fbpx
1 63 1 e1641356181751

อสังหาฯยังซมพิษโควิด DDproperty เผย 75% ยังชะลอการตัดสินใจซื้อ

DDproperty เผยผลสำรวจ Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ชี้วิกฤติไวรัสโควิด-19 ฉุดรายได้ กำลังซื้อเปราะบาง แต่ยังเห็นความต้องการอสังหาฯ ที่ฟังก์ชันครบ โปรโมชั่นดี ข้อเสนอโดนจากโครงการ ส่วนอสังหาฯที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการอยู่อาศัย-ทำงาน ลูกค้าพร้อมเซย์กู๊ดบาย

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า จากผลสำรวจ Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด เห็นได้ชัดว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลอย่างมากถต่อการตัดสินใจที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค โดยพบว่า ผู้บริโภคถึง 75% ชะลอการซื้อ-ขายอสังหาฯออกไป ส่วนอีก 32% มองว่าราคาที่อยู่อาศัยไม่แน่นอน 31% เชื่อว่าการขอสินเชื่อบ้านยากขึ้นหรือใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ 24% หันไปให้ความสนใจกับที่อยู่อาศัยที่เสริมเรื่องสุขภาพและความสะอาด และ 20% ให้ความเห็นว่าเข้าไปดูโครงการที่สนใจยากขึ้น

ทั้งนี้ปัจจัยด้านราคา รายละเอียดสินเชื่อ และทำเล ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่คนใช้พิจารณาเลือกที่อยู่อาศัย แต่จากผลสำรวจยังสะท้อนให้เห็นปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบโครงการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น โดยพบว่ามี 5 สิ่งที่ผู้บริโภคใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับ Work from Home ในอนาคต คือ

82% ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม

65% ให้ความสำคัญกับสัญญาอินเทอร์เน็ตต้องเสถียร

64% ให้ความสำคัญกับฟังก์ชันในบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวก

50% ให้ความสำคัญกับระบบระบายอากาศและความร้อน รวมถึงระบบประหยัดพลังงานอัจฉริยะ

43% ให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

แม้ว่าราคาเฉลี่ยของโครงการจะเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อบ้าน แต่หากโฟกัสไปที่แต่ละช่วงวัย พบว่า แต่ละช่วงวัยมีความต้องการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์แตกต่างกัน โดยพบว่า

  • กลุ่มวัยเริ่มต้น อายุ 22-29 ปี ให้ความสำคัญกับเรื่องขนาดของที่อยู่อาศัยถึง 51% และ 48% มองเรื่องดีไซน์/การก่อสร้างที่เข้ากับไลฟ์สไตล์
  • กลุ่มวัยทำงาน อายุ 30-49 ปี ถึง 55% ให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยมาเป็นอันดับแรก และ 46% มองเรื่องส่วนกลางภายในโครงการเป็นหลัก
  • กลุ่มวัยใกล้เกษียณ อายุ 50-59 ปี ถึง 53% ให้ความสำคัญกับส่วนกลางภายในโครงการ และ 51% เลือกที่ขนาดของที่อยู่อาศัย
  • กลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 53% มองที่ขนาดของที่อยู่อาศัยและส่วนกลางภายในโครงการ ส่วน 28% มองเรื่องดีไซน์/การก่อสร้างเข้ากับไลฟ์สไตล์เป็นหลัก

อสังหาฯไทยถึงทางตันแล้วจริงหรือ
แม้ว่าภาพรวมของผลสำรวจจะพบว่า ทุกช่วงวัยจะมีการชะลอการซื้อ-ขายอสังหาฯออกไปในช่วงโควิด-19 แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนอายุ 22-29 ปี และ 30-39 ปี ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน โดยหลีกเลี่ยงการซื้อที่อยู่อาศัยในโซนที่มีการติดเชื้อ และหากโฟกัสไปที่กลุ่มนักลงทุนแม้ว่า 3 ใน 5 ของกลุ่มนักลงทุนยังลังเลที่จะลงทุนอสังหาฯในช่วงนี้ แต่อีก 15% ของกลุ่มนักลงทุนมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนอสังหาฯ เนื่องจากหลายโครงการจัดโปรโมชั่นมากมายในช่วงนี้

จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความต้องการด้านที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ลดหายไป แต่เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศก็ค่อนข้างจะเปราะบางมาก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากภาระหนี้ของประชาชนบางกลุ่มที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2562 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 79.8% ต่อจีดีพี และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากการที่ต้องหยุดงานชั่วคราวและถูกเลิกจ้าง ทำให้รายได้ลดลง

จากปัจจัยดังกล่าวยิ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังคือ ให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับการซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อกระตุ้นให้เกิดดีมานด์และการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยจากผลการสำรวจชี้ว่า สิ่งที่ผู้บริโภคอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยคือ ลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่ม มีมากถึง 79% หากโฟกัสไปที่แต่ละช่วงวัย พบว่า กลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน อายุ 22-29 ปี ต้องการภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก

ในส่วนของกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะลงทุนอสังหาฯ เนื่องจากราคาอสังหาฯ เทขาย ที่เหมาะแก่การลงทุน แต่ยังเล็งเห็นความเสี่ยงสูงที่ผลตอบแทนจะไม่คุ้มทุน เนื่องจากปัจจัยด้านรายได้ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จึงอยากจะเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเลื่อนมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ออกไปก่อนเป็นการชั่วคราว และเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่เข้ามาลงทุน

“จากผลสำรวจจะเห็นภาพความต้องการที่อยู่อาศัยที่ยังมีอยู่แม้จะเป็นช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่รูปแบบโครงการที่ไปรอดจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้เท่านั้น นอกจากนี้การสนับสนุนของภาครัฐก็คือสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง ซึ่งการกระตุ้นภาคอสังหาฯจะยิ่งช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เพราะภาคอสังหาฯ นั้นถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศให้ไปต่อได้” นางกมลภัทร กล่าวเพิ่มเติม