fbpx
L UnioTown Suk30 Gal5

การพลิกฟื้นของอสังหาฯไทย และความเคลื่อนไหวของ ‘อนันดา’

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายไปมาก แต่เชื่อว่าในภาคธุรกิจก็ยังไม่มั่นใจนักว่า วิฤติรอบนี้จะเดินมาสุดปลายทางหรือยัง ซึ่งในงานแถลงข่าวทิศทางธุรกิจของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี หนึ่งในกูรูด้านเศรษฐกิจของไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์และยังเป็นผู้บริหารในองค์กรรัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ได้ให้มุมมอง และทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า

“วิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ถือว่าใหญ่หลวงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ประเด็นที่สำคัญของวิกฤติครั้งนี้คือ มันไปหยุดการเคลื่อยย้าย การเดินทางของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด เมื่อต้องหยุดการทำงาน หยุดการค้า ก็เท่ากับหยุดรายได้ ซึ่งประเทศเราเดือดร้อนมาก เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่เปิดเชื่อมโยงกับนานาชาติทั้งเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยว

ไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
เมื่อบริหารวิกฤติทางสุขภาพได้ระดับหนึ่งก็ต้องไปบริหารทางด้านวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องประคองตัวไม่ให้ธุรกิจต้องล้มหายตายจากไป ขณะที่การเงินของโลกก็เพิ่มปริมาณขึ้นมากทำให้ช่วยได้มากทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ตลาดเงิน ตลาดทุนจึงไม่ถึงกับล้มสลายก็เหมือนมีออกซิเจนหล่อเลี้ยง ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือทางด้านการคลังที่ไปช่วยเหลือประชาชนทั้งในไทยและทุกแห่งในโลกก็ได้ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่คล้ายๆ กันหมด

เมื่ออัตรการตายจากโรคนี้ของทั่วโลกเริ่มลดลง ความมั่นใจก็เริ่มเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่ 3 จึงเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นมานิดๆ หน่อยๆ ส่วนบางประเทศก็อาจฟื้นได้มากหน่อยอย่างเช่น จีน แต่เชื่อว่า เราได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้วคือในไตรมาสที่ 2 และกำลังเริ่มปรับตัวในไตรมาส 3 พอถึงไตรมาส 4 คงจะเห็นภาพที่ดีขึ้นมาก แต่จะเห็นการกลับมาเดินทางของผู้คนคงต้องเป็นปีหน้า”

สำหรับประเทศไทยถ้าการเดินทางของผู้คนยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ การฟื้นตัวของเราซึ่งขณะนี้ถือว่าฟื้นตัวได้ดีพอสมควร เพราะโชคดีที่เรามีสถานะการเงินที่เข้มแข็ง หลายคนคงไม่ทราบว่าประเทศเรามีเงินออมอยู่มาก แต่ไม่ได้ใช้จ่ายน่าจะเกิน 3 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีโอกาสในการออกพันธบัตรเอาเงินไปใช้ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ใช้เงินได้แม่นแค่ไหน ใช้ได้ถูกเป้าหรือไม่ ใช้ได้ตรงกับที่ธุรกิจควรจะใช้ ควรจะฟื้นตัวอย่างไร ประชาชนควรจะมีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างไร ไม่ใช่เอาไปแจกทั่วๆ ไป เงินก็หายหมด

“ถ้าโครงการของรัฐบาลที่ทำอยู่นี้สามารถทำให้เกิดารจ้างงาน ซึ่งแปลว่า เข้าไปช่วยประชาชนเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน เป็นธุรกิจ ช่วยให้ประชาชนมีอาชีพ มีการจ้างงาน ผมว่าในไตรมาส 3 เราจะดีขึ้นมากซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้ว และการใช้เงินเหล่านี้จะไปปรากฏในไตรมาส 4 สรุปก็คือว่า สถานการณ์ของเราเริ่มดี แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องใช้เงินที่มีอยู่ให้เป็น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเราในขณะนี้ เป็นการฟื้นภายในประเทศแต่ก็ยังไม่มากพอ จนกระทั่งนานาชาติเริ่มฟื้น เริ่มมีการเดินทางของคนซึ่งจะต้องเป็นปีหน้า”

วิกฤติครั้งนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ดร.ณรงค์ชัย มองว่า ปกติพฤติกรรมของมนุษย์จะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี่อยู่แล้ว แต่วิกฤติจากโควิดทำให้เปลี่ยนเร็วขึ้น ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ว่าธุรกิจอะไรก็จะต้องคิดวิธีการทำงานใหม่ มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนหลักสูตรให้คนทำงานในรูปแบบใหม่ เป็นหลักสูตรสั้นๆ รองรับคนที่จะเปลี่ยนงาน และว่างงาน ซึ่งโควิด-19 จะทำให้คนเปลี่ยนงาน และว่างงานมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันจะเปิดโอกาสให้คนไปสร้างงานเอง ซึ่งจะปรากฏชัดมากในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม วิกฤติอาจจะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นสะดุด แต่ก็ไม่ได้หยุดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากก็คือ urbanization ซึ่งก็คือสังคมเมือง และคนมีความจำเป็นจะต้องหาที่อยู่อาศัยในเมืองที่สะดวก ซึ่งอนันดาได้เข้ามาตรงนี้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นมันก็สะดุด และก็จะกลับมาในเทรนด์เดิม จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับดีมานด์ว่าจะกลับมาได้แข็งแรงแค่ไหน ถ้ารัฐบาลสามารถสร้างงาน สร้างรายได้มันก็จะกลับมาเร็วขึ้น

พันธมิตรญี่ปุ่นมั่นใจไทยยังแข็งแกร่ง
ในภาวะที่โลกกำลังปั่นป่วนทุกๆ ประเทศประสบปัญหาเหมือนๆ กันหมด จึงมีคำถามว่า ธุรกิจอสังหาฯไทยกับพันธมิตรต่างชาติจะยังคงเดินไปด้วยกันหรือไม่ภายใต้สถานการณ์นี้ มิตซุย ฟูโดซัง หนึ่งในกลุ่มทุนใหญ่จากญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยกับอนันดาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มองภาวะการลงทุนในไทยเป็นอย่างไร

เรื่องนี้นายอะกิฮิโกะ ฟูนาโอกะ Executive Managing Officer Deputy Chief Operating Officer International Division บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ได้เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากกับธุรกิจของบริษัท ที่ญี่ปุ่นได้ปิดสำนักงานขาย ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมเป็นเวลา 2 เดือน แต่ขณะนี้ได้กลับมาเปิดอีกครั้ง ธุรกิจหรือยอดขายของเราอยู่ที่ประมาณ 85-90% ของปีที่ผ่านมา แต่ในส่วนของโรงแรม คงต้องรอการกลับมาของลูกค้าต่างประเทศซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะ

หากจะพูดถึงธุรกิจทั่วโลก ในจีนและไต้หวันจำนวนคนและยอดขายกำลังกลับมาเกือบจะเท่ากับรายได้ของปีที่แล้ว และบริษัทเพิ่งปิดการขายคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ในมาเลเซียไป นอกจากนี้ ยังเริ่มเปิดเอาต์เล็ตอีกครั้ง ซึ่งมีตัวเลขกลับมาประมาณ 85% ของปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถมองโลกในแง่ดีได้ และควรที่จะระวัง

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมั่นว่า ความต้องการด้านอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศแถบเอเชียยังคงมั่นคงและแข็งแกร่ง สำหรับประเทศไทย เรามองว่ามีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางของอาเซียน การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่งและฟื้นตัวได้เร็ว พื้นฐานเหล่านี้ของไทยยังคงเดิมและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวหลังจากผ่านเวลานี้ไป

“เราจะยังคงลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทอนันดา เป็นผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านและคอนโดมิเนียม ที่มีชื่อเสียงทั้งด้านการออกแบบและคุณภาพ และกรุงเทพฯยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระบบขนส่งมวลชน รวมถึงมีการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของประชากร”

นายฟูนาโอกะ กล่าวอีกว่า สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคน ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต เราได้เห็นการทำงานทางไกล และการเติบโตอย่างมากของอีคอมเมิร์ช ซึ่งเดิมได้คาดการณ์ว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ทว่าตอนนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อนำความท้าทายนี้มาเป็นโอกาสในการเติบโต มิตซุย ฟูโดซัง ได้เร่งสร้างพื้นที่สำนักงานใหม่ๆ ที่จะทำให้คนทำงานสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ในการสร้างพื้นที่พักอาศัยใหม่ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ เรากำลังเพิ่มมูลค่าให้กับห้างสรรสินค้า เพื่อให้เป็นสถานที่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

“อนันดาและมิตซุย มีจุดแข็งร่วมกันในการรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และมั่นใจว่าจะแข่งขันในตลาดหลังยุคโควิด-19 ได้”

 

อนันดาชี้คอนโดแนวรถไฟฟ้ายังโต
ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง พันธมิตรทางธุรกิจของได้เริ่มพัฒนาโครงการภายใต้การร่วมทุนมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการพัฒนาโครงการไปทั้งหมด 29 โครงการ จำนวน 23,000 ยูนิต มูลค่า 87,921 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ามิตซุย ฟูโดซัง เชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บนทำเลเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการร่วมทุนเปิดตัวโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการร่วมทุนที่ผ่านมาทำให้การขับเคลื่อนด้านกลยุทธ์ของบริษัทมีศักยภาพและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

สำหรับบริษัทอนันดา ยังคงการดำเนินงานท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ภายใต้แนวคิด “Change The Plan Never The Goal” ยึดมั่นในเป้าหมาย ยืดหยุ่นในวิธีการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและความต้องการของลูกค้า ซึ่งอนันดายังคงให้ความสำคัญและเชื่อมั่นในกลยุทธ์การพัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่บริษัทริเริ่มเป็นเจ้าแรกและดำเนินการมาโดยตลอด

นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญในการดำเนินงาน เพื่อผลักดันให้บริษัทขับเคลื่อนในสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นในเรื่องของการวางกลยุทธ์และแนวทางการสื่อสารแบรนด์ขององค์กร โดยยังคงแนวคิดในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมือง และตอบทุกความต้องการในการใช้ชีวิต โดยเน้นทำเลที่ตั้งที่สะดวกในการเดินทาง การทำงาน และ Lifestyle ของคนเมืองเพื่อตอกย้ำแนวคิด “URBAN LIVING SOLUTIONS” ครบทุกโหมดในการใช้ชีวิต ทั้ง LIVE – WORK – PLAY ให้คนเมืองใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจากสงครามการค้าและในปีนี้เราเจอโควิด ซึ่งอนันดาก็ปรับตัวเองพอสมควร ในไตรมาส 2 มีการล็อคดาวน์ ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่มีคนมาซื้ออสังหาฯ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ บริษัทก็ทำได้เกินเป้าอยู่พอสมควร”

พร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงใหม่
ในช่วงที่ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคหันไปซื้อบ้านมากกว่าคอนโด โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบกำลังไปได้ดี ขณะที่คอนโดยังชะลอตัวอยู่ แต่ก็เป็นแค่ระยะสั้น และเริ่มเห็นการฟื้นตัวของคอนโดบ้างแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องระวังในการลงทุน เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจ ถ้าธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วน 20% ของจีดีพี หยุดยาวเกินไปเราก็ไม่รู้ว่าจะโตอย่างไรต่อ

นายชานนท์ เชื่อมั่นว่า ในธุรกิจอสังหาฯ ยังคงมีดีมานด์ ส่วนซัพพลายทางฝั่งดีเวลลอปเปอร์ก็ไม่อยากจะเปิดโครงการใหม่มากเกินไป อาจจะเปิดเมื่อของหมดแล้วมีความจำเป็นก็ต้องเปิด สำหรับอนันดา มี 5 โครงการที่จะโอนอยู่ 2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3 เราก็ไม่จำเป็นต้องเปิดโครงการใหม่

เรื่องของ new normal ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เหตุการณ์หลายๆ อย่างกำลังผลัดใบ ยิ่งโดยเฉพะคนรุ่นใหม่ gen y gen z ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเราอยู่แล้ว เราพยายามสร้างให้คนรุ่นใหม่ทำงานและใช้ชีวิตให้คุ้มมากขึ้น ให้เร็วมากขึ้น เราเอาเวลามาทำทุกอย่างให้คุ้มขึ้น ใช้จ่ายให้คุ้มขึ้น สิ่งที่เราดูมาทั้งหมดมันไม่ได้แตกต่างจากช่วงก่อนโควิด แต่โควิดทำให้ทุกสิ่งที่มองไว้เกิดเร็วขึ้น แต่ก็ไม่อยากให้มองว่า จะเปลี่ยนไปทั้งหมด ผมว่าไม่ใช่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างออนไลน์ กับออฟไลน์จะลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งจะต้อง remapping consumer experience กันใหม่”

ขณะที่การพัฒนาคอนโดมิเนียมในอนาคตจะเปลี่ยนไป เรื่องของ third place ในพื้นที่ส่วนกลาง ลูกค้าในกลุ่ม gen y gen z ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ในพื้นที่ส่วนกลางของคอนโด ต้องรองรับการเป็น third place แต่ก็ต้องมีเรื่องของ social distancing ไปพร้อมๆ กัน ส่วนพื้นที่ภายในห้อง ต้องดูว่าเราจะเก็บเสียงอย่างไร ถ้าเราขายในกลุ่มของ gen y gen z สำหรับห้องที่ไม่ใหญ่มาก ราคาย่อมเยา จะทำอย่างไรให้มีเฟอร์นิเจอร์ที่ work from home ได้ หรืออาจจะใช้พื้นที่ส่วนกลางในการจัดประชุมกับทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำกันกันมาตลอด เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของเราภายใต้แนวคิด “URBAN LIVING SOLUTIONS”