fbpx
1 e1586580364273

ธอส.อัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2 หมื่นล้าน กระตุ้นอสังหาฯโค้งสุดท้าย

ธอส.กระตุ้นตลาดอสังหาฯช่วงโค้งสุดท้าย เพิ่มวงเงิน 20,000 ล้าน ปล่อยกู้ซื้อบ้าน-คอนโดดอกเบี้ยต่ำปีแรก 2.75% วงเงินไม่เกิน 3 ล้าน พร้อมประกาศผลดำเนินงาน 9 เดือนปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 1.6 แสนล้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ได้ขยายกรอบวงเงินสินเชื่อโครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ ปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 70,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมียอดอนุมัติ 47,045  ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 2.75% ต่อปี ให้กู้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาท/เดือน และไม่เคยมีประวัติการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับ ธอส. หรือสถาบันการเงินอื่น

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.99% ต่อปี นาน 4 ปีแรก เงินงวดคงที่ 84 งวดแรก ( 7 ปี ) ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน Mobile Application : GHB ALL ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เป็นต้นมา

ล่าสุด ณ วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2564 มีลูกค้าลงทะเบียนเพื่อรับรหัสเข้าร่วมโครงการแล้ว 58,955 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 70,746  ล้านบาท มีลูกค้าที่เอกสารพร้อมและยื่นกู้ที่สาขาของธนาคารแล้ว 1,976 ราย วงเงินสินเชื่อ 1,688 ล้านบาท โดยที่ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 1,388 ราย วงเงินสินเชื่อ 1,129 ล้านบาท

นายฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน แต่ธอส.ยังสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 166,173 ล้านบาท จาก 117,802 บัญชี เพิ่มขึ้น 6.53% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็น 77.06% ของเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2564 ที่ 215,641 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,408,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.66% จากสิ้นปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 1,455,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.42% และมีเงินฝากรวม 1,231,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.03% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีจำนวน 63,723 ล้านบาท คิดเป็น 4.52% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตลาด (สิ้นปี 2563 ธอส.มี NPL อยู่ที่ 3.75%)

ทั้งนี้ ธอส.ได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจำนวย 108,201 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 169.80% โดยยังคงมีกำไรสุทธิตามตัวชี้วัดของธนาคารที่ 8,966 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่ง ณ เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 15.36% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ 8.50%

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่อง ยังคงเกิดจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธอส.และมีปัจจัยเสริมจากการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ของผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุนในการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนต่ำลง รวมทั้งนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือประชาชน” นายฉัตรชัยกล่าว

ปัจจุบัน ธอส. ยังคงเป็นผู้นำในตลาดด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างกว่า 31.4% และมั่นใจว่าถึงสิ้นปี 2564 การปล่อยสินเชื่อใหม่จะเป็นไปตามเป้าหมาย 215,641 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของธนาคารยังคงเป็นไปตามเป้าหมายได้ เกิดจากการทำการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Marketing) ซึ่งธนาคารได้ทำ GHB Data Analytics นำฐานข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี เพื่อหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สนใจใช้บริการผลิตภัณฑ์ของธนาคารทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น