เมื่อเริ่มชีวิตการทำงานมาสักระยะ พอที่จะได้โบนัส และได้ขึ้นเงินเดือน เราเริ่มคิดถึงการมีพื้นที่ส่วนตัว และเริ่มมองหาบ้านหลังแรกสำหรับตัวเอง และยิ่งมีข่าวดีสำหรับผู้กำลังจะซื้อบ้านหลังแรก ที่ล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก โดยให้นำเงินจากการซื้อบ้านมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท และต้องซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นี้ (อ่านลดหย่อนภาษีซื้อบ้าน)
เร่งรีบแบบนี้ ก็ควรจะมีเคล็ดลับดีๆ ไว้เพื่อตรวจเช็คให้มั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อ
เช็คความต้องการด้านการอยู่อาศัย
ลำดับแรกต้องรู้วัตถุประสงค์ในการซื้อว่าเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงๆ หรือซื้อเพื่อปล่อยให้เช่าสร้างรายได้ หากซื้อเพื่ออยู่เองต้องดูด้วยว่าเราต้องอยู่กับใครบ้างมีจำนวนกี่คน อยู่เฉพาะในวันทำงาน หรืออยู่ยาวเป็นบ้านหลังแรกของครอบครัว ซึ่งการทราบวัตถุประสงค์นี้จะนำไปสู่การกำหนดประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่จะซื้อให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับครอบครัว
เช่น หากอยู่อาศัยคนเดียวอาจเลือกคอนโดมิเนียม หรือหากอยู่เป็นครอบครัวอาจจะต้องขยายเป็นบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ และหากต้องการพื้นที่ที่สามารถใช้เป็น Home Office หรือการค้าได้ก็ต้องเลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสม และที่สำคัญยังต้องกำหนดรูปแบบที่ต้องการซื้อไว้อย่างขัดเจน เช่น เป็นการซื้อโครงการใหม่ หรือโครงการมือสอง ซึ่งรูปแบบที่ต้องการซื้อนี้ก็จะสอดคล้องกับรายได้ และงบประมาณที่ต้องเตรียมตัว รวมถึงสัมพันธ์กับการติดต่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินรวมถึงการวางแผนการผ่อนอีกด้วย
เช็คความสามารถทางการเงิน
หากการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก เป็นการซื้อด้วยการกู้เงินจากสถาบันการเงินจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาประกอบด้วยว่า ผู้กู้เป็นผู้มีรายได้ที่แน่นอนหรือไม่ กรณีที่เป็นพนักงานประจำต้องมีรายได้อย่างน้อยๆ 20,000 บาทต่อเดือน ถึงจะพอหาซื้อที่อยู่อาศัยในราคา 1 ล้านบาทได้ ถ้าต้องการบ้านที่ราคาสูงกว่านั้น ก็ต้องออมเงินเพิ่ม หรือหาผู้กู้ร่วมมาช่วยผ่อนครับ กรณีเป็นเจ้าของกิจการหรือฟรีแลนซ์ก็ต้องมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเรามีรายได้จากทางไหนบ้าง จึงควรเปิดบัญชีธนาคารเอาไว้ เพื่อเอาเงินที่เป็นรายได้เข้า ซึ่งจะใช้เป็นหลักฐานสำคัญให้ธนาคารพิจารณาตอนขอสินเชื่อ สำหรับผู้กู้จะต้องมีอายุระหว่าง 20 ถึง 70 ปี และต้องไม่มีประวัติการเป็นหนี้เสีย หรือมีหนี้ค้างมาก่อน เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้จากศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
ที่สำคัญควรคำนวณค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ นอกเหนือจากงบประมาณในการซื้อบ้านหรือคอนโดฯไว้ด้วย เช่น งบค่าตกแต่งภายในบ้านโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 20-35% ของราคาบ้าน ค่าติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในบ้าน เช่น ปั๊มน้ำ แท็งก์น้ำ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ค่าจัดสวน หรือต่อเติมต่างๆ เช่น มุ้งลวด เหล็กดัด กันสาด นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมการโอน 2% (แบ่งกันจ่ายกับโครงการคนละ 1% ของราคาประเมิน) และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1% ของวงเงินสินเชื่อ (ในกรณีที่ขอสินเชื่อกับธนาคาร) ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ตัวผู้ซื้อนั้นจำเป็นต้องสำรองเงินสด สำหรับใช้จ่ายเมื่อการรับโอนบ้านเรียบร้อย
เช็คข้อมูลโครงการ
หลังจากที่ชัดเจนในเรื่องประเภทบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ต้องการซื้อ คราวนี้ต้องลงลึกในรายละเอียด ในเรื่องของทำเลที่ตั้ง ระดับราคาที่สามารถซื้อได้ แบบบ้านอย่างไรที่เหมาะสมกับเรา บริษัทที่เราจะซื้อมีความมั่นคงน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ผลงานที่ผ่านมาเป้นอย่างไร
เช็คสถานที่อำนวยความสะดวกที่จำเป็น
สถานที่สำคัญหลักๆ ที่ต้องครวจเช็คดูว่าชุมขนนั้นๆ เหมาะกับการอยู่อาศัยบหรือไม่ เช่น มีโรงพยาบาลใกล้ๆ หรือเปล่า ห้างสรรพสินค้า หรือโรงเรียนอยู่ในบริเวณนั้นหรือเปล่า ฯลฯ และประการสำคัญต้องดูความสะดวกในการเดินทางควบคู่ไปด้วย
เช็คเส้นทางการเดินทาง
ข้อมูลดังกล่าวนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่สำคัญ เช่น ข้อมูลการเดินรถสาธารณะ เส้นทางรถโดยสารสาธารณะ จำนวนสายเดินรถ ช่วงเวลาการให้บริการ ปริมาณการจราจร จุดที่มีปัญหา และเส้นทางลัด เป็นต้น
เช็คข้อมูลทางราชการ
ประเด็นนี้สำคัญมาก ตัวอย่างข้อมูลทางราชการที่สำคัญเช่น แนวเวนคืน โครงข่ายสาธารณูปโภค-สาธารณูปการที่มีอยู่หรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การก่อสร้างทางด่วน หรือการตัดถนน เป็นต้น ข้อมูลบางอย่างนี้ถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่อาศัย ใบอนุญาตต่างๆ ที่โครงการจะต้องมี เช่น ใบอนุญาตก่อสร้าง ใบอนุญาตทำการจัดสรรที่ดิน เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ โครงการจะต้องผ่านการทำการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า EIA ถ้าเช็คครบแล้ว วางเงินจองได้เลยครับ