การเคหะเปิดตัวบ้านราคาประหยัด ชูแนวคิด สมาร์ทโฮม – ยูนิเวอร์เซล ดีไซน์ ขายราคา 3.5-5.5 แสนบาท เล็งหาที่ดินทั้งในกทม. ปริมณฑล และภูมิภาค พัฒนา 8 โครงการนำร่อง พร้อมทั้งแจกแบบบ้านให้ประชาชนนำไปสร้างบนที่ดินของตัวเอง
นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะฯ ได้เปิดตัวบ้านราคาประหยัดมาตรฐานสูง (Smart Home) ราคาขายอยู่ระหว่าง 350,000-550,000 บาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่การเคหะแห่งชาตินำนวัตกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาจัดสร้างบ้านที่มีคุณภาพดีเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยในสังคมยุคใหม่ โดยนำนวัตกรรมการก่อสร้างแบบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จ หรือระบบ Precast มาใช้ เพื่อย่นระยะเวลาการก่อสร้างให้เร็วขึ้น ช่วยลดปัญหาด้านแรงงานไม่เพียงพอ และสามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพได้ดี
เปิดตัวบ้านราคาถูก 4 มุมเมือง
ล่าสุดการเคหะแห่งชาติได้ออกแบบบ้านเดี่ยวชั้นเดียวในลักษณะ Universal Design อาศัยอยู่ร่วมกันได้ทุกช่วงวัย ขนาดเนื้อที่ 20 ตารางวา มี 3 รูปแบบ ได้แก่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 22, 28 และ 36 ตารางเมตร โดยจัดสร้างบ้านตัวอย่างที่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ให้ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างในอนาคต โดยตั้งใจว่าจะเปิดโครงการนำร่องใน 4 มุมเมืองในพื้นที่กทม.และปริมณฑลจำนวน 4 โครงการ และ อีก 4 โครงการในภูมิภาค
“ในเบื้องต้นจะหาใช้ที่ดินของการเคหะที่มีอยู่ก่อนโดยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังคัดเลือกที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาได้ในราคา 350,000-550,000 บาท เช่น บริเวณ ลำลูกกา คลอง 10 บางขุนเทียน และบางพลี เป็นต้น และยังมีโครงการที่การเคหะฯจะไปร่วมดำเนินการกับเอกชน ซึ่งจะมีทั้งบ้านราคาประหยัด และบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนในต่างจังหวัดจะมีโครงการนำร่องที่ เชียงใหม่ อุดรธานี สงขลา (หาดใหญ่) และพิษณุโลก ซึ่งในแต่ละโครงการควรจะมีจำนวนยูนิต ไม่ต่ำกว่า 100 ยูนิตขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะทำแบบบ้านราคาประหยัดแจกให้ประชาชนนำไปปลูกสร้างบนที่ดินของตัวเองด้วย ซึ่งจะทำให้ราคาบ้านไม่ถึง 3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาสร้างบ้าน
ปล่อยเช่า999/เดือน แรงทะลุเป้า
นายธัชพล กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการอาคารเช่า ซึ่งการเคหะฯได้จัดโปรโมชั่น “เช่าทั่วไทย” บ้านเช่าราคาพิเศษให้กับประชาชน เริ่มต้นเพียง 999 บาท ซึ่งเป็น 1 ใน “ของขวัญปีใหม่ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มอบให้กับประชาชนปี โดยเปิดจองผ่านระบบออนไลน์ http://999.nha.co.th ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม-30 มิถุนายน 2563 โดยมีโครงการเข้าร่วม 10,000 หน่วย ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 15,451 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2563) และคาดว่าเมื่อครบกำหนดเวลาจะมีผู้ลงทะเบียน 2-3 หมื่นราย ซึ่งตามเงื่อนไขจะให้สิทธิ์กับผู้ที่จองก่อน โดยหลังจากนี้จะจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการและเริ่มทะยอยเซ็นสัญญาเช่า และหากยังมีความต้องการอยู่อีกมากจะพิจารณานำโครงการที่มีอยู่มาปล่อยเช่าเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของอาคารเช่าของการเคหะฯกว่า 2,000 หน่วย และโครงการเอื้ออาทรอีก 5,000 หน่วย
ผุดบ้านผู้สูงวัย 4 โครงการนำร่อง
ขณะเดียวกันการเคหะแห่งชาติยังให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุตามนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะดำเนินการจัดสร้าง โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 4 มุมเมือง (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ โดยการเคหะแห่งชาติจะพัฒนาโครงการเอง หรือร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน (Joint Operation) ซึ่งได้พิจารณาพื้นที่เป้าหมาย 4 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบ้านกตัญญูคลองหลวง 1 และ 2 จังหวัดปทุมธานี 360 หน่วย โครงการบ้านผู้สูงอายุ จังหวัดนครปฐม (ทุ่งกระพังโหม) จำนวน 210 หน่วย โครงการบ้านผู้สูงอายุ สุวินทวงศ์ กรุงเทพฯ จำนวน 30 หน่วย และโครงการบ้านผู้สูงอายุ จังหวัดสมุทราปราการ (บ้านคลองสวน) จำนวน 530 หน่วย รวมถึงเปิดโอกาสให้เอกชนสัมปทานโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ และนำอาคารมาปรับปรุงรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ รวมทั้งบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้เงื่อนไขของการเคหะแห่งชาติกำหนดร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง
เล็งปล่อยกู้เช่าซื้อดอกเบี้ยถูก
นอกจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแล้ว การเคหะฯยังได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เห็นชอบในหลักการให้การเคหะแห่งชาติจัดทำโครงการดังกล่าว วงเงิน 5,207 ล้านบาท มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินในตลาดปกติได้ และไม่มีประวัติทางการเงินเสียหาย โดยจะเป็นการให้กู้ระยะสั้น 2-3 ปี เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้กับลูกค้าก่อนส่งต่อให้กับธนาคาร
ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยปีงบประมาณ 2563 สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้การเคหะแห่งชาติ จำนวน 346 ล้านบาท และคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อโครงการสินเชื่อฯ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่าตลาด เพราะเป็งเงินที่ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย และในปีงบประมาณ 2564 การเคหะฯจะของบเพิ่มอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การเคหะฯมีแนวคิดที่จะออกพันธบัตรในรูปแบบของ โซเชียล บอนด์ วงเงินที่ตั้งไว้ 6,900 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการของการเคหะฯ และปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อที่การเคหะฯดำเนินการอยู่
เร่งแผนฟื้นฟู ดินแดง เฟส 2
สำหรับในปีนี้เคหะฯดำเนินงานมาครบรอบ 47 ปี โดยได้พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้น จำนวน 737,151 หน่วย ประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 279,977 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด (ปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิมและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่) 233,964 หน่วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน 168,691 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ 50,708 หน่วย โครงการสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2,374 หน่วย โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ 845 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 จำนวน 334 หน่วย และโครงการแก้ไขวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ 258 หน่วย
สำหรับการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติเดินตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐได้เป็นอย่างดี โดยมีผลงานเด่นหลายโครงการที่สามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลและขับเคลื่อนต่อเนื่องในปี 2563 ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม) ระยะที่ 2-4 รวมทั้งสิ้น 6,212 หน่วย
ในเบื้องต้นจะดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 1,247 หน่วย ประกอบด้วย อาคาร A1 สูง 32 ชั้น 1 อาคาร 635 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 9 – 17 และแฟลตที่ 63 – 64 และอาคาร D1 สูง 35 ชั้น 1 อาคาร 612 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 23 – 32 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.) ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาก่อนดำเนินการรื้อถอนอาคารแฟลตเดิม แฟลตที่ 18 – 22 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2563