fbpx
urban 2589645 1920

ภาคอสังหาฯต้องการยาแรง!

หากไม่นับไวรัสมฤตยูโคโรน่าที่กำลังเขย่าโลกอยู่ในขณะนี้ สถานการณ์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2563 ก็เริ่มผ่อนคลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ต่างคนต่างถอยคนละก้าว การปลดล็อคมาตรการ LTV ที่แม้ว่าจะไม่ได้ตามที่ผู้ประกอบการคาดหวัง แต่ก็ช่วยให้แบงก์ผ่อนคลายการปล่อยกู้ได้มากขึ้น หรือล่าสุดคือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ก็น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้บ้างไม่มากก็น้อย

แต่ในเมื่อเศรษฐกิจภาพใหญ่กำลังโดนพิษโคโรน่าเล่นงาน ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเครื่องยนต์เกือบดับสนิท รวมทั้งยังมีวิกฤตภัยแล้งที่จะทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ส่งผลกระทบกับรายได้กลุ่มคนในระดับฐานราก แต่ก็ยังมีโชคดีอยู่บ้างที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ร่างงบประมาณปี 2563 ไม่ถึงกับเป็นโมฆะ เพียงแต่ให้ลงคะแนนกันใหม่ในวาระ 2-3 การลงทุนภาครัฐ ก็ยังพอเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ได้

ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ ความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภค และภาคธุรกิจจะทำอย่างไรให้กลับคืนมาภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งทางเลือกก็คงมีไม่มากนัก นอกจากการใช้ยาแรงในการกระตุ้นภาคการบริโภค และการลงทุนในประเทศ พร้อมกับเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐที่ต้องเร่งทำควบคู่กันไป

ถ้าดูท่าทีจากขุนคลัง อุตตม สาวนายน รัฐมนตรคีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ไปปาฐกถาในหัวข้อ “นโยบายการคลัง พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 17 โพสต์ทูเดย์ มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลก็คงเตรียมจะออกมาตรการชุดใหญ่ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ดำดิ่งไปมากกว่านี้

อุตตม สาวนายน รมว.คลัง
อุตตม สาวนายน รมว.คลัง

“รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยให้ได้ ไม่ให้เกิดอาการห่อเหี่ยว… และถ้าจำเป็นต้องมีมาตรการต่อ กระทรวงการคลังก็สามารถออกได้ เพื่อสนุบสนุนการอุปโภค บริโภค ดูแลภาคธุรกิจ และประชาชน” นั่นคือท่อนหนึ่งที่รัฐมนตรีคลังพูดเอาไว้

ในภาคอสังหาฯ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้สั่งการให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เข้ามาช่วยดูแลผ่านกลไกการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ส่วนจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวไว้ว่า

“รัฐบาลก็ได้มีการติดตามผลในทุกมาตรการที่ออกไป และดูว่ามาตรการใดที่เหมาะสม และจำเป็นก็จะนำมาพิจารณาร่วมกัน แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นมาตรการอะไร”

ก็อาจจะยังแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ถ้าดูสถานการณ์ ณ เวลานี้ ก็มีโอกาสลุ้นมากทีเดียว แม้ว่าจะมีเสียงเล็ดลอดออกมาจากกระทรวงการคลังว่ารัฐมนตรีอุตตมไม่ค่อยแฮปปี้กับภาคอสังหาฯ เพราะอุตส่าห์ออกแรงช่วยกันขนาดนี้แล้ว แต่ผู้ประกอบการก็ยังไม่ค่อยขยับทำอะไรคืนกลับมาให้กับรัฐบาลบ้าง ขอความร่วมมืออะไรก็ไม่ค่อยได้มรรคได้ผล หน่ำซ้ำยังโดนค่อนขอดจากบิ๊กหลายๆ คนว่า จริงๆ แล้วไม่ต้องช่วยก็ได้

แต่เมื่อไม่มีทางเลือกมากนักมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ก็อาจจะต้องมีอะไรออกมาเพิ่มเติมก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ยังมีข้อเสนอจากภาคเอกชนที่กระทรวงการคลังรับเอาไว้พิจารณา ก็คือ การขยายเวลาพำนักในประเทศไทยของชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียมในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท รวมทั้งการขยายระยะเวลาเช่าจาก 30 ปี เป็น 50 ปี โดยอิงกับพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม เพื่อช่วยดึงดูดดีมานด์จากต่างชาติให้เข้ามาซื้ออสังหาฯในเมืองไทยมากขึ้น ทดแทนดีมานด์ในประเทศที่ลดลง

ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่า มีความเหมาะสมและจำเป็นเพียงใดกับการใช้มาตรการเหล่านี้ หรือจะแค่ต่ออายุมาตรการที่ยังใช้อยู่ออกไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านดีมีดาวน์ที่รัฐให้เงินอุดหนุน 50,000 บาทกับคนซื้อบ้านที่อยู่ในฐานภาษี มีเงินได้ในปีภาษี 2561 ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท จำนวน 1 แสนรายแรก มาตรการดังกล่าวกำลังจะครบกำหนดในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ปัจจุบันมีผู้ผ่านเกณฑ์แค่ 5 หมื่นราย และเพิ่งโอนเงินคืนให้ประมาณ 5,000 ราย รวมถึง มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองเหลืออย่างละ 0.01% ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลที่สุดในทุกๆ ครั้งที่ใช้ซึ่งมาตรการนี้มีกำหนดจะหมดในช่วงปลายปี

ในฝั่งของผู้ประกอบการอสังหาฯแน่นอนว่า อยากจะให้รัฐบาลเพิ่มยาให้แรงขึ้น หลังจากที่ตลาดยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ง่ายๆ ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจโดนพิษของไวรัสโคโรน่าเล่นงานซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก ทำให้ในเดือนม.ค.จนถึงก.พ.ตลาดยังไม่กระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ตกลงมากจนน่ากังวลใจกับสภาพคล่องของหลายๆ บริษัท

หนึ่งในข้อเรียกร้องที่ผู้ประกอบการอยากขอให้ช่วยผ่อนคลายก็คือ ขอเว้นวรรคการใช้มาตรการ LTV ออกไปจนกว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะเห็นว่า จากการใช้มาตรการ LTV ปัญหาการเก็งกำไรได้หมดไปแล้ว และตัวเลขซัพพลายที่ล้นอยู่ในหลายทำเลก็ค่อยๆ ลดลง จากการชะลอลงทุนของผู้ประกอบการ ก็น่าจะช่วยทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคลายความกังวลต่อภาคอสังหาฯลงไปได้ หากเว้นวรรคการใช้ LTV ได้ก็จะช่วยภาคอสังหาฯได้อีกมากทีเดียว

ก็คงต้องวัดใจทั้งรัฐมนตรีคลัง รวมทั้งผู้ว่าแบงก์ชาติ ว่าจะเห็นสมควรใช้มาตรการใดกับภาคอสังหาฯหรืออาจจะพอแค่นี้ก่อน ก็ต้องรอลุ้นกันไปครับ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *