fbpx
วังบางขุนพรม

“วังบางขุนพรหม” สถาปัตยกรรมชิ้นเอก หนึ่งในวังที่สวยที่สุดของไทย

TPM ท่องโลก เที่ยวไทย “ต้องไป..ถึงรู้” by @P’Taak

ถ้าให้เอ่ยถึงวังที่มีสถาปัตยกรรมความสวยงามคลาสสิค หลายคนต้องนึกถึง “วังบางขุนพรหม” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ทูลกระหม่อมบริพัตรของชาววังบางขุนพรหม) เป็นชื่อแรกๆ ด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานกับลวดลายศิลปะแบบนีโอ-บาโรก สมบัติชาติอันเลอค่าชิ้นเอกแห่งนี้ รอให้เราเข้าไปสัมผัสได้ด้วยสายตาตัวเอง

..หลายคนที่ผ่านถนนสามเสน อาจสะดุดตากับความโดดเด่นของวังตั้งแต่ประตูใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ที่เป็นเสาก่ออิฐถือปูนตกแต่งด้วยลวยลายวิจิตรของปูนปั้นสถาปัตยกรรมบาโรก บานประตูเหล็กหล่อที่ตั้งทแยงสี่แยกบางขุนพรหม ซึ่งปัจจุบัน วังบางขุนพรหม อยู่ในความดูแลของแบงก์ชาติ และได้ทำการบูรณะเล็ก-ใหญ่มาหลายครั้ง เพื่อให้คงความงดงามทรงคุณค่าดังที่เคยเป็นมาในอดีต..และแบงก์ชาติได้ยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เงินตราของไทย และประวัติของวังบางขุนพรหม

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินผืนนี้ที่มีขนาด 33 ไร่ แก่ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” พระราชโอรส ลำดับที่ 33 ซึ่งพระมารดา “สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี” ทรงเป็นพระธุระจัดการขณะที่ทูลกระหม่อมฯ ยังทรงศึกษาอยู่ที่ยุโรป ระยะแรกการออกแบบอยู่ในความรับผิดชอบของ คาร์ล ซันเดรคซกี และเปาโล เรเมดี โดย มาริโอ ตามาญโญ (ผู้ออกแบบสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม, สะพานมัฆวานรังสรรค์, วังปารุสกวัน, ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ, สถานีรถไฟกรุงเทพ, บ้านพิษณุโลก (เดิมชื่อ บ้านบรรทมสินธุ์), พระตำหนักเมขลารุจี ภายในพระราชวังพญาไท, ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น) เป็นผู้ช่วย ในภายหลัง มาริโอ ตามาญโญ จึงเข้ามารับผิดชอบงานด้านสถาปัตยกรรมเต็มตัว และนายคาร์โล อันเลกรี ดูแลงานด้านวิศวกรรม วังบางขุนพรหมสร้างเสร็จและมีพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2449

ความลงตัวของสถาปัตยกรรมยุโรปแบบผสมผสาน

ช่วงเวลาที่มีการออกแบบวังบางขุนพรหม สถาปัตยกรรมในยุโรปอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม สามารถผลิตวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ เปลี่ยนแปลงการออกแบบและวิธีการก่อสร้างได้ ดังนั้นสถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหมจึงเป็นโครงสร้างก่ออิฐฉาบปูนผนังรับน้ำหนัก มีโครงสร้างหลังคาไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องว่าว หลังคาเป็นทรงมังซาร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นหลังคาสองชั้นซ้อนกันโดยมีความลาดของหลังคาแต่ละชั้นไม่เท่ากัน หลังคาชั้นล่างมีหน้าต่างเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ดอร์เมอร์ ยื่นออกจากหลังคาห่างกันเป็นระยะเท่าๆ กัน

กล่าวได้ว่า ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหม มีเอกลักษณ์การตกแต่งผนังปูนปั้นอันวิจิตร ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกทั้ง นีโอ-บารอก โรโคโค อาร์นูโว และ อาร์ตเดโค ทำให้วังบางขุนพรหม ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวังที่สวยที่สุดเมืองไทย และเป็นวังที่สถาปัตยกรรมบารอกและโรโคโค ที่สมบูรณ์ที่สุด

ตกแต่งวิจิตร เคยรับรองบุคคลสำคัญ

โถงบันไดสง่าอลังการ ตกแต่งตระการตาด้วยบานประตูไม้แกะลาย ฝ้าเพดานไม้ฉลุลาย
ความงดงามในการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง โดยเฉพาะความโดดเด่นที่สุด เช่น บานประตูไม้แกะลายเส้นบนกึ่งกลางของลูกฟักไม้ ช่องแสงเหนือประตูปิดด้วยแผ่นไม้ฉลุลาย ฝ้าเพดานตกแต่งด้วยแผ่นไม้ฉลุลายและเน้นลวดลายด้วยการเขียนสีทอง พื้นภายในห้องต่างๆ เป็นพื้นไม้สักปูเข้าลิ้น ขัดมัน โถงบันไดที่สง่างามงามปลายด้านล่างกว้างแล้วค่อยๆ เล็กสอบขึ้นบนชานพักแยกซ้าย-ขวา

ภายในมีห้องสีชมพู และห้องสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นห้องที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหรา วิจิตร และมีชื่อเสียงที่สุด นอกจากเคยเป็นที่บำเพ็ญพระกุศลแล้ว ยังเป็นห้องรับแขกสำคัญ ซึ่งเคยรับรอง “ในหลวง” หลายพระองค์ รวมถึงพระราชอาคันตุกะระดับโลกอย่าง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร มาแล้ว

ในห้องนี้มีลวดลายปูนปั้นที่สุดพิเศษกว่าห้องอื่นๆ มีการปิดทองคำเปลวที่เส้นลายประดับทำให้แลดูทรงคุณค่าสง่างามมากขึ้น ปัจจุบันใช้จัดแสดง ภาพเขียน ภาพถ่ายเจ้านายในราชสกุลบริพัตร สิ่งของ เครื่องใช้ในวังบางขุนพรหม เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ตำหนักสมเด็จ

ลักษณะการก่อสร้างมีความงดงามอ่อนหวานแบบนวศิลป์ โดย คาร์ล เดอริง สถาปนิกชาวเยอรมัน (ผู้ออกแบบพระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี และวังวรดิศ ถนนหลานหลวง) มีลักษณะ ศิลปะสถาปัตยกรรม แบบอาร์ตนูโว และอาร์ตเดโค จุดเด่นที่หลังคาเป็นแบบจั่วสูงหัวตัด ตั้งอยู่ทางตะวันตกของตำหนักใหญ่ หันหน้าออกไปทางแม่น้ำ ลักษณะอาคารเป็นแบบคฤหาสน์ในชนบทหรือชานเมืองเยอรมนีในสมัยนั้น สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2456

ผังของตำหนักใหม่มีลักษณะที่เหมาะสมแก่การประทับพักผ่อนส่วนพระองค์ของเจ้านายฝ่ายใน ชั้นล่างเป็นโถงกลาง ด้านหน้าเป็นเฉลียงปูหินอ่อน เรียกว่าท้องพระโรง ทิศใต้มีห้องประทับทรงสบายและห้องสรง ส่วนทิศเหนือสันนิษฐานว่ามีห้องเสวยและห้องพักเครื่อง สำหรับชั้นบนตรงกลางเป็นห้องบรรทมของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ติดกันมีห้องแต่งพระองค์และห้องสรง ทางใต้เป็นห้องประทับพักผ่อน ทางตะวันตกมีสะพานเชื่อมไปยังตำหนักใหญ่ และโถงบันไดลงไปชั้นล่าง ส่วนทางตะวันออกเป็นเฉลียงยาว รับลมแม่น้ำ..

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ได้กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อออกมาประทับที่ตำหนักแห่งนี้เป็นการถาวรสืบมา

เรื่องราวความน่าสนใจของวังบางขุนพรหมไม่สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดได้ทั้งหมด..หลังโควิดคลี่คลาย แบงก์ชาติ โดยศูนย์การเรียนรู้ ได้เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใครสนใจไปสัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์และความงามของสถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหมด้วยสายตาตัวเอง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 3 รอบ โดยจะมีวิทยากรนำชมและอธิบายรายละเอียด ซึ่งเราสามารถเก็บภาพความประทับใจกันได้อย่างเต็มอิ่ม..

สำรองล่วงหน้าทางออนไลน์ https://services.botlc.or.th/PhysicalDistancing

ข้อมูลอ้างอิง :
พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประกาศเรื่องเปิดให้เยี่ยมชม โดยศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ