในระบบ) ทุกรายล้วนแต่ออกมาตรการประนอมหนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกหนี้อย่างเราๆ

เข้าร่วมดีมั๊ย ระยะยาวจะเป็นอย่างไร ก่อนจะตัดสินใจคงต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า “ประนอมหนี้” คืออะไร

การประนอมหนี้เป็นการขอเจรจาข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับเจ้าหนี้ เช่น ลดหย่อน ผ่อนผัน และ/หรือปรับเปลี่ยนข้อตกลง เพื่อช่วยชะลอหรือหยุดการดำเนินการจากเจ้าหนี้อันเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้ เช่น ฟ้องร้องและยึดทรัพย์สิน และช่วยลดภาระในการชำระหนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกหนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่สามารถกลับมาชำระได้ปกติ โดยมีรูปแบบการประนอมหนี้ที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้

ขอลดอัตราดอกเบี้ย
เหมาะกับผู้กู้ที่มีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุให้รายได้ลดลงหรือเท่าเดิมแต่รายจ่ายสูงขึ้น และเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อแรกกู้ หรือในกรณีที่ธนาคารอาจให้ชำระเป็นเงินก้อนซึ่งสูงกว่าค่าผ่อนต่อเดือน หรือให้ชำระหนี้ทั้งหมดภายในครั้งเดียว ซึ่งการขอลดอัตราดอกเบี้ยนั้นผู้กู้ต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี และประเมินสถานะทางการเงินของตนแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้สูงเพียงพอสำหรับกรณีที่ต้องชำระเงินก้อนตามเงื่อนไขใหม่ของธนาคาร

ขอผ่อนชำระต่ำกว่าปกติ
กรณีที่ผู้กู้มีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่ขาดสภาพคล่องจากปัจจัยอื่นๆ จะสามารถเลือกใช้วิธีนี้ได้เมื่อจำนวนยอดชำระต่อเดือนนั้นสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท โดยระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ต่ำกว่าปกตินั้นต้องไม่เกิน 2 ปี อย่างไรก็ดี ผู้กู้จะต้องมีประวัติการผ่อนชำระดี และไม่ลืมจัดการกับรายจ่ายที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่อนบ้านในจำนวนเดิมให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากการขอประนอมหนี้แบบนี้ทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ขอขยายเวลาชำระหนี้
วิธีนี้ช่วยให้ค่าผ่อนต่อเดือนลดลงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่งสำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ประจำลดลง อย่างไรก็ดี การขอขยายเวลากู้สามารถทำได้จนอายุผู้กู้ไม่เกิน 70 ปีเท่านั้น จึงเหมาะกับผู้กู้ที่อายุน้อยหรือมีเวลาอีกหลายปี และสัญญาเงินกู้ปัจจุบันจะต้องมีระยะเวลากู้ไม่ถึง 30 ปีด้วย

ขอผ่อนผันการค้างชำระ
เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ไขปัญหาฉุกเฉินทางการเงินได้ดีไม่น้อย เนื่องจากช่วยให้ผู้กู้สามารถจัดการปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน หลังจากนั้นจึงค่อยชำระเงินที่ค้างไว้ตามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยประเมินจากสภาพคล่องทางการเงินและความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้มั่นคงในอนาคต ได้แก่ การขอชำระเป็นเงินก้อนเล็กทุกเดือน การขอชำระเป็นเงินก้อนโดยแบ่งเป็นงวด ๆ หรือการขอชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่ง

ขอโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและจะซื้อคืน
รูปแบบนี้จะคล้ายกับการขายฝากแล้วเช่าบ้านตัวเองอยู่ โดยค่าเช่าหลักทรัพย์คิดอยู่ที่ 0.4-0.6% ของมูลค่าหลักทรัพย์ และมักทำสัญญาเช่าเป็นรายปี โดยมีเงื่อนไขว่าหากจำนวนหนี้สูงกว่าราคาประเมินของหลักทรัพย์ ผู้กู้จำเป็นต้องชำระส่วนต่างภายในวันโอน วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้กู้ที่ขาดรายได้และไม่น่าจะกลับมามีรายได้ภายใน 1 ปี หรือมีรายได้ประจำไม่คงที่แต่มีรายจ่ายสูงต่อเนื่องนานเกิน 1 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้กู้ต้องอย่าลืมว่าหากเลือกวิธีนี้แล้วต้องมีเงินมากพอที่จะชำระส่วนต่างระหว่างหนี้และราคาประเมินหลักทรัพย์ และมีกำลังเพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าต่อเดือนแก่ธนาคารได้ด้วย

รีเทนชัน ทางเลือกน่าสนใจสำหรับผู้กู้ที่ผ่อนไหว
อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้กู้พิจารณาเลือกใช้วิธีประนอมหนี้ธนาคารที่คิดว่าน่าจะสามารถทำได้จริงและเหมาะสมกับสถานการณ์การเงินของตน ยิ่งเริ่มการประนอมหนี้ได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้เอง ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาบานปลายจนธนาคารยื่นฟ้องร้องได้

สำหรับผู้กู้ที่ประเมินตนเองแล้วคิดว่ายังพอมีกำลังในการผ่อนชำระรายเดือน การรีเทนชัน หรือ Retention เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ซึ่งการรีเทนชั่น มีหลักการเหมือนกับการรีไฟแนนซ์ แต่เป็นการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิม โดยจุดเด่นของการรีเทนชันคือ ผู้กู้ดำเนินธุรกรรมกับธนาคารเดิม ดังนั้นจึงไม่ต้องมีภาระในการจัดเตรียมเอกสารใหม่ เพราะทางธนาคารมีเอกสารและข้อมูลของผู้กู้อยู่แล้ว ทำให้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติไม่นานก็ทราบผล ธนาคารบางแห่งใช้เวลาพิจารณาแค่ 7 วันทำการเท่านั้น

นอกจากนี้ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากนัก ธนาคารบางแห่งอาจคิดเพียงค่าธรรมเนียมสินเชื่อ 1% ของวงเงินกู้เท่านั้น เมื่อเทียบกับอัตราค่าดำเนินการเพื่อทำรีไฟแนนซ์ ถือว่ารีเทนชันมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก แต่อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าการรีไฟแนนซ์ ช่วงเวลานี้ ลดความเสี่ยงได้ ประหยัดได้ ก็ทำไปเลยครับ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก DDproperty