fbpx
click here 18

รัฐ-เอกชนลงขัน 1.5 หมื่นล้าน พลิกโฉมพระราม 4 สู่ สมาร์ทซิตี้

ผศ.ดร. นพนันท์ ตาปนานนท์ ผู้ประสานงานโครงการ พระราม 4 สมาร์ท ซิตี้ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจในบนถนนพระราม 4 มีแนวคิดจะพัฒนาย่านพระราม 4 ให้เป็น สมาร์ท ซิตี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างโครงการเสนอต่อ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เพื่อขอส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้จุฬาฯจะระดมบุคลากรที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันสร้างนวัตกรรมสำหรับการเป็นสมาร์ท ซิตี้ ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ 1. Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ 2. Smart Community ชุมชนอัจฉริยะ 3. Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ 4. Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ 5. Smart Governance การปกครองอัจฉริยะ 6. Smart Building อาคารอัจฉริยะ 7. Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ โดยมีโครงการต่างๆ ในพื้นที่เข้ามาร่วมกันดำเนินการ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมด 15,000 ล้านบาท

สำหรับเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นผู้พัฒนาโครงการในพื้นที่ เช่น ทีซีซี กรุ๊ป ผู้พัฒนาโครงการ วัน แบงค็อค โครงการเดอะ ปาร์ค โครงการสามย่านมิตร ทาวน์  โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ของกลุ่ม เซ็นทรัลพัฒนา และกลุ่มดุสิตธานี เป็นต้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมธนารักษ์ กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมถึงตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ วางแผนพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งถนนพระราม 4 ร่วมกัน เพื่อปรับภูมิทัศน์ ยกระดับ ถนนพระราม 4 ให้เป็นถนนในระดับสากล โครงการพระราม 4 สมาร์ท ซิตี้ จึงเป็นการต่อยอดยกระดับเมืองขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่แยกหัวลำโพงถึงแยกคลองเตย เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพ จากการเข้าถึงโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และการสัญจรเสริมต่าง ๆ ได้แก่ทางจักรยาน ทางเท้า เป็นต้น ที่จะมีขึ้นต่อไปตามรูปแบบการพัฒนาบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Oriented Development :TOD)

ประกอบกับ การก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ตามแบบวิถีชีวิตเมือง (Urban Life Style) โดยการเชื่อมต่อกลุ่มการพัฒนาบริเวณแยกสามย่าน แยกศาลาแดง และแยกวิทยุ เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเทียมกับการพัฒนาบริเวณแยกปทุมวันและแยกราชประสงค์บนถนนพระรามที่ 1 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริเวณแยกหัวลำโพงและแยกคลองเตย ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตกรุงเทพฯชั้นในและเขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก ตามลำดับ

ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 5 จุด ประกอบด้วย

1.แยกหัวลำโพง มีสถานีกรุงเทพเป็นอาคารทางประวัติศาสตร์ที่มีความงดงามในด้านสถาปัตยกรรม และจะมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-บางแค) และรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-หัวลำโพง- มหาชัย) จึงอาจพัฒนาให้เป็นพื้นที่ย่านธุรกิจการค้าและการบริการด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ ณ จุดเข้าออกที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางโดยรถไฟไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การพัฒนาบริเวณแยกหัวลำโพงจะหมายรวมถึงการฟื้นฟูย่านการค้าเดิมในบริเวณพื้นที่โดยรอบ และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมให้มีความงดงาม

2.แยกสามย่าน มีพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทิศใต้เป็นที่ดินของเอกชน อาจพัฒนาให้เป็นย่านพาณิชยกรรมโดยการเชื่อมต่ออาคารสามย่านมิตรทาวน์กับอาคารจามจุรี สแควร์ ทั้งโดยทางเดินยกระดับและทางเดินใต้ดินที่เชื่อมต่อกับทางเข้าออกของสถานีสามย่าน ประกอบกับการพัฒนาและฟื้นฟูย่านการค้าสะพานเหลือง เพื่อให้เป็นทางเข้าออกหลักของโครงการเมืองจุฬาฯอัจฉริยะ (Chula Smart City) ที่จะดำเนินการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป

นอกจากนี้ การพัฒนาบริเวณแยกสามย่านยังควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศาสนสถาน ซึ่งได้แก่ วัดหัวลำโพง คริสตจักรสามย่าน และคริสตจักรสะพานเหลือง ตลอดจนชุมชนต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบ

3. แยกศาลาแดง มีพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นสถานเสาวภา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสวนลุมพินี และทิศใต้เป็นที่ดินของเอกชน อาจพัฒนาให้ทางเข้าออกหลักของย่านธุรกิจและพาณิชยกรรมถนนสีลม ทั้งนี้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรระหว่างสถานีสีลมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสถานีศาลาแดงของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงอาจดำเนินการให้เป็นไปตามรูปแบบการพัฒนาบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจร โดยการสร้างทางเดินยกระดับและทางเดินใต้ดินเพื่อเชื่อมต่ออาคารต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบกับการเข้าออกของสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย

นอกจากนี้ ยังควรดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าความงดงามทางสถาปัตยกรรมของอาคารที่ตั้งอยู่ในสถานเสาวภาและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนลุมพินี และบริเวณพื้นที่โดยรอบเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

4. แยกวิทยุ มีที่ดินทางทิศเหนือเป็นสวนลุมพินีและที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทางทิศใต้เป็นที่ดินของเอกชน อาจพัฒนาให้ทางเข้าออกหลักของย่านธุรกิจถนนสาทร และการพัฒนาให้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรโดยการสร้างทางเดินยกระดับและทางเดินใต้ดินเพื่อเชื่อมต่ออาคารต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบกับการเข้าออกของสถานีรถไฟฟ้าสายสีน ้าเงินและสถานีรถไฟฟ้าสายสีฟ้าที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาถึงการเชื่อมต่อถนนสายย่อยต่างๆ เข้ากับถนนโครงการตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครทีเชื่อมต่อจากแยกถนนวิทยุ-สารสินไปยังถนนรัชดาภิเษก ประกอบกับ การพัฒนาพื้นที่โล่งสาธารณะ และถนนคนเดิน (Pedestrian Mall) การปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนลุมพินี เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปด้าน (facade) ของอาคารที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชน

5.แยกคลองเตย มีที่ดินทางทิศเหนือเป็นโรงงานยาสูบ (เดิม) ต่อเนื่องกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สวนเบญจกิติ และที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่กำลังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และสำนักงาน ส่วทางทิศใต้เป็นที่ดินของการไฟฟ้านครหลวง และของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ อาคารพาณิชย์พักอาศัย และอาคารสำนักงาน ต่อเนื่องกับท่าเรือกรุงเทพซึ่งจะมีแผนจะพัฒนาเป็นย่านธุรกิจพาณิชยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา (Riverfront Development) ต่อไปในอนาคต

การพัฒนาบริเวณดังกล่าวนี้จึงควรส่งเสริมให้เป็นย่านการประชุมและนิทรรศการ (Meetings, Incentives, Conventions, and Exhibitions หรือ MICE) ขนาดใหญ่ในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร และเป็นทางเข้าออกหลักของย่านธุรกิจพาณิชยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะพัฒนาขึ้นต่อไป ทั้งนี้ควรดำเนินการปรับปรุงย่านพาณิชยกรรมเดิมและตลาดคลองเตยให้มีความทันสมัย และปรับปรุงภูมิทัศน์คลองถนนตรงและทางรถไฟสายปากน้ำ เพื่อสื่อถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เคยมีมาแต่อดีต

แน่นอนว่า การยกระดับย่านพระราม 4 ไปสู่การเป็นสมาร์ท ซิตี้ อย่างสมบูรณ์แบบแห่งแรกของไทย จะยิ่งทำให้ทำเลถนนพระราม 4 กลายเป็นทำเลทองและมีบทบาทสำคัญต่อมหานครกรุงเทพฯในอนาคตอันใกล้นี้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *