fbpx
ex 003

ธุรกิจอสังหาฯ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แม้จะไม่ค่อยแฮปปี้กับผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่กระทรวงการคลังอาจมีความจำเป็นต้องใช้ภาคอสังหาฯช่วยพยุงเศรษฐกิจ เนื่องจากเวลานี้ ท่องเที่ยว ส่งออก ต่างเจอพิษไวรัสโควิด-19 เล่นงานอย่างหนักจนหลายสำนักต้องปรับประมาณการจีดีพีลงตั้งแต่ยังไม่ผ่าน 2 เดือนแรกของปี ขณะที่ภาคการลงทุนของรัฐก็ยังเชื่องช้า กว่างบประมาณจะผ่าน กว่าเงินจะไหลเข้าระบบปีนี้ทั้งปีไม่รู้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้กี่มากน้อย

ไม่ต้องพูดถึงการลงทุนภาคเอกชนเวลานี้ทำได้แค่ wait and see ดีที่สุดก็แค่ประคองตัว ส่วนจะหวังการบริโภคคงจะยาก เพราะตอนนี้ ประชาชนของประเทศต่างติดโรคขาดความเชื่อมั่นกันเป็นทิวแถว ถามว่าเงินน่ะมีมั๊ย เชื่อว่าประชาชนคนระดับกลางขึ้นไปก็ยังพอมีเงินในกระเป๋า ก็ดูตอนที่เชฟโรเลตเทกระจาดขายครึ่งราคา ก็รู้ว่า คนไทย(อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด)ไม่ได้จนลง แต่ขาดความมั่นใจในการจับจ่าย กลายเป็นโรงซึมเศร้าทางเศรษฐกิจกันหมดทั้งประเทศ

โจทย์นี้แหละที่รัฐบาลต้องแก้ให้ตก ทำอย่างไรจึงจะปลุกความเชื่อมั่นขึ้นมาให้ได้ ทำอย่างไร ถึงจะสู้กับการปั่นกระแสว่าเศรษฐกิจไทยมันแย่ แย่ แย่ เกินความจริงจนคนไม่เป็นอันทำอะไร ไปทางไหนก็มีคนถ่ายรูปมาให้ดูว่าแต่ละที่มันร้างผู้คน ซึ่งความเป็นจริงหลายๆ ที่ หลายๆ แห่งมันก็ไม่ใช่อย่างภาพที่เห็น

กลับมาเข้าเรื่องอสังหาฯ เวลานี้จึงเป็นทางเลือกที่มีไม่มากนักสำหรับการจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลุกกำลังซื้อ ปลุกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ซึ่งในงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ภายใต้หัวข้อ “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจ ปี 2563” ปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของภาคอสังหาฯและการที่จะต้องฝ่าพายุในปี 2563 เอาไว้ว่า

ในสองปีที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากความสำคัญดังกล่าวนี้รัฐบาลจึงได้มีมาตรการเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์โดยผ่านกระทรวงการคลัง กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งผลจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในปี 2562 ได้ทำให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศในไตรมาส 3 และ 4 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2562 เกิดการขยายตัวของจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศถึงร้อยละ 2.7 และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศมีการขยายตัวถึงร้อยละ 4.3 จากเดิมที่ทุกฝ่ายคาดกันว่าจะติดลบค่อนข้างมาก

สำหรับทิศทางของอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจมีการชะลอตัวลงบ้างในปี 2563 แต่ไม่ได้ถึงขั้นต้องน่ากังวลโดยยังมีปัจจัยทางตรงและปัจจัยทางอ้อมที่ช่วยกระตุ้นให้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจัยทางตรง ได้แก่ นโยบายและมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และปัจจัยทางอ้อม เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะส่งผลให้ประชาชนสามารถยื่นกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง

นอกจากนี้ การพัฒนาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสำคัญต่าง ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และความต้องการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

ในปี 2563 ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่มีอยู่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นและอุปทานที่อยู่อาศัยจะค่อยๆ ถูกดูดซับไปจนมีความสมดุลมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และร่วมมือกันอย่างจริงจังในการวางแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยให้เกิดความมั่นใจว่า

(1) เขาได้รับการดูแลที่ดีที่สุดจากภาครัฐ

(2) เขาได้รับบ้านที่ดีที่สุดทั้งคุณภาพและราคาจากผู้ประกอบการ

(3) เขาได้รับเงื่อนไขและบริการสินเชื่อที่ดีที่สุดจากสถาบันการเงิน

“ในวันนี้ เรากล่าวได้อย่างมั่นใจว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไม่มีปัญหาฟองสบู่อย่างแน่นอน และเราต้องทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาซื้อและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ควรปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อ demand ที่เกิดจากการซื้อเพื่อการลงทุนลดน้อยลง และกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาด

หากต้องการกระตุ้นให้การเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นได้ในขณะนี้จะต้องกระตุ้นกลุ่มผู้มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของประชาชนเท่านั้น ผู้ประกอบการจึงต้องค้นหาความต้องการของประชาชน และพยายามตอบโจทย์ความต้องการนั้นให้ได้มากที่สุด ทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง ราคา และประโยชน์ใช้สอย”

ในบทบาทของประธานกรรมการธอส. ผมได้ผลักดันเชิงนโยบายให้ ธอส. เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและกระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และช่วยให้คนไทยได้มีบ้านเป็นของตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มอบนโยบายแก่ธอส.และยังเป็นพันธกิจของธนาคารในการ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ด้วยการเป็น “ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน” อีกด้วย

ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เท่าที่ Property Mentor ตรวจสอบจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และอาจจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯออกมาอีกชุด ส่วนจะเป็นมาตรการอะไร เช่น การขยายมาตรการที่มีอย่างบ้านดีมีดาวน์ หรืออาจจะมีมาตรการด้านภาษี การสนับสนุนซอฟต์โลน ในกระตุ้นกำลังซื้อบ้าน หรือจะรับข้อเสนอมาตรการที่ภาคเอกชนเคยฝากฝังไว้ ได้แก่ การขยายเวลาพำนักในประเทศไทยของชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียมในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท รวมทั้งการขยายระยะเวลาเช่าจาก 30 ปี เป็น 50 ปี โดยอิงกับพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม

ก็ต้องคอยดูว่า ความเป็นได้ที่ว่า จะเป็นจริงได้แค่ไหน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *