คอนโดมิเนียมเป็นที่อยู่อาศัยของคนเมืองที่มีความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัวโควิด-19 สูงกว่า การอยู่อาศัยในพื้นที่ราบอย่างบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ ทั้งด้วยจำนวนผู้คน ข้อจำกัดด้านพื้นที่ วิถีชีวิตของกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในคอนโด ด้วยเหตุนี้ การดูแล บริหารจัดการ ภายในโครงการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ในการบริหารอาคารมาจัดการสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ หรือ LPP บริษัทบริหารจัดการชุมชนในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ได้เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการชุมชนภายใต้การดูแลของ LPP ซึ่งมีทั้งหมด 180 ชุมชน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด รวมทั้งแผนฉุกเฉินเมื่อพบผู้ติดเชื้อภายในโครงการ ซึ่งทาง property mentor เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับโครงการอื่นๆ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการโควิด-19 แบบมืออาชีพ
“จากประสบการณ์การทำงานมา 3 ทศวรรษของทีมงานบริหารจัดการชุมชนภายใต้แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” ทำให้ LPP ได้วางแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มาตั้งแต่ระยะเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวในประเทศไทย แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณบวกเมื่อติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันที่มีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้เพราะมีตัวแปรมากมายต่อสถานการณ์แพร่ระบาด ดังนั้น LPP ก็ยังคงเดินหน้ามาตรการที่วางไว้ทั้ง 8 มาตรการอย่างเข้มข้น” นางสาวสมศรีกล่าว
ทั้งนี้ LPP มีชุมชนที่อยู่ภายใต้การบริหารถึง 180 ชุมชน มีทั้งชุมชนที่พัฒนาโดย LPN และนิติบุคคลอื่น ครอบคลุมห้องชุดกว่า 150,000 ห้อง มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 200,000 คน ผู้อยู่อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานที่ต้องออกนอกบ้านจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังนั้น LPP จึงให้ความสำคัญกับการวางมาตรการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนและสังคม เริ่มจากให้ความสำคัญกับการทำแผนปฏิบัติการ จัดสัมมนาให้ความรู้กับทีมงานและผู้จัดการชุมชนของ LPP ทุกคน โดยเชิญวิทยากรจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาให้ความรู้กับทีมงาน และนำองค์ความรู้ดังกล่าว มาออกแบบมาตรการเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวในชุมชน
นอกจากนี้ยังได้ตั้งทีมฉุกเฉิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทีมม้าเร็ว กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อในโครงการที่ LPP บริหารอยู่
“ทีมฉุกเฉินต้องเป็นทีมที่พร้อมปฏิบัติการทันทีที่ได้รับแจ้งจากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และต้องดำเนินการควบคุมจัดการพื้นที่เสี่ยงในโครงการ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในพื้นที่ดังกล่าว เข้มงวดในการตรวจตราผู้ที่เข้ามาในอาคารทุกคน ทุกวัน และกำหนดแนวปฏิบัติของแต่ละชุมชนตามข้อเท็จจริงที่ทีมฉุกเฉินตรวจแจ้ง ตรวจสอบเส้นทางที่ผู้ติดเชื้อเคลื่อนที่ในชุมชนอย่างน้อย 7 วัน ด้วยการตรวจสอบ ผ่าน CCTV ประเมินความเสี่ยงและทำการสื่อสารให้เจ้าของร่วมรับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงการ”
สำหรับแผนปฏิบัติจะมีการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงการที่หน่วยต่างๆ จะมีประกาศ หรือมีคำสั่งออกมา โดยในระหว่างวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ LPP ได้ทำแผนจัดสรรอัตรากำลังและลักษณะงานออกเป็น 2 ทีม แต่ละทีมจะแยกพื้นที่ทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงให้ทีมงานและชุมชน หากเกิดการแพร่ระบาดจนต้องปิดสำนักงานนิติฯ หรือต้องกักบริเวณทีมงานใดทีมงานหนึ่ง LPP ยังมีทีมงานอีกทีมที่แยกพื้นที่ทำงานเข้าทดแทนกันได้ทันที ดังนั้น เจ้าของร่วมและผู้อยู่อาศัยจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพียงแต่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การบริการบางอย่างอาจถูกจำกัดเพื่อความปลอดภัยทั้งกับทีมงานและผู้อยู่อาศัย
สำหรับมาตรการในการดูแลชุมชนของ LPP ทั้งหมด 8 มาตรการหลัก ประกอบด้วย
1. การคัดกรองผู้ที่เข้ามาติดต่อนิติบุคคลอาคารชุด หรือผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานในอาคาร ด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพซึ่งมีประจำในแต่ละนิติบุคคล เพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงซึ่งเป็นด่านแรกที่จะแพร่เชื้อโรคเข้าสู่ชุมชน
2. ในส่วนของอาคารสำนักงาน เช่น ลุมพินี ทาวเวอร์ ที่มีผู้เข้ามาติดต่อเข้า-ออกอาคารจำนวนมากกว่า 7,000 คนในแต่ละวัน ทาง LPP จึงได้จัดทำเส้นทางแยกผู้เข้า-ออกอาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรอง สร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครหลุดรอดจากการคัดกรองอย่างแน่นอน
3. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการรักษาความสะอาด เช่น น้ำยาล้างมือภายในห้องน้ำส่วนกลางทุกห้อง และ แอลกอฮอลล์แบบเจล บริเวณทางเข้า-ออก Lobby รวมถึงหน้าลิฟต์ และห้องสันทนาการต่างๆ ในอาคาร
4. เข้มงวดด้านการรักษาความสะอาด โดยเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ ในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน เช่น มือจับประตู ปุ่มกดลิฟต์ โดยทำความสะอาดทุก 30 นาทีถึง1 ชั่วโมง และลดจำนวนผู้ใช้ลิฟท์ในแต่ละรอบเพื่อป้องกันความแออัดด้วยการตีตารางและกำหนดจุดยืนของผู้ใช้ลิฟท์ให้มีระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโค COVID-19
5. การฉีดพ่นทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และการเช็ดทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ส่วนในระดับ Deep Cleaning โดยเฉพาะในจุด in door ที่มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน เช่น Lobby และ ลิฟต์ชั้น G หรือแม้แต่บริเวณพื้นที่เปิดโล่ง เช่น Sky Lounge รวมถึงภายในสำนักงานนิติบุคคลฯ ที่เจ้าของร่วมจะเข้ามาติดต่ออย่างสม่ำเสมอ โดยปิดให้บริการในบางพื้นที่ อาทิ ห้องอเนกประสงค์ ห้องเด็ก ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ
6. กำหนดให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย และเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน หากพบมีอาการป่วย ไอ เป็นไข้ ให้หยุดปฏิบัติงานทันที โดยสังเกตอาการตนเอง พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาจนกว่าจะหาย หรือกรณีเดินทางกลับจากต่างประเทศจะให้หยุดงานเพื่อเฝ้าระวัง 14 วัน
7. เจ้าของร่วมและผู้พักอาศัยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เมื่อกลับเข้าพักอาศัยในอาคารชุด ขอความร่วมมือกักตัวเอง 14 วัน และแจ้งฝ่ายจัดการทันที และเฝ้าระวังโดยสังเกตว่ามีอาการไอ จาม มีไข้หรือไม่ โดยตลอด 14 วันทีมงานจะอำนวยความสะดวกเรื่องอาหารและสิ่งจำเป็น รวมถึงต้องใช้หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกมาบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง และพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติ (โดยติดต่อฝ่ายจัดการหรือกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422)
8. ฝ่ายจัดการ LPP ยังได้เพิ่มมาตรการคัดกรองผู้เช่าพักอาศัย และผู้เข้า-ออกอาคารที่เป็นชาวต่างชาติ จะต้องแสดงเอกสารหรือหนังสือรับรองจากแพทย์หรือสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ ว่ามีสุขภาพที่ปกติ ไม่เจ็บป่วย จึงจะเข้าพักอาศัยได้ และต้องยินยอมให้ตรวจวัดอุณหภูมิ หากสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าพักในอาคาร สร้างความเข้าใจกับเจ้าของร่วม นักลงทุน ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผู้ที่จะให้เช่าเพื่อร่วมกับฝ่ายนิติบุคคลในการลดความเสี่ยง
เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ การสื่อสารไปยังเจ้าของร่วม ซึ่ง LPP ได้จัดรูปแบบการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับกรรมการในชุมชนและผู้อยู่อาศัย พร้อมแจ้งข้อมูลจริงหากมีผู้ติดเชื้อในโครงการ เพื่อให้เจ้าของร่วมและผู้อยู่อาศัยได้ทราบและระมัดระวัง รวมถึงแจ้งข่าวสารทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์การติดเชื้อ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อีกด้วย
แม้ว่ายังประเมินสถานการณ์ไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่ LPP จึงได้วางแผนและพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและยากจะคาดเดาได้ แต่เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การดูแลผู้อยู่อาศัยในชุมชนของเราให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ ภายใต้นโยบาย “ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” เพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยความปลอดภัยด้วยกัน และสิ่งที่ถือว่าเป็นข่าวดีของเราก็คือ แพทย์ได้ยืนยันว่า ผู้อยู่อาศัยในชุมชนภายใต้การดูเแลของ LPP จำนวน 10 ท่านหายดีแล้ว สามารถกลับมาอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งในทุกชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งเป็นผลมาจาก 8 มาตรการที่ได้วางไว้นั่นเอง” นางสาวสมศรี กล่าว
ปิดท้ายด้วยความปรารถนาดีที่อยากจะส่งต่อให้กับผู้อื่น เมื่อสภากาชาดประกาศว่าผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อ COVID-19 นั้น จะมีพลาสมาที่มีภูมิต้านทาน ดังนั้น สภากาชาดไทยจึงขอเชิญชวนผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กลับมาเป็นผู้บริจาคพลาสมา เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยต่อไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
“ทาง LPP จะประสานงานเชิญชวนผู้อยู่อาศัยในโครงการที่หายจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเพื่อเข้าร่วมบริจาค รวมถึงช่วยคัดกรองคุณสมบัติตามที่สภากาชาดกำหนด ในภาวะวิกฤติครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ เพื่อให้สถานการณ์แพร่ระบาดนี้หมดจากประเทศไทยโดยเร็ว” นางสาวสมศรี กล่าวปิดท้าย
อ่านเพิ่มเติม สมาคมบริหารทรัพย์สินฯ วางแนวทางรับมือไวรัสโควิด-19 ในคอนโด