fbpx
ปก พฤกษา

พฤกษา เร่งแตกธุรกิจใหม่สร้างความยั่งยืน รับตลาดอสังหาฯแข่งขันสูง

การเติบโตได้อย่างยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายของหลายๆ ธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พยายามใช้คำนี้บ่อยมากในระยะหลัง แม้กระทั่งบิ๊กเนมอย่าง พฤกษา โฮลดิ้ง ก็พยายามสานต่อภารกิจสู่ความยั่งยืนเชื่อมโยงจากธุรกิจเดิมคือการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับธุรกิจใหม่ที่เริ่มขยายออกไปทั้งธุรกิจสุขภาพ คอร์ปอเรท เวนเจอร์ และล่าสุดก็คือธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งธุรกิจใหม่ๆ ที่ขยายตัวออกไปต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับ พฤกษา โฮลดิ้ง ในภาวะที่พื้นที่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มสั่นคล่อนมากขึ้นทุกๆ วัน

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พฤกษามุ่งดำเนินงานเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิด “พฤกษา…ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต Tomorrow. Reimagined.” โดยให้ความสำคัญต่อ 3 แกนหลักที่เปลี่ยนแปลงตามเมกะเทรนด์โลก ได้แก่ เทรนด์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง (lifestyle Disruption) เทรนด์ความใส่ใจเรื่องสุขภาพ (Health & Wellness) และการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยวางกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นโมเดลธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขยายธุรกิจพลังงานทดแทนเสริมจุดแข็งพฤกษา
ล่าสุดได้จับมือร่วมกับ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ “บริษัท ปัน นิวเอนเนอจี จำกัด” สัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เพื่อต่อยอดและสร้างจุดแข็งใหม่สำหรับโครงการของพฤกษา โดยมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ จำหน่ายและติดตั้ง Solar Roof มูลค่าโครงการร่วม 1,500 ล้านบาท ทั้งการขายติดตั้งแบบเบ็ดเสร็จ ( EPC) และการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ มีผลตอบแทนส่วนลดค่าไฟในระยะยาว (PPA) เพื่อช่วยลูกค้าลดเงินลงทุน และได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยมีการคิดค่าไฟฟ้าที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ด้วย และสามารถให้บริการลูกค้าได้กว่า 12,500 ครัวเรือน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 126,000 ตัน ภายในระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีแผนทดลองโมเดลหมู่บ้านที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการขยายสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีจัดเก็บพลังงานในอนาคตอีกด้วย ถือเป็นการสร้างประโยชน์ต่อลูกบ้านในการประหยัดค่าไฟฟ้าและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล – อุเทน โลหชิตพิทักษ์

เร่งขยาย วิมุต เวลเนส ตอกย้ำ Health Living
นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจสุขภาพ (Health & Wellness) หลังจากเปิดให้บริการโรงพยบาลวิมุตมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ล่าสุดในไตรมาส 2 ปี 2565 มีรายได้ในส่วนโรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน 203 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อน 26% นอกจากนี้ ยังขยายบริการไปนอกโรงพยาบาล เพื่อช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพของคนไทย โดยใช้เงินลงทุน 90 ล้านบาท ในการสร้างศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุ “วิมุต เวลเนส” แห่งแรก

วิมุต เวลเนส ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา วงแหวน โครงการที่อยู่อาศัยที่ออกแบบบ้านให้เป็นบ้านเพื่อสุขภาพ (Healthy Home) สำหรับทุกวัย ไปจนถึงให้บริการดูแลสุขภาพถึงบ้านด้วยแพทย์เฉพาะทาง รวมทั้งบริการผ่านระบบออนไลน์ (Telemedicine) เพื่อจะสร้างโครงการให้เป็นชุมชนสุขภาพดี (Wellness Living Community) ภายใต้แนวคิดของ “อยู่ดี มีสุข” (Live Well, Stay Well) เป็นจุดเริ่มต้นของการมีชีวิตที่ดีทั้งในวันนี้และอนาคต โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ในรูปแบบโรงพยาบาลกายภาพบำบัด บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และมีบริการดูแลผู้สูงอายุ

“ถือเป็นการลงทุนต่อยอดบริการด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์การเข้าถึงบริการสุขภาพตั้งแต่อยู่ที่บ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการ และชุมชนใกล้เคียงอุ่นใจ เพราะมีโรงพยาบาลอยู่ใกล้แค่เอื้อม เป็นอีกหนึ่งสเต็ปที่เข้ามาเติมเต็มโมเดลการพัฒนาบ้านสุขภาพดีของพฤกษาที่มุ่งผสานความแข็งแกร่งจาก 2 ธุรกิจได้แก่ เรียลเอสเตท และ เฮลท์แคร์ โดยมีแผนจะเปิด ซีเนร่า วิมุต เฮลท์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับเจเอเอสแอสเซ็ท เปิดเป็นศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุ โดยตั้งอยู่ภายในพื้นที่โครงการ ซีเนร่า ซีเนียร์ เวลเนส ถนนคู้บอน เพิ่มอีก 1 แห่ง โดยตั้งเป้าขยายสาขา วิมุต เวลเนส ปีละประมาณ 3-4 แห่ง” นายแพทย์กฤตวิทย์ กล่าว

ขณะที่นายอุเทน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Prop Tech และ Health Tech ผ่านโครงการการลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพ ( Corporate Venture) โดยในครึ่งปีแรก ได้ลงทุนใน “ Naluri (นัลลูรี่)“ ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพดิจิทัล (Digital Preventive Wellness ) เฮลท์เทคจากมาเลเซีย และ “AMILI” บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลชีพในระบบทางเดินอาหารที่มีความแม่นยำแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสิงคโปร์

“ทั้งหมดคือการดำเนินงานของกลุ่มพฤกษาที่เน้นการขยายโอกาสในธุรกิจใหม่โดยใช้กลยุทธ์การผนึกพลังร่วมกับพันธมิตรภายในและภายนอก ก่อเกิดการต่อยอดธุรกิจและบริการใหม่ที่สามารถส่งเสริมการใช้ชีวิตและ-พัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยดีที่สุดให้กับคนไทยทุกคน” นายอุเทนกล่าว

ยอดขาย-รายได้ลด ฐานที่มั่นพฤกษาเริ่มสั่นคลอน
นอกจากทั้งหมดจะเป็นการขยายโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ให้กับพฤกษาแล้วยังหมายถึงการลดความเสี่ยงจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่วันนี้พฤกษามีคู่แข่งขันรอบด้านที่พร้อมจะช่วงชิงส่วนแบ่งที่อยู่บนหน้าตักของพฤกษาได้ทุกเมื่อ ถ้าดูจากผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2565 แล้วจะพบว่า พฤกษา บริษัทมียอดขายรวม 11,686 ลดลง 2,479 ล้านบาท หรือลดลง 17.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายลดลงจากกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม ที่ลดลง 1,729 ล้านบาท หรือลดลง 21.7% และ 816 ล้านบาท หรือลดลง 30.2% ตามลำดับ ขณะที่ยอดขายบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 66 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.9% จากตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่มีรายได้รวมจำนวน 10,780 ล้านบาท ลดลง 2,442 ล้านบาท หรือลดลง 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากทาวน์เฮ้าส์ลดลง 1,922 ล้านบาท หรือลดลง 27.7% รายได้จากบ้านเดี่ยวลดลง 818 ล้านบาท หรือลดลง 26.1 และรายได้จากคอนโดมิเนียมลดลง 345 ล้านบาท หรือลดลง 10.9% และยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี โดยมียอดขายที่ 31,000 ล้านบาท เติบโต 23% และรายได้ที่ 33,000 ล้านบาท หรือเติบโต 18% โดยในครึ่งปีแรกเปิดโครงการใหม่ไปได้ 8 โครงการ มูลค่ารวม 3,627 ล้านบาท จึงต้องเร่งสปีดเปิดโครงการใหม่ในครึ่งปีหลังรวม 23 โครงการ เป็นทาวน์เฮาส์ 15 โครงการ บ้านเดี่ยว 5 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 3 โครงการ มูลค่ารวม 12,700 ล้านบาท

จะเห็นว่าในครึ่งปีแรกทั้งรายได้ยอดขายของพฤกษาลดลง โดยเฉพาะตลาดที่พฤกษาเคยแข็งแรงที่สุดนั่นก็คือตลาดทาวน์เฮ้าส์กลับมียอดขายและรายได้ที่ลดลงอย่างมาก นอกจากจะเปิดโครงการใหม่ได้น้อยแล้ว สินค้าที่มีอยู่ยังถูกคู่แข่งสำคัญช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ไม่ว่าจะเป็น เอพี ไทยแลนด์ แสนสิริ และ เฟรเซอร์ รวมถึงบริษัทรายกลาง-เล็กที่มีความแข็งแรงในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าทาวน์เฮ้าส์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการซื้อของลูกค้ากลุ่ม

พฤกษาพยายามแก้เกมด้วยการรีดีไซน์แบบบ้านในกลุ่มราคา 2 ล้านบาท ให้สอดรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังคาดหวังว่าแบ็คล็อกที่รอโอนในไตรมาส 3-4 เพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ในปีนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท และการเปิดตัวโครงการใหม่อีก 23 โครงการ มูลค่ารวม 12,700 ล้านบาท ในช่วงที่ตลาดเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนจะช่วยให้บริษัทสามารถกลับสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในท้ายที่สุด