รัฐเตรียมจัดยาชุดใหญ่กระตุ้นภาคอสังหาฯ มหาดไทยสวมหัวใจสิงห์ เตรียมชงครม.เปิดทางต่างชาติหอบเงินลงทุน 40 ล้านซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้ 1 ไร่ ในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต แต่ยังขอคงโควตาต่างชาติซื้อคอนโดได้ไม่เกิน 49% พร้อมพิจารณาขยายมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองบ้าน ได้หมด 3 ล้านบาทแรก
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในงานสัมมนา Property Inside 2022 “ทางรอดอสังหาฯ” หลังโควิด-ไฟสงคราม จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ในเร็วๆ นี้จะกระทรวงมหาดไทยจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยได้ในเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ โดยจะต้องนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยรวมกันมากกว่า 40 ล้านบาทอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น
การออกประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay)
ประกอบด้วย ผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยไปศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน
ทั้งนี้ ได้ยึดต้นแบบมาจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยการออกเป็นพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 เปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือครองอสังหาริมทรัพย์ โดยจะต้องเอาเงินมาลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท นาน 3 ปี ถึงจะมีสิทธิครอบครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ ในพื้นที่กทม.และพัทยา และออกพ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 เพื่อขยายเพดานการถือครองกรรมสิทธ์ห้องชุดของคนต่างชาติ โดยมีกำหนดเวลา 5 ปี
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการขยายสัดส่วนการซื้ออาคารชุดของต่างชาติเป็น 75% จากปัจจุบันให้ต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ไม่เกิน 49% แต่ถ้าดูตัวเลขการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติในขณะอยู่ที่ประมาณ 7% ยังถือว่าห่างไกลจาก 49% อยู่มาก แต่ยอมรับว่าบางพื้นที่ เช่น จังหวัดชลบุรี บางพื้นที่มีต่างชาติซื้อคอนโดเต็ม 49% แต่ไม่ได้หมายถึงทั้งหมด ดังนั้นการที่จะขยายสัดส่วนให้เกิน 49% ควรจะดูไปอีกสักระยะถ้ามีการซื้อในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นก็ค่อยพิจารณาในโอกาสต่อไป
สำหรับเรื่องของมาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนองจะต้องมีการหารือกับทุกฝ่าย เพราะการออกมาตรการจะกระทบกับรายได้ของท้องถิ่น โดยมีข้อเสนอให้ปรับเงื่อนไขจากที่กำหนดให้ลดค่าโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ทำให้คนซื้อบ้านราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทไม่ได้ประโยชน์ โดยให้เปลี่ยนเป็นใช้มาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยใน 3 ล้านบาทแรก ซึ่งทุกคนจะได้หมดโดยไปกำหนดเพดานว่าจะให้ถึงบ้านระดับราคาเท่าไหร่ ซึ่งจะมีการพูดคุยกันว่าถ้าปรับเงื่อนไขเป็นแบบนี้แล้วจะเกิดผลกระทบกับท้องถิ่นอย่างไรบ้าง รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมโนและจดจำนองให้กับการรีไฟแนนซ์ด้วยเช่นกัน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีสัดส่วนประมาณ 8-9% ของ จีดีพี และถือเป็นเครื่องยนต์ที่ 3 ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต่อจากการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้เป็นมาตรการสนับสนุนใน 2 เรื่อง ก็คือเรื่องดอกเบี้ยกับมาตรการภาษี
“สิ่งที่เราทำมาโดยตลอดก็คือการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าธรรมเนียมการจดจำนองซึ่งเป็นมาตรการที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานพอสมควรซึ่งสามารถจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการโอนการจำนองได้พอสมควร และในปีนี้ก็ได้ขยายไปถึงการโอนบ้านมือสองให้ด้วย กับอีกเรื่องหนึ่งเป็นมาตรการของทางธนาคารแห่งประเทศไทยในการผ่อนคลายมาตรการ LTV ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะหมดอายุในสิ้นปีนี้ ซึ่งได้เคยเรียนไปแล้วว่าภาครัฐจะให้การดูแลใน 2 เรื่องนี้ จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่ง” นายอาคมกล่าว