fbpx
1 e1586580364273

แบงก์ชาติยัน LTV ไม่กระทบอสังหาฯ สินเชื่อใหม่ยังโต 4.4%

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์แล้วเห็นว่าหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ loan-to-value ratio (LTV) ซึ่งได้ปรับเกณฑ์ผ่อนคลายไปแล้ว 2 ครั้ง ยังมีความจำเป็นและเหมาะสม โดยประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงยังสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยเฉพาะบ้านหลังแรก อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์

นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ธปท. ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ออกมาตรการ LTV เมื่อเดือนเมษายน 2562 และพร้อมปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV แล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ การผ่อนปรนเกณฑ์สำหรับผู้กู้ร่วม และการซื้อบ้านหลังแรกราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทสามารถกู้ได้เท่ากับราคาบ้านและยังสามารถกู้เพิ่มได้อีกร้อยละ 10 เพื่อใช้เป็นค่าตกแต่ง หรือซ่อมแซม ส่วนบ้านหลังที่สองก็กู้ได้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ ธปท. ที่ส่งเสริมให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

จากข้อมูลของ ธปท. พบว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2 ปีนี้ ยังขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 สูงกว่าไตรมาสก่อน แม้จะอยู่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการซื้อบ้านหลังแรก สะท้อนว่า มาตรการ LTV ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ซื้อบ้านและสถาบันการเงินยังมีการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมหากผู้กู้มีความสามารถในการผ่อนชำระ

รวมทั้ง มาตรการ LTV ยังช่วยรองรับผลกระทบของโควิด 19 ที่มีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากช่วยชะลอความต้องการเทียมและปริมาณที่อยู่อาศัยส่วนเกินก่อนเหตุการณ์ระบาดของโควิด 19 ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและไม่รู้ว่าโควิด 19 จะจบลงเมื่อใด ธปท. จะยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกหรือปรับเงื่อนไข LTV เพราะถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันการเก็งกำไรไม่ได้เกิดขึ้นในตลาดแล้ว ทำให้ธปท.ต้องออกมาชี้แจงว่า LTV ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการซื้อบ้านที่เกิดจากความต้องการจริง (real demand)

ด้านนายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทั้งหมด อาจจะเกิดจากความเข้าใจลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ถูกต้องเพราะยอดสินเชื่อที่โตขึ้นมาจาก

1. ยอดโอนคอนโดที่ขายเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมาสร้างเสร็จและโอนในปีนี้ ไม่ใช่ยอดขายใหม่ จึงไม่สะท้อนสภาพตลาดปัจจุบันที่ยอดขายและการอนุมัติสินเชื่อรายย่อย ลดลงมาก

2.ธนาคารเพิ่มยอดสินเชื่อโดยใช้วิธีแย่งลูกค้าเก่ากันเองแบบ Refinancing จึงทำให้ยอดสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นแต่ความจริงคือสินเชื่อรายเดิมแต่ย้ายธนาคาร