fbpx
1 e1573984995721

ตลาดอสังหาฯร้อนฉ่า บิ๊กเนมเปิดศึกชิงตลาดกลางบน

เป็นไปตามที่คาดหมายกันไว้แล้วว่า ผลการดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จะทรุดฮวบจากมาตรการคุมสินเชื่อที่เริ่มประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2562 และเมื่อผนวกกับปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ดูอย่างไรก็ยังไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับขึ้นมาได้ง่ายๆ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงต้องปรับแผนรับมือกันอีกระลอก โดย 2 ค่ายใหญ่ พฤกษา และเอพี มองว่า ตลาดระดับกลางบนเป็นยังเป็นตลาดที่ยังมีกำลังซื้ออยู่โดยเฉพาะกับกลุ่มเรียลดีมานด์ และในครึ่งปีหลังตลาดในเซ็กเมนต์นี้น่าจะร้อนระอุยิ่งกว่าใครๆ

สุพัตรา

ล่าสุด บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง ได้ประกาศผลการดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรก รวมทั้งแผนในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมการปรับกลยุทธ์ลุยตลาดกลางบน โดย สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ควบตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า บริษัทได้ปรับแผนดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง โดยลดจำนวนโครงการเปิดใหม่ลงจากที่ตั้งเป้าไว้ 55 โครงการ มูลค้า 6.8 หมื่นล้านบาท เหลือ 40 โครงการ 4.7 หมื่นล้าน โครงการที่ถูกคัดออก ได้แก่ คอนโดมิเนียม 7 โครงการ ทาวน์เฮาส์ 7 โครงการ และบ้านเดี่ยว 1 โครงการ

นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ปรับเป้ายอดขายและรายได้ลง จากเป้ายอดขาย 5.4 หมื่นล้านบาท เหลือ 5 หมื่นล้านบาท เป็นทาวน์เฮาส์ 2.28 หมื่นล้านบาท บ้านเดี่ยว 9,400 ล้านบาท คอนโด 1.03 หมื่นล้านบาท และคอนโดพรีเมี่ยม 7,500 ล้านบาท ขณะที่เป้ารายได้จาก 4.7 หมื่นล้านบาท ปรับเหลือ 4.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ทาวน์เฮาส์ 1.95 หมื่นล้านบาท บ้านเดี่ยว 7,800 ล้านบาท คอนโด 12.3 หมื่นล้านบาท และคอนโดพรีเมี่ยม 5,400 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทจะขยับเซ็กเมนต์จากกลุ่มกลาง-ล่าง ไปสู่กลุ่มกลาง-บน เพราะผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อที่แข็งแรงกว่า โดยแต่ละเซ็กเมนต์จะขยับขึ้นไปอีก 1 ขั้น ทำให้ทาวน์เฮาส์และคอนโดจะขยับมาที่กลุ่ม 3-5 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยวขึ้นไปที่ 5-7 ล้านบาท และ 7-10 ล้านบาท

“เมื่อสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เราคงจะทำอย่างเดิมไม่ได้ การปรับลดโครงการลง ก็เพื่อโฟกัสแต่ละโครงการให้มากขึ้น กลยุทธ์ของพฤกษาต่อไปจะไม่ยิงปืนกลให้เปลืองกระสุน แต่จะใช้สไนเปอร์เจาะเข้าไปที่เรียลดีมานด์ ดังนั้นตาจึงต้องคมเหมือนเหยี่ยว ถ้าเห็นดีมานด์อยู่ตรงไหนจะต้องเจาะออกมาให้ได้ โดยใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัล ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยให้เข้าถึงลูกค้าที่เรียลดีมานด์ในทุกช่องทาง ในทุกแพลตฟอร์มที่เรามี” สุพัตรา กล่าว

ทีมบริหารของพฤกษา มองว่า ในครึ่งปีหลัง ผลของมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงสร้างปัญหาให้กับธุรกิจ ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ และค่าเงินบาทที่แข็ง ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ภาวะหนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้ง การปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงมาตรการคุมสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (DSR)ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะนำมาใช้ในช่วงปลายปี ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ปัจจัยบวกก็ยังพอมีอยู่บ้าง ในเรื่องของการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินส่งสัญญาลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.50% และคาดว่า รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมเข้ามาช่วงพยุงเศรษฐกิจ โดยอยากให้รัฐบาลดูในเรื่องของการลดภาระให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ด้วยการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ และการปรับลดเงิื่อนไขของมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ผ่อนคลายลงบ้าง

“ช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นแค่ภาวะสะดุด แต่อาจจะเป็นช่วงสะดุดที่ใหญ่หน่อย โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 3 ตลาดน่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนักที่สุด แต่ก็ยังคงต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง และต้องปรับกลยุทธ์ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เอาส์ และคอนโดมิเนียม โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แท้จริง พัฒนาสินค้าให้ตอบสนองฟังก์ชั่นหรือดีไซน์มากกว่าสินค้าแมสทั่วไป โดยการนำเทคดนโลยี่ ดิจิทัลเข้ามาช่วยทำตลาด และการขาย และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ”

สุพัตรา กล่าวอีกว่า แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะเป็นช่วงที่หนักหน่วงและยากลำบา แต่ก้ยังมีเรื่องดีๆ ของพฤกษา โดยเฉพาะภาพลักษณ์เก่าๆ ที่ถูกมองว่า บ้านของพฤกษาราคาถูกคุณภาพไม่ดี มีเรื่องร้องเรียนเป็นที่หนึ่ง ซึ่งหลังจากการรีแบรนด์ไปพร้อมๆ กับการปรับปรุงพัฒนาสินค้า และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ทำให้ภาพลักษณ์ของพฤกษาเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยอดร้องเรียนลดลง ตัวเลขความพึงพอใจของลูกค้าดีขึ้นในทุกๆ ด้าน

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 และในครึ่งปีแรก บริษัทมียอดขายไตรมาส 2 จำนวน 1.22 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ครึ่งปีแรกมียอดขาย 2.33 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.1% แต่ก็ถือว่าลดลงน้อยกว่าตลาดรวมที่ยอดขายติดลบที่ 13% ด้านรายได้ในไตรมาสที่ 2 ทำได้ 7,781 ล้านบาท ลดลง 28.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และลง 34.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมสินเชื่อ ขณะที่ครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้รวม 1.96 หมื่นล้านบาท ยังเพิ่มขึ้น 3% เพราะไตรมาสแรกได้เร่งโอนตุนรายได้เอาไว้ก่อนแล้ว สำหรับกำไรในไตรมาส 2 ทำได้ 933 ล้านบาท ลดลง 40.3% ตามรายได้ที่ลดลง แต่กำไรครึ่งปียังโต 7.9% โดยสามารถทำกำไรได้ 2,618 ล้านบาท

อนุพงษ์

ขณะที่บิ๊กเนมอีกราย ได้แก่ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) ก็ได้ประกาศผลการดำเนินการในไตรมาส 2 และครึ่งปีออกมาแล้วเช่นกัน โดย อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาครึ่งปีหลังกำลังซื้อมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าระดับกลางถึงกลางบน ถ้าเป็นสินค้ากลุ่มคอนโดมิเนียมราคาเฉลี่ยไม่เกิน 200,000-250,000 บาทต่อตารางเมตร สินค้าแนวราบมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ระดับราคา 3-10 ล้านบาท

“ภาพรวมตลาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งอายุของคนซื้อที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ และมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกความท้าทายของผู้ประกอบการด้านอสังหาฯ ที่จะสร้างสรรค์ให้สินค้ามีความแตกต่าง โดดเด่นโดนใจผู้บริโภค โดยบริษัทยังคงมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับต้นๆ ของเมืองไทยที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการในทุกช่วงชีวิตของผู้อยู่อาศัยได้อย่างสมบูรณ์และครบวงจรที่สุด” อนุพงษ์กล่าว

สำหรับ ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เอพีสร้างรายได้รวมจากสินค้าแนวราบและกลุ่มคอนโด (100% JV) ได้สูงถึง 16,160 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิ (Net Profit) สูงถึง 1,565 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 7 เดือนแรก บริษัทสร้างยอดขายรวมได้แล้วถึง 24,060 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% หากเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นยอดขายจากสินค้าแนวราบมูลค่า 14,000 ล้านบาท เฉลี่ยยอดขายต่อสัปดาห์ประมาณ 451 ล้านบาท ซึ่งถือว่าโตเกินจากเป้าหมายที่วางไว้อย่างมาก และคอนโดมิเนียมมูลค่า 10,060 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับแผนการเปิดคอนโดมิเนียมใหม่ โดยเพิ่มการเปิดตัว RHYTHM เจริญกรุง-พาวิลเลี่ยน โครงการร่วมทุนโครงการที่ 18 มูลค่า 4,700 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีโครงการที่จะเปิดตัวใหม่ในครึ่งปีหลังรวมทั้งสิ้น 19 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 26,800 ล้านบาท

ตลาดอสังหาฯในครึ่งปีหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังลูกผีลูกคน แต่การแข่งขันคงยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านราคา และการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อเร่งยอดขายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ งานนี้ ผู้บริโภคเงินเย็นๆ เตรียมตังค์ไว้ช็อปได้เลย

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *