fbpx

พฤกษา ยกเครื่ององค์กร-รีโมเดลธุรกิจ พร้อมโตอย่างยั่งยืน

พฤกษา โฮลดิ้ง ใช้เวลา 2 ปี กับการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่หลังจากได้ อุเทน โลหชิตพิทักษ์ เข้ามานั่งในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง เมื่อต้นปี 2565 และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤกษาให้กลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะเดินหน้าภายใต้กลยุทธ์ใหม่ Ready To Thrive สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ต้องยอมรับว่าในระยะ 3-4 ปีหลัง พฤกษาอ่อนแรงลงไปมาก จากที่เคยมีรายได้รวมเตะหลัก 4-5 หมื่นล้านในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 พฤกษามีรายได้รวมสูงสุดที่ 51,438 ล้านบาท) ร่วงหล่นมาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านปลายๆ กำไรที่เคยได้ 6-7 พันล้าน หล่นมาอยูที่ 2 พันกว่าล้าน จนกลายเป็นพระอันดับในกลุ่มผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากตลาดที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว บ้านระดับกลาง-ล่างที่เคยเป็นพระเอก และเป็นฐานหลักให้กับพฤกษากลายเป็นตัวสร้างปัญหาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และสภาพเศรษฐกิจ และโควิด-19 ขณะที่การขยับเซ็กเมนต์ขึ้นไปในระดับบนก็ยังทำได้ไม่เต็มที่

ขณะที่การลงทุนในโรงงานพรีคาสท์ ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ ธุรกิจโรงพยาบาลวิมุตก็เพิ่งเริ่มต้นยังไม่ออกดอกออกผลให้เห็น การผ่าตัดใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างองค์การ และรีโมเดลธุรกิจใหม่จึงเกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการขายที่ดินที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ออกไปบางส่วน เร่งปรับพอร์ตบ้านระดับกลาง-ล่างสู่บ้านระดับกลาง-บน และระดับบน พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวคิดจากการพัฒนาและขายที่อยู่อาศัยเป็นขาย “การอยู่อาศัย”

Spin-Off ธุรกิจพรีคาสท์ โดยการแลกหุ้นกับบริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง และล่าสุดได้แยกหน่วยงานธุรกิจรับก่อสร้าง สำหรับอาคารที่พักอาศัยออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ “อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น” รับงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ

พร้อมทั้งการขยายธุรกิจเฮลท์แคร์ผ่าน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการร่วมลงทุนใน 2 กองทุนใหญ่เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์และอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ

“การรีโมเดลธุรกิจและโครงสร้างองค์กรในปีที่ผ่านมาทำให้ในปี 2567 เราเชื่อว่าพฤกษา โฮลดิ้งพร้อมด้วยกลุ่มบริษัทในเครือทั้งหมด มีความพร้อมทั้งด้านการปฏิบัติการ และความพร้อมทางการเงิน ที่จะเดินหน้าสู่ทิศทางแห่งการเติบโตอย่างก้าวไกลไปอีกขั้น ตามกลยุทธ์ Ready To Thrive ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ในครั้งนี้ ได้แก่

(1) ประโยชน์จากการจัดซื้อจ้างในครั้งละจำนวนมาก การขนส่ง และการเพิ่มคุณค่าสินค้าให้โครงการ

(2) เพิ่มโอกาสในการขายข้ามกลุ่มสินค้า (Cross-Selling) รองรับความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต

(3) สร้างรายได้เพิ่มเติมจากสินค้าและบริการต่างๆ ที่หลากหลาย ตั้งเป้าในอนาคตเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำเป็น 25% (จากปัจจุบัน 9%) โดยผสานประโยชน์จากทุกแพล็ตฟอร์มเพื่อรังสรรค์การอยู่อาศัยที่ “อยู่ดี มีสุข” ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ในปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ทั้งกลุ่มรวม 28,000 ล้านบาท และมีการเปิดโครงการใหม่มูลค่าราว 29,000 ล้าน เติบโจากปี 2566 ผลการดำเนินงานในปี 2566 ว่า พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้ 26,132 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท” นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)กล่าว

สำหรับทิศทางในปี 2567 พฤกษายังมุ่งเพิ่มสัดส่วนในสินค้าในกลุ่มเซ็กเมนต์กลาง-บนให้สูงขึ้นมากกว่า 50% โดยคาดว่าจากปี 2562 ที่มีสัดส่วนสินค้ากลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ราว 70% ในปี 2567 วางแผนปรับลดให้เหลือราว 40% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากขึ้น พร้อมทั้ง ได้นำบริการด้านสุขภาพจากเครือวิมุต ผนวกกับเทคโนโลยีระบบ Smart Home จากแอปพลิเคชัน MyHuas นำเข้ามาปรับใช้ในการออกแบบโครงการ

ในช่วงปีที่ผ่านมาทางกลุ่มก็ได้มีการปรับโครงสร้างและโมเดลธุรกิจหลายอย่างเพื่อเสริมความแข่งแกร่งของธุรกิจหลักด้วยการแยกกลุ่มธุรกิจ ออกมาอีก 4 แกน ได้แก่

ธุรกิจเฮลท์แคร์ ครอบคลุมบริการทางสุขภาพตั้งแต่โรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลเทพธารินทร์ มีการสร้างความร่วมมือ และการลงทุนใหม่ๆ เช่น การลงทุน เข้าถือหุ้น 25% ในบริษัท เค.พี.เอ็น ซีเนียร์ ฮอสปิตัล กรุ๊ป เตรียมขยายการบริการเนอร์สซิ่งโฮม ตั้งเป้าขยาย 600 เตียงภายใน 3 ปี นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุน 3,500 ล้านบาท ขยายโรงพยาบาลเฉพาะทางที่สุขุมวิท ขยายเตียงที่โรงพยาบาลวิมุตเป็น 150 เตียง พร้อมเติบโตสู่เป้า 2,300 ล้านบาทในปี 2567

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด ในเครือพฤกษา ตั้งเป้าโต 5 เท่า ในปี 2567 และสร้างรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี โดยจะนำเสนอสินค้าและบริการเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแอปพลิเคชัน MyHaus และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Clickzy.com (คลิกซิ) ที่รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ให้เลือกช้อปสินค้าที่เกี่ยวกับบ้าน บริการตกแต่งภายในจาก Zdecor และสินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์

กลุ่มหน่วยธุรกิจใหม่ที่แยกออกมาเพื่อรองรับการเติบโต ได้แก่ บริษัท อินโน พรีคาสท์ เพิ่มโอกาสในการจำหน่ายแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ ทำยอดคำสั่งซื้อและติดตั้ง (Backlog) ทั้งจากพฤกษาและลูกค้ารายอื่น ๆ สูงขึ้นทะลุเป้าหมายอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้โต 50% สู่ 3,500 ล้านบาท ในปี 2567

ขณะที่การแยกหน่วยงานธุรกิจรับก่อสร้างสำหรับอาคารที่พักอาศัย ออกมาเป็นบริษัทใหม่ “อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น” เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น และสามารถรองรับการขยายโอกาสในการเติบโตและสร้างรายได้จากการรับก่อสร้าง ตั้งเป้าปี 2567 จะสร้างรายได้ 5,600 ล้านบาท จากพฤกษาและลูกค้ารายอื่นนอกจากกลุ่ม และมุ่งสู่ความเป็นบริษัทรับก่อสร้างบ้านแนวราบที่ใหญ่ที่สุดในไทย

การลงทุนเพื่อรองรับการขยายห่วงโซ่ธุรกิจ โดยการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ จากประกาศความร่วมมือกับ 2 องค์กรชั้นนำจากสิงคโปร์และไต้หวัน จัดตั้งกองทุน “CapitaLand SEA Logistics Fund” มูลค่าทรัพย์สินเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการคลังจัดเก็บและกระจายสินค้าให้บริการครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลงทุนในกองทุน CapitalLand Wellness Fund ( C-Well) มูลค่าทรัพย์สินเป้าหมาย 72,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ

ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2566 พฤกษาทำรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ราว 22,357 ล้านบาท มียอดขาย 18,540 ล้านบาท เปิดโครงการใหม่รวม 13 โครงการ มูลค่า 14,200 ล้านบาท ส่วนในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายที่ 27,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดโอนที่ 25,500 ล้านบาท วางแผนเปิดโครงการใหม่ 30 โครงการ แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 10 โครงการ ทาวน์เฮ้าส์ 17 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 3 โครงการ รวมมูลค่าทั้งหมดราว 29,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทมีที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ ที่จะแปลงเป็นรายได้ รวมมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดยวางแผนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ด้วยการเพิ่มสินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าในเซ็กเมนต์ระดับกลาง-สูง พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มของแบรนด์ The Palm สู่ราคามากกว่า 30 ล้านบาท และนำความร่วมมือ (Synergy) จากธุรกิจเฮลท์แคร์ในเครือเข้ามาผสานใช้ ให้เป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งบริหารสินทรัพย์ที่มีในมือ

โดยในปี 2567 ตั้งเป้าในการ Re-Stock Landbank ด้วยงบ 10,500 ล้านบาท เพื่อมาต่อยอดการขยาย มุ่งพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อจะคงสัดส่วนการพัฒนาตามกลุ่มลูกค้าราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทให้ไม่เกิน 40% และมากกว่า 7 ล้านบาทให้มากกว่า 30%

ด้านธุรกิจเฮลท์แคร์ นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด เปิดเผยว่า ในปี2566 กลุ่มวิมุตมีการเติบโตขึ้นในทุกมิติ มีรายได้รวม 1,820 ล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน มีจำนวนผู้ป่วย Non-COVID ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลวิมุตเพิ่มขึ้น 49% สำหรับปี 2567 กลุ่มวิมุตตั้งเป้ารายได้ที่ 2,300 ล้านบาท มีแผนการรีแบรนด์โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ให้เป็น “โรงพยาบาลวิมุต เทพธารินทร์” พร้อมเปิดตัวในช่วงเดือนเมษายนนี้

นอกจากนี้ จากความร่วมมือกับ เค.พี.เอ็น ซีเนียร์ ฮอสปิตัล กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและเป็นโซลูชั่นในการดูแลผู้สูงอายุครบทุกมิติเพื่อขยายการรองรับสู่สังคมอายุยืน เข้าบริหารเนอร์สซิงโฮมของกลุ่มวิมุตในย่านบางนา แบริ่ง และวัชรพล ซึ่งมีจำนวนรวม 240 เตียง พร้อมโอกาสในการบริหารเนิร์สซิงโฮมอีก 5 แห่ง โดยตั้งเป้าขยายจำนวนเตียงที่ให้บริการรวม 600 เตียง ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งยังคงดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลวิมุต แห่งใหม่ บริเวณถนนสุขุมวิทและย่านฝั่งธนบุรีอย่างต่อเนื่อง

การปรับโครงสร้างองค์กรและรีโมเดลธุรกิจของพฤกษาในครั้งนี้ คือเดิมพันครั้งใหม่ในการกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่อย่างยั่งยืน จะเป็นไปได้หรือไม่ต้องคอยติดตามกันต่อไป