fbpx
สินเชื่อ

กนง.คิกออฟดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้บริโภคเตรียมรับมือผ่อนบ้าน-คอนโดเพิ่ม

เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ ในที่สุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายจะขยับจาก 0.50% เป็น 0.75 ต่อปีในทันที เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

โดยที่คณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ซึ่งคะแนนเสียงทั้งหมด 7 เสียง ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะ 1 เสียงที่เห็นต่างนั้นมีความเห็นว่าควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เสียด้วยซ้ำ

การที่กนง.ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2561 หรือเกือบ 4 ปีมาแล้วเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด -19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ตามการผ่อนคลายนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศและความกังวลในการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว แต่ผลกระทบต่อแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีจำกัด อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่า ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจมากและเร็วกว่าคาด ซึ่งคณะกรรมการ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด 

คณะกรรมการ ประเมินว่า การที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

คาดสิ้นปี 65 ปรับขึ้นเป็น 1-1.25%
ธอส.ประกาศตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน

เมื่อดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้นแล้วมีคำถามตามมาว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 ซึ่งกนง.จะมีการประชุมอีก 2 ครั้งทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นเช่นไร เสียงจากภาคการเงินส่วนใหญ่ประเมินว่า 2 ครั้งที่เหลือน่าจะไม่รอด โดยกนง.จะปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยที่ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมทั้ง 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีครั้งละ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 1.25%

ขณะที่ Krungthai COMPASS ของธนาคารกรุงไทย มองว่า เป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25-0.50% ในช่วงที่เหลือของปี 2565

เช่นเดียวกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่ากนง. อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.00-1.25% ณ สิ้นปี 2565

อย่างไรก็ตาม ในทันทีที่กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก็ประกาศในทันทีว่า จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไปจนถึงสิ้นปี โดยนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า

ธอส.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุดอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 เพื่อช่วยให้ลูกค้าเงินกู้ของธนาคารที่มีจำนวนเงินสินเชื่อคงค้างในปัจจุบันมากกว่า 1.52 ล้านล้านบาท ได้มีเวลาปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต

ขณะที่เดียวกัน ธนาคารพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาด เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับธนาคารในการนำเงินไปปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่ต้องการมีบ้าน และหากในปี 2566 ธนาคารมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.15-0.25% ต่อปี จะไม่ส่งผลให้ลูกค้าต้องผ่อนชำระเงินงวดเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารได้จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มี  Buffer หรือการคำนวณเงินงวดผ่อนชำระเผื่อกรณีมีการปรับอัตราดอกเบี้ยไว้ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว

ส่วนธนาคารรัฐรายอื่นๆ ก็คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ธนาคารรัฐเป็นหัวหอกในการตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุดเท่าที่แต่ละแห่งจะทำได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ ก็ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย เช่น กสิกรไทยอาจจะตรึงดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่รอบหน้าคงต้องปรับขึ้น แบงก์กรุงเทพจะพยายามให้กระทบกับลูกค้าน้อยที่สุด เป็นต้น

ชี้ดอกเบี้ยขึ้น วงเงินกู้ลด ค่าผ่อนเพิ่ม 4-6%
แนะคนซื้อบ้านปรับตัว เพิ่มรายได้ ปรับราคาลง

สำหรับในภาคอสังหาริมทรัพย์ แน่นอนว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อผู้บริโภคทั้งในส่วนของคนที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ และคนที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้านและกำลังจะขอสินเชื่อ ขณะที่ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการก็จะปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะจะมีภาระการผ่อนชำระที่มากขึ้น ขณะที่รายได้ที่เท่าเดิมจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ในราคาที่ต่ำลง เพราะความสามารถในการผ่อนลดลง

แต่หากมองในแง่ดี แม้ดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับตัวสูงขึ้นถึง 0.5% เป็นอัตรา 1% ภายในสิ้นปี 2565 แต่อัตราดอกเบี้ยก็ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดอยู่ที่ 3.5% โดยรวมจึงยังถือว่า ช่วงเวลานี้เป็นยังคงเป็นช่วงที่ปัจจัยหลายๆ อย่างส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย” นายหัสกร บุญยัง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ให้ความเห็น

สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยทุกๆ 1% จะส่งผลต่อการผ่อนบ้านอยู่ที่ประมาณ 8% ในปีนี้ถ้าดอกเบี้ยมีโอกาสปรับขึ้น 0.50-0.75% ก็จะต้องผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น 4-6% ซึ่งจะกระทบทั้งคนที่กำลังจะกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม ก็จะกู้ได้ยากขึ้นหรือได้วงเงินกู้น้อยลง ซึ่งคาดว่าทั้งในปีนี้และปีหน้าดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นคนที่คิดจะซื้อบ้านอาจจะต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้เพิ่มขึ้น การหาคนมากู้ร่วม หรือไม่ก็ต้องลดราคาบ้านที่ต้องการซื้อลง เป็นต้น