fbpx
FB cover 30

ขายทิ้งที่ดิน-โรงแรมเซ่นพิษโควิด-เศรษฐกิจทรุด CEO เซ็นจูรี่ 21 ชี้ปีนี้ไม่มีดีลจบ

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเริ่มผ่อนคลาย แต่ภาคเศรษฐกิจก็ยังคงได้รับผลกระทบหนักและยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเศรษฐกิจโลกทั้งในฝั่งยุโรป อเมริกา รวมถึงเอเชีย ก็ยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องหยุดชะงักลงจนเกิดปัญหาสภาพคล่อง และหลายบริษัทเริ่มนำทรัพย์สินออกขายไม่ว่าจะเป็นที่ดิน โครงการบ้าน-คอนโดมิเนียม และโรงแรม แต่ดีลการซื้อ-ขาย อาจจะไม่ได้จบลงง่ายๆ

นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า แม้ว่าจะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ที่ดินที่ผู้ประกอบการนำออกมาเสนอขายในตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งแบบ Open และ Off-Market แต่ราคาที่บอกขายก็ยังเป็นราคาที่ผู้ประกอบการคาดหวังผลกำไรที่สูงอยู่ อย่างเช่นโรงแรมบางแห่งมีจำนวน 60-70 ห้อง ขาย 500 ล้านบาท เฉลี่ยต่อห้อง 7-8 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่สูง ในช่วงเวลานี้จึงอาจจะยังไม่ใช่จังหวะเวลาของผู้ซื้อ

ทั้งนี้คาดว่าในไตรมาสที่ 3 อาจจะได้เห็นราคาเสนอขายโรงแรมที่ลดลงจนถึงราคาเท่าทุน และหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ที่สุดแล้วผู้ประกอบการจะยอมเสนอขายในราคาที่ขาดทุน แต่จะขาดทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการรับมือปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ไปจนถึงปีหน้า ถึงจะเป็นโอกาสและเวลาของผู้ซื้อ โดยจะเริ่มเห็นการเจรจากัน

“ช่วงนี้จะเห็นว่ามีแต่คนเสนอขาย แต่ยังไม่มีคนซื้อ เพราะราคาของยังแพงอยู่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับแรงกดดันจากปัญหาสภาพคล่องของแต่ละรายว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่า การซื้อขายจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีนี้อย่างแน่นอน เพราะทุกคนต่างก็ยังเฝ้ารอจังหวะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้คลี่คลายลงก่อน แม้ในเวลานี้ภาครัฐจะออกมาตรการมากระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งก็อาจจะช่วยให้การท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาได้ เพราะตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทยคือนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่ยังไม่กลับเข้ามา” นายกิติศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับที่ดินในที่อยู่ใน Prime Area เช่นที่ดินในย่านกลางเมืองซึ่งปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยมาก หากเจ้าของไม่ได้ต้องการรีบขายก็จะไม่มีการปรับลดลงมาเพื่อขายออกไป เว้นแต่เจ้าของที่ต้องการขายที่ดินจริงๆ เราอาจเห็นมีการปรับลดราคาเป็นแปลงๆ ไป เพื่อให้ขายง่ายขึ้น และถึงแม้ว่าเจ้าของที่ดินมีการปรับลดราคาขายลงมาจริง ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อราคาที่ดินโดยรวม ขณะเดียวกัน ยังมีเจ้าของที่ดินหลายแปลงนำที่ดินมาปล่อยเช่าในระยะยาวแทนการขายออกไป

นายกิติศักดิ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของราคาที่ดินในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้วยว่า จากการสำรวจของบริษัทที่ดินในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดในเรื่องการหาซื้อขายที่ดิน เพราะการพัฒนาโครงการกว่า 70% กระจุกตัวในพื้นดังกล่าว ราคาในปัจจุบันยังคงที่จากปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ลดลงมากเหมือนที่คาดไว้หลังจากอุปสงค์ (Demand) การซื้อขายที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม รวมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Hospitality industry) ชะลอตัวลง

สำหรับภาพรวมของราคาที่ดินและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล สรุปได้ว่า ช่วงที่ผ่านมาราคาที่ดินที่ได้ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยเติบโตไม่สมดุลกันทำให้ purchasing power ในการซื้อที่อยู่อาศัยมีอย่างจำกัด โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ราคาต่อตารางเมตรสูงขึ้น ตามต้นทุนของราคาที่ดินอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ราคาประเมินที่ดินกับราคาซื้อขายจริงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในโซน CBD ราคาซื้อขายจริงสูงถึงตารางวาละ 2-2.5 ล้านบาท ขณะที่ราคาประเมินในทำเลเดียวกันสูงสุดอยู่ที่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งราคาซื้อขายจริงที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาคอนโดในตลาดสูงขึ้นตาม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาซื้อขายคอนโดมิเนียมได้ปรับขึ้น 15.5-18% ต่อปี ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้ซื้อชาวไทย เข้าถึงการซื้อได้ยากขึ้น

“แม้ว่าทางรัฐบาลจะปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 ลง 90% แต่อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากนักในแง่ของการซื้อขายที่ดิน อีกทั้งการเปิดตัวรถไฟฟ้าในแถบชานเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) หรือ สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด ณ ปัจจุบัน เราอาจจะไม่ได้เห็นราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงในปีหน้าก็เป็นได้”

สำหรับในภูมิภาค ได้แก่ พื้นที่ภาคใต้ ราคาที่ดินได้มีการปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้า คาดว่าในปีหน้าราคาค่อนข้างคงที่ หรือถ้ามีการปรับขึ้นคงไม่เกิน 5% โดยในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต กระบี่ พังงา หรือสุราษฎร์ธานี(เกาะสมุย) ซึ่งที่มีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยว ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จ คาดว่าการซื้อขายที่ดินแปลงใหม่ๆ จะยังคงชะลอตัว และจะมีทรัพย์สินประเภทโรงแรม รีสอร์ท ออกมาเสนอขายในตลาดมากขึ้น แต่การซื้อขายจะมีการต่อรองราคาที่สูงมากๆ โดยอาจมีการเข้าซื้อกิจการและทรัพย์สินประเภทโรงแรมของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น

ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้เกิดกระแสการพัฒนาที่ดินมาก่อนหน้านี้ ทำให้ที่ดินในหลายๆ จังหวัดมีการปรับราคาขึ้น ที่ดินที่ประเมินสูงสุดยังคงเป็นที่ย่านกลางเมืองจังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาเพิ่มขึ้นเพียง 5-6 % เท่านั้น ขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ ของภาคเหนือ กลับมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้น ในระดับ 30-60% โดยเฉพาะ จังหวัดน่าน ที่มีการปรับตัวของราคาที่ดินกว่า 100 %

การพัฒนาที่ดินในพื้นที่ภาคเหนือยังคงไปในทิศทางคงที่ หรือเติบโตไม่มาก ซึ่งการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์จะเป็นการพัฒนาเพื่อที่อยู่อาศัย มากกว่าเพื่อการท่องเที่ยว และจะเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Developer)

ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ราคาที่ดินได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา เป็นพื้นที่ที่ได้รับการประเมินราคาสูงสุดของภาคตะวันออก คาดว่าราคาที่ดินในโซนนี้น่าจะมีการปรับตัวขึ้นอีก โดยเฉพาะที่ดินที่สามารถพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และการย้ายฐานผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ จากประเทศจีน รวมถึงแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะเมืองพัทยา ซึ่งกระทบต่อธุรกิจโรงแรมอย่างมาก ในส่วนของโครงการคอนโดมิเนียมที่ได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านั้นแล้วจากจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้ซื้อชาวจีนลดลง จะเป็นตัวแปรที่ส่งผลให้การซื้อขายที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการต่างๆ ลดลง ซึ่งส่งผลถึงเรื่องราคาที่ดินที่จะคงที่ไม่ปรับสูงขึ้นในปีหน้า

ในพื้นที่ภาคตะวันออกราคาที่ดินค่อนข้างคงที่ เว้นแต่ราคาที่ดินที่สามารถพัฒนาโครงการเชิงอุตสาหกรรม เช่น โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ที่สามารถได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ น่าจะมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวขึ้น แต่อาจไม่มากเหมือนใน 4-5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ย 12-15% ส่วนที่ดินที่ใกล้กับระบบโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (Mega Project) ยังอยู่ในกระแสของการหาซื้อที่ดิน และราคาได้มีการปรับตัวขึ้นไประดับหนึ่งแล้ว อาจยังเห็นราคาที่เพิ่มขึ้นได้ถึง 30%

การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์จะเป็นการพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม มากกว่าเพื่อการท่องเที่ยว นักลงทุนซื้อที่ดินอาจต้องใช้ กลยุทธ์ Buy & Hold คือ ถือครองสักระยะหนึ่ง 3-5 ปี เชื่อว่า น่าจะมี Capital Gain