fbpx
ปณต สิริวัฒนภักดี

One Bangkok เรือธงกลุ่มสิริวัฒนภักดี กุมอำนาจศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่

เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่อลังการสำหรับโครงการ One Bangkok เมกะมิกซ์ยูสที่มีมูลค่าเงินลงทุนถึง 120,000 ล้านบาท ที่จะยกระดับกรุงเทพมหานครให้ก้าวไปสู่เมืองระดับเวิลด์คลาส พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ แต่กว่าจะมาเป็น One Bangkok ในวันนี้ ตลอด 10 ปีที่ทางทีซีซี แอสเซ็ทส์ และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ที่ดินแปลงนี้ก็มาต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการกับการสร้างตำนานบทใหม่ให้กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

เริ่มต้นจากการที่บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ ได้ชนะการประมูลการพัฒนาที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิมในปี 2557 เป็นชัยชนะเหนือคู่แข่งระดับบิ๊กๆ ของเมืองไทยกว่า 20 รายที่เข้าร่วมชิงชัย โดยได้มีการลงนามสัญญาเช่าที่ดินรวม 108 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี และมีออปชั่นต่ออีก 30 ปี แต่กว่าจะได้เริ่มก่อสร้างกันจริงๆ ก็ล่วงเลยมาถึงปี 2561 และหลังจากเริ่มการก่อสร้างไปไม่นานก็ประสบกับปัญหาใหญ่ที่คนทั้งโลกต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน นั่นก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนงานที่วางไว้ต้องล่าช้าออกไปกว่าจะเปิดตัวในเฟสแรกได้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาก็กินเวลายาวนานถึง 7 ปี

One Bangkok

แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดความยิ่งใหญ่ของ One Bangkok ได้ ทั้งความแข็งแกร่งของเงินทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท กับโครงการบนเนื้อที่ 108 ไร่ ที่พัฒนาภายใต้แนวคิด The Heart of Bangkok เมืองกลางใจ(ของผู้คน) เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย อาคารสำนักงาน 5 อาคาร พื้นที่กว่า 5 แสนตารางเมตร ศูนย์การค้า 3 ศูนย์ 3 สไตล์ พื้นที่เช่ารวม 1.6 แสนตารางเมตร คอนโดมิเนียม 3 โครงการ โรงแรม 4 โรงแรม และอีก 1 เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รวมมากกว่า 1,000 ห้องไปจนถึงศูนย์แสดงนิทรรศการและคอนเสิร์ตฮอลล์ระดับโลกที่สามารถจุคนดูได้ถึง 6,000 ที่นั่ง และ Art Loop เส้นทางแห่งศิลปะและวัฒนธรรมความยาวกว่า 2 กิโลเมตร ครอบคลุมทั่วทั้งโครงการพร้อมกับพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งและพื้นที่สีเขียว 50 ไร่

“One Bangkok ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแค่แลนด์มาร์คใจกลางเมือง แต่เราอยากให้ที่นี่เป็น “เมืองกลางใจ” ที่ใช้ใจสร้างในทุกตารางนิ้ว เพื่อให้เมืองๆ นี้ เข้าไปอยู่กลางใจของผู้คน กลางใจคนกรุงเทพฯ ที่อยากให้พื้นที่สีเขียวในเมืองมีมากกว่านี้ กลางใจผู้คนที่หลากหลาย กับประสบการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิตในทุกรูปแบบ กลางใจคนทั่วโลก ด้วยงานศิลปะและวัฒนธรรมที่จะมอบแรงบันดาลใจให้ทุกคนในทุกก้าวเดิน กลางใจคนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อไป ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมือง เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน กลายเป็นเมืองต้นแบบให้หัวใจของคนทุกคน ร่วมกันสร้างกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่ทุกคนจะรัก เพราะใจกลางเมืองใครๆ ก็เป็นได้ แต่ “เมืองกลางใจ” จะมีแค่หนึ่งเดียวที่นี่” คำอธิบายแนวคิด The Heart of Bangkok ในการพัฒนาโครงการ One Bangkok

one bangkok

“เราเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนให้มองเห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทย โครงการ One Bangkok จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับสถานะของกรุงเทพฯ สู่การเป็น “ศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ครบวงจรระดับโลก” (Global Integrated Lifestyle Hub) โดยเราให้ความสำคัญกับผู้คน ชุมชน สังคม ตลอดจนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เราใช้เวลาร่วมทศวรรษในการมุ่งมั่นออกแบบและพัฒนาโครงการอย่างพิถีพิถัน ทุ่มเทใส่ใจในทุกขั้นตอนทุกรายละเอียด ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนโครงการให้มีความพร้อมในระยะยาว (Future-Proof) ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยโดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทั่วโลก มุ่งสู่การเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตที่ยั่งยืน

One Bangkok คือโครงการอันเป็นที่สุดแห่งความภาคภูมิใจของเรา เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่เกิดจากการสานต่อปณิธานอันยิ่งใหญ่ของคุณเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่มุ่งมั่นนำพลังความรู้ความสามารถ และทรัพยากรต่าง ๆ ที่เรามีมาพัฒนาถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นถนนสายที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพฯ มายาวนาน ด้วยการพัฒนา One Bangkok ให้เป็นแลนด์มาร์คระดับโลก ศูนย์กลางแห่งชีวิตที่เชื่อมโยงผู้คน ธุรกิจ และแรงบันดาลใจเข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ จุดประกายความเจริญรุ่งเรืองให้กับกรุงเทพมหานครในยุคใหม่ นี่คือก้าวสำคัญในการพัฒนาเมืองหลวงของประเทศไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น และยกระดับสู่การเป็นมหานครระดับโลกอย่างแท้จริง” นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวในวันเปิดโครงการ

one bangkok

การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของ One Bangkok พร้อมด้วยกิจกรรมต่อเนื่อง และโปรโมชั่นในช่วงเปิดโครงการยาวไปถึงสิ้นปีใช้งบรวมทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท อีกนัยหนึ่งถือเป็นประกาศการสถาปนา One Bangkok ให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และอาจจะกล่าวได้ว่า ตระกูลสิริวัฒนภักดีคือ ผู้กุมศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ในย่านพระราม 4 ก็คงไม่ผิดนัก หากมองไปถึงโครงการขนาดใหญ่ๆ หลายโครงการที่เกิดขึ้นบนถนนพระราม 4 ล้วนแต่เป็นโครงการภายใต้การลงทุนของกลุ่มสิริวัฒนภักดี

เริ่มตั้งแต่โครงการสามย่านมิตรทาวน์ มิกซ์ยูส บริเวณหัวมุมถนนพญาไทตัดถนนพระราม 4 มูลค่า 9,000 ล้านบาท โครงการสีลมเอจ มิกซ์ยูส ออฟฟิศ-รีเทล หัวถนนสีลมตัดพระราม 4 มูลค่า 1,800 ล้านบาท โครงการ One Bangkok มิกซ์ยูสที่เป็นแฟล็กชิพของกลุ่มสิริวัฒนภักดี บนหัวมุมถนนวิทยุตัดถนนพระราม 4 มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โครงการ เดอะ พาร์ค มิกซ์ยูสบนถนนพระราม 4 บริเวณแยกคลองเตยมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท โครงการ FYI มิกซ์ยูสออฟฟิศ-โรงแรมบนถนนพระราม 4 – แยกคลองเตย มูลค่า 5,000 ล้านบาท และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท

รวมๆ แล้วกลุ่มสิริวัฒนภักดี โดยทีซีซี แอสเซ็ทส์ และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มีโครงการลงทุนบนถนนพระราม 4 มูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท และที่ต้องจับตาคือ การพัฒนาพื้นที่บริเวณหัวลำโพง เนื้อที่ 120 ไร่ มูลค่าโครงการ 4.8 หมื่นล้านบาท และแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท จะมีชื่อของกลุ่มสิริวัฒนภักดี เข้ามามีเอี่ยวด้วยหรือไม่ แต่ถึงอย่างไร ณ เวลานี้ กลุ่มสิริวัฒนภักดี คือผู้ครอบครองโครงการอสังหาริมทรัพย์บนถนนพระราม 4 มากที่สุด โดยมี One Bangkok เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย

one bangkok
โครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มสิริวัฒนภักดีบนถนนพระราม 4

สำหรับ โครงการ One Bangkok จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับเมืองอย่างไรบ้าง มาฟังมุมมองของ รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการด้านผังเมือง ในประเด็นที่ว่า One Bangkok จะทำให้พระราม 4 เป็น New CBD ของกรุงเทพมหานครหรือไม่

“CBD ของกรุงเทพฯซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ในแนวถนนสีลมและถนนสาทร มีข้อจำกัดทั้งในด้านการขยายพื้นที่ย่านธุรกิจและพาณิชยกรรม และข้อจำกัดของการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (BTS) ซึ่งมีแนวสายทางไม่ยาวตลอดถนนทั้ง 2 สาย ในขณะที่ถนนพระรามที่ 4 มีแนวสายทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน (MRT) ประกอบกับการมีแปลงที่ดินขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการขยายพื้นที่ย่านธุรกิจและพาณิชยกรรม จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการรองรับการขยายพื้นที่ CBD ของกรุงเทพฯต่อไป

รศ ดร นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการด้านผังเมือง

โครงการ One Bangkok ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกวิทยุ จะเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจและพาณิชยกรรมถนนสาทร และช่วยให้ CBD ของกรุงเทพฯ มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยแนวสายทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงินซึ่งอยู่ในแนวถนนวงแหวนรัชดาภิเษก-จรัญสนิทวงศ์ที่เชื่อมโยงพื้นที่ 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา และมีแนวสายทางที่พาดผ่านถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นถนนสายหลักของกรุงเทพฯฝั่งตะวันตก จึงทำให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงินในช่วงถนนพระรามที่ 4 จะมีจำนวนผู้โดยสารตามการคาดการณ์ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางฯ ประมาณ 1.2 ล้านคน/วัน ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากบริเวณศูนย์คมนาคมกรุงเทพอภิวัฒน์ซึ่งจะมีจำนวนผู้โดยสารตามการคาดการณ์ประมาณ 1.5 ล้านคน/วัน

ถนนพระรามที่ 4 ตลอดแนวสายทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเข้าถึง (accessibility) ที่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯที่เกิดจากการเดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้อย่างมีนัยยะสำคัญ” รศ.ดร.นพนันท์ กล่าว

One Bangkok view

อย่างไรก็ตาม โครงการ One Bangkok เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตชั้นในของกรุงเทพฯ จึงย่อมส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อบริเวณพื้นที่โดยรอบ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกเหนือจาก One Bangkok จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้ว กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ One Bangkok และเจ้าของที่ดิน ตลอดจนประชาชนในชุมชนโดยรอบ ควรร่วมกันดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูเมืองของบริเวณพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการพัฒนาในภาพรวมที่ได้เป็นประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ รศ.ดร.นพนันท์ ยังได้กล่าวถึงโครงการเมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4 หรือ พระราม 4 สมาร์ท ซิตี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนในพื้นที่โครงการ มีขอบเขตพื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ 2 ฟากของถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่แยกหัวลำโพง ถึงแยกถนนพระรามที่ 4 (อ่านแผนพัฒนา พระราม 4 สมาร์ท ซิตี้)

“โครงการพระราม 4 สมาร์ท ซิตี้ จะช่วยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถประสานความร่วมมือในการพัฒนาฟื้นฟูเมืองของบริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเอกภาพต่อไป” รศ.ดร.นพนันท์ กล่าวปิดท้าย

พระราม สมาร์ท ซิตี้
แนวคิดการพัฒนา 5 พื้นที่ พระราม 4 สมาร์ท ซิตี้

สำหรับ โครงการเมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4 ได้ถูกประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะเมื่อปี 2564 ซึ่งนอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะแล้ว ยังมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่แยกหัวลำโพงถึงแยกคลองเตย โดยได้กำหนดพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 5 จุด ประกอบด้วย 1.แยกหัวลำโพง 2.แยกสามย่าน 3. แยกศาลาแดง 4. แยกวิทยุ 5.แยกคลองเตย การเกิดขึ้นของโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเมืองอัฉริยะ บนถนนพระราม 4 จะทำให้พระราม 4 สมาร์ท ซิตี้ มีภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่ที่ชัดเจนยิ่งกว่า คือการก้าวเข้าคุมพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครของตระกูลสิริวัฒนภักดี พร้อมกับการขับเคลื่อน One Bangkok ให้เป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ครบวงจรระดับโลก ส่วนจะทำได้ดีแค่ไหนต้องคอยติดตาม