ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินตลาดที่อยู่อาศัยปี 2563 มีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ 5-7% หากเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีขึ้น
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ทิศทางการตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2563 ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯได้ประมาณการจากปัจจัยบวก ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง มาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของ ธปท. และปัจจัยลบ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวในหลายกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ การระบาดของไวรัสโคโรนา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
คาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีการปรับตัวในภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 372,500-400,660 หน่วย มีการขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง7.3% และมีมูลค่าถึง 853,100-917,100 ล้านบาท มีการขยายตัวระหว่าง -2.5% ถึง 4.8%
ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 197,500 -214,300 หน่วย ขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง 8.3% และมีมูลค่าถึง 571,200-614,000 ล้านบาท ขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง 7.3% แม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จะมีการชะลอการโอนของคนจีนบ้างจากสาเหตุการระบาดไวรัสโคโรนา แต่มีผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากผู้ซื้อห้องชุดคนจีนมีสัดส่วนเพียง 6% ของผู้ซื้อทั้งหมดเท่านั้น
ด้านหน่วยที่อยู่อาศัยจากการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 2563 จะอยู่ประมาณ 114,400-122,600 หน่วย เป็นห้องชุด 55% หรือประมาณ 62,900-67,400 หน่วย ส่วนการขอใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 97,500-100,400 หน่วย และจะอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 58.4%
ส่วนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศประมาณการว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ประมาณ 292,100-300,900 หน่วย โดยเป็นใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 27.4% หรือประมาณ 80,000-82,400 หน่วย โดยที่ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 แต่อาจมากกว่าเล็กน้อยประมาณ 129,000-132,900 หน่วย ซึ่งเป็นใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 51.1% หรือประมาณ 65,900-67,900 หน่วย
จากการคาดการณ์ตัวเลขในเครื่องชี้หลักต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจสรุปได้ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 น่าจะมีภาวะที่ค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2562 แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น จากการลงทุนภาครัฐ และคาดว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาจะคลี่คลายในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
ชี้มาตรการรัฐช่วยพลิกฟื้นตลาดปี 62
สำหรับปี 2562 ที่รัฐบาลได้ออก 3 มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนส่งผลให้สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 ได้ โดยมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ถึง 373,365 หน่วย และมูลค่ารวม 875,189 ล้านบาท ซึ่งมีการขยายตัวจากปี 2561 ถึง 2.7% (จำนวนหน่วย) และ 4.3% (จำนวนมูลค่า) จากที่คาดการณ์ว่าจะต้องติดลบถึง -8.4% และ -8.2% ตามลำดับ
ขณะที่จำนวนหน่วยที่ได้รับในอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ มีการขยายตัวในไตรมาส 2 และ 3 ส่วนในไตรมาส 4 มีจำนวนหน่วยการขออนุญาตจัดสรรที่ใกล้เคียงกับปี 2561 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการได้ปรับแนวการผลิตที่อยู่อาศัยมาสู่แนวราบมากยิ่งขึ้น
ด้านจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศในปี 2562 มีจำนวนลดลงถึง -9.0% โดยเฉพาะอาคารชุดมีจำนวนหน่วยลดลง -24.0% และหากพิจารณาจำนวนและสัดส่วนของใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559-2562 ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ปริมาณของอาคารชุดเกิดใหม่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้น่าจะมีปริมาณลดลง
ในส่วนของจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2562 มีจำนวนลดลงถึงประมาณ -32.1% เป็นโครงการอาคารชุดที่ลดลง -34.3% และบ้านจัดสรรลดลง -29.0% ซึ่งทำให้ภาวะที่มีหน่วยเหลือขายมากจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในปี 2561 จะทยอยถูกดูดซับไป