fbpx
โขน 3

โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์ชั้นสูง…ความภาคภูมิใจของไทยทั้งชาติ

TPM ท่องโลก เที่ยวไทย “ต้องไป..ถึงรู้” by @P’taak

กว่าทศวรรษที่ “โขนพระราชทาน” ได้จัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ประจักษ์ในความปราณีตตระการตา ความไพเราะเสนาะหู และความน่าทึ่ง! กับฉากเทคนิคพิเศษ..ความลงตัวครบมิติของนาฏศิลป์ชั้นสูง..หากใครยังไม่เคยดู ขอแนะนำให้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเองสักครั้ง..แล้วจะลึกซึ้งว่า “ความภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงประจำชาติ ชนิดที่อวดใครได้ทั่วโลกแบบไม่อายใคร” นั้นเป็นเช่นไร

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2565 จัดแสดงตอน “สะกดทัพ” ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2565 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2565 จึงมีการเชิญบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มาแสดงในตอน “สะกดทัพ” ซึ่งเป็นตอนที่สนุกสนานอย่างยิ่ง

อารยธรรมร่วมที่น่าอัศจรรย์

การแสดงโขนรามเกียรติ์ ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกันในอาเซียน ซึ่งปรากฏในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย โดยรับวัฒนธรรมจากวรรณกรรมเรื่องรามายณะ มหากาพย์ของอินเดีย ที่เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป..ประเทศต่างๆ ได้รับวัฒนธรรมดังกล่าว แล้วมีการดัดแปลง และพัฒนาเป็นรูปแบบของการแสดงโขนในแบบฉบับของตนเองจนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

สำหรับประเทศไทย โขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่หลอมรวมศิลปะของชาติหลากหลายแขนง นับแต่วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ และพัสตราภรณ์อันงดงามตามแบบฉบับโบราณ รวมถึงการจัดฉากและแสง เสียง ที่ยิ่งใหญ่ ตลอดจนการฝึกซ้อมเพื่อความพร้อมของการแสดง

โดยองค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โขน”ของไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ถือเป็นการยืนยันบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกต่อการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.2003 และภายใต้แนวปฏิบัติ การดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ประเทศไทยเพิ่มความตระหนักเพื่อให้เกิดความเคารพและเรียนรู้คุณค่าทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการส่งเสริมและรักษามรดกวัฒนธรรมโขนให้สืบสานอย่างต่อเนื่อง

รำลึกโขนพระราชทาน

ย้อนกลับไปราว 15 ปีที่ผ่านมา…สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ว่า ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดการแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประชุมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน

โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น…ที่มาแห่ง “โขนพระราชทาน” ที่ประชาชนได้ร่วมสัมผัสและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี

12 สิงหาคม 2565 เป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดให้มีงานนิทรรศการ “โขน” ฟื้นศาสตร์ ฟื้นศิลป์ สืบสานไว้ในแผ่นดิน ด้วยพระบารมี ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม พ.ศ.2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสสำคัญนี้ โดยการแสดงสาธิตศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับโขนพระราชทานที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริม สืบสานและพัฒนาการแสดงจนได้รับความนิยมมานานกว่า 15 ปี

โขนพระราชทาน..เริ่มขึ้นเมื่อครั้งเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 ด้วยการจัดแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจัดแสดงรูปแบบการบรรเลงคอนเสิร์ตโดยวงโยธวาทิต กองดุริยางค์กองทัพบก เนื่องด้วยพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดดนตรีสากล โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม

หลังจากนั้นมูลนิธิศิลปาชีพฯ ในฐานะกองอำนวยการจัดแสดงโขนได้ปรับปรุงการแสดงโขนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงเครื่องแต่งกายโขนให้วิจิตรงดงามตามแบบโขนโบราณ จากความร่วมมือกับคณะกรรมการในการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนและละคร ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงแสดงความเป็นห่วงเรื่องชุดแต่งกายที่ต่างไปจากสมัยก่อน..หลังจากได้ชมการแสดงโขนตอนนารายณ์ปราบนนทุก ที่กรมศิลปากรจัดแสดงถวาย ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2546 จึงพระราชทานทรัพย์ให้กรมศิลปากรนำไปศึกษาหาข้อมูลและจัดทำเครื่องแต่งกายโขนให้มีลวดลายประณีตตามแบบดั้งเดิม

  • พ.ศ. 2552 มูลนิธิศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ ขึ้นอีกครั้ง โดยเป็นการแสดงสลับรอบระหว่างการบรรเลงวงปี่พาทย์กับวงโยธวาทิต ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมอย่างมากถึงขนาดต้องเพิ่มรอบการแสดง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนขึ้นทุกปี..เป็นที่มาให้คนทั่วไปเรียกชื่อการแสดงโขนนี้ว่า “โขนพระราชทาน” ในปีต่อๆ มา
  • พ.ศ. 2553 จัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย
  • พ.ศ. 2554 ตอนศึกมัยราพณ์
  • พ.ศ. 2555 ตอนจองถนน
  • พ.ศ. 2556 ตอนโมกขศักดิ์
  • พ.ศ. 2557 ตอนนาคบาศ
  • พ.ศ. 2558 ตอนพรหมาศ
  • พ.ศ. 2559 การแสดงตอนพิเภกสวามิภักดิ์ มีอันต้องยกเลิกเนื่องจากการสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
  • พ.ศ. 2560 มีการจัดแสดงโขนเพิเศษ 3 ตอน ได้แก่ ตอน รามาวตาร / ตอนสีดาหายถวายพล และตอนพิเภกสวามิภักดิ์ เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง
  • พ.ศ. 2561 จัดแสดงเป็นวาระพิเศษฉลองครบรอบหนึ่งทศวรรษ โขนพระราชทาน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์
  • พ.ศ. 2562 จัดแสดงชุด สืบมรรคา ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องตอนต้นของรามเกียรติ์ และเป็นการจัดแสดงครั้งสุดท้ายของโขนพระราชทาน ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ปี พ.ศ.2563 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน All about Khon

ความโดดเด่นของโขนพระราชทาน ไม่เพียงเรื่องเครื่องแต่งกายที่วิจิตรงดงาม หากในการแสดงยังมีการพัฒนาผสมผสานเทคนิคสมัยใหม่ที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจในแต่ละตอน เช่น ตัวละครเหาะเหินด้วยการขึ้นรอกล่องลอยในอากาศไปมา การลงทุนสร้างฉากตระการตาและมีเทคนิคเคลื่อนไหวในแต่ละตอน..การจัดแสงสีเสียงที่ช่วยให้มีมิติสมจริง ทำให้โขนพระราชทานดูยิ่งใหญ่ทันสมัย แต่ยังคงรักษาท่วงท่าลีลาการแสดงของตัวละครสำคัญตามแบบแผนประเพณีไว้อย่างดี สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมมากยิ่งขึ้นทุกปี..

สำหรับฉากไฮไลท์ของแต่ละตอน ได้ถูกนำไปเก็บรักษาและจัดแสดง ส่วนหนึ่งในบริเวณ “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รวบรวบผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของแผ่นดิน ผลงานสถาบันสิริกิติ์ โดยเป็นที่จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้คัดเลือกจากงานที่มีความงดงามทรงคุณค่าจนถือเป็นศิลปวัตถุของแผ่นดิน จากฝีมือของช่างสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา

สำหรับในส่วนบริเวณของอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน แหล่งเรียนรู้เรื่องราวของศิลปะการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และผลงานสร้างสรรค์งานศิลปะที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนจัดเก็บฉากและนำอุปกรณ์ประกอบฉากเด่นๆ จำนวนมากที่เคยปรากฏโฉมบนเวทีแสดงตอนต่าง ๆ อาทิ หนุมานอมพลับพลา ในการแสดงตอน “ศึกไมยราพ”, เรือสำเภาหลวงในการแสดงตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” รวมถึงประติมากรรมร่างหนุมานขนาด 15 เมตร และประติมากรรมร่างนางผีเสื้อสมุทรขนาดใหญ่ ในการแสดงตอน “สืบมรรคา” รวมถึงพลับพลา..หรือชมวีดิทัศน์บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโขน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำบรรยาย และพาเที่ยวชมตามจุดต่าง ๆ

..ในฐานะครอบครัวคนรัก”โขน”และศิลปะการแสดงประจำชาติ ได้มีโอกาสพาแม่และพี่สาวไปดูการแสดงที่โรงละครแห่งชาติ และแน่นอนสำหรับโขนพระราชทานที่พลาดไปเพียงสองปีแรก ด้วย ณ ตอนนั้นยังมีรอบการแสดงน้อย ไม่สามารถหาซื้อตั๋วได้ทัน…แต่หลังจากนั้นมาไปดูทุกปี ..“ชื่นใจ”..ประโยคสั้นๆ แต่แทนความหมายทุกสิ่ง..อิ่มเอมใจที่ได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณบุพการีกับการพาไปชมสิ่งที่รัก..ตราบจนวาระสุดท้ายของท่าน..

ผู้ที่เข้าไปสัมผัสบรรยากาศโขนพระราชทานจะรับรู้ถึงกลิ่นอายของ “นาฏศิลป์ชั้นสูง” นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ย่างเท้าเข้าสู่ศูนย์วัฒนธรรมฯ…การจำลองฉากไฮไลท์ ป้ายชื่อตอนที่แสดง เพื่อให้ผู้ชมได้เก็บภาพความประทับใจ รวมถึงการจัดแสดงงานหัตถศิลป์ เช่น หัวโขน เครื่องแต่งกาย มุมการจำหน่ายของที่ระลึก..แม้แต่ภาพที่เหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแสดง..ถอดหัวโขนเดินไป-มาในงาน..ล้วนเป็นภาพความประทับใจที่ผู้ชมได้ซึมซับโดยไม่รู้ตัว

..เคยได้ยินว่า “นาฏศิลป์-ศิลปะเป็นประจำชาติ” จะสืบสานคงอยู่ได้ ต้องมีองค์ประกอบ คือ ตัวศิลปะ ผู้แสดง และผู้ที่สนับสนุนซึ่งหมายถึงคนดู..เพ-ลานี้เราสามารถพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ”โขน”ที่ครั้งหนึ่งเคยเกรงกันว่าจะสูญหาย..วันนี้องค์ประกอบทุกส่วนมั่นคงหนักแน่นพร้อมที่จะสืบสานคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

เครดิตข้อมูลและภาพ :
กว่าจะเป็นโขนพระราชทาน
รำลึกถึง “โขนพระราชทาน” กว่าทศวรรษแห่งการฟื้นศาสตร์และศิลป์ของแผ่นดิน By สมชัย อักษรารักษ์
-Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
-อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน All about Khon
-โขน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติรายการแรกของประเทศไทย
-ยูเนสโก ประกาศให้ โขน ขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้