fbpx
Render view 11

วัน แบงค็อกxเอสซีจี ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างอย่างยั่งยืน

วัน แบงค็อกผนึก เอสซีจี ร่วมบริหารการก่อสร้างโครงการแบบยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน 

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ผู้พัฒนาโครงการ “วัน แบงค็อก” กล่าวว่า ในฐานะที่วัน แบงค็อก คือโครงการระดับมาสเตอร์พีซที่กำหนดมาตรฐานใหม่ในด้านการออกแบบ คุณภาพ ความยั่งยืน และการใช้ชีวิตอย่างสมดุลในประเทศไทย เราจึงร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับเอสซีจี ในการสร้างคุณค่าด้วยการวางแนวปฏิบัติด้านการก่อสร้างที่ยั่งยืนภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

ความร่วมมือกับเอสซีจีครั้งนี้ ช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถดูแลจัดการเศษวัสดุจากการก่อสร้างอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดการพัฒนาและการดำเนินการของโครงการ วัน แบงค็อก สอดคล้องกับปณิธานของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ที่ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2593

ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ โดยการบูรณาการแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปยังห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด นับตั้งแต่การลงทุน ไปจนถึงการออกแบบ การพัฒนา และการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นที่การลดคาร์บอน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่ทันสมัย

ด้านนายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า จากการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างในปัจจุบัน ส่งผลให้เศษวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เอสซีจี ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ได้คิดค้นสูตรส่วนผสมใหม่ในการผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปจากคอนกรีตที่เหลือใช้ ที่นำมาจากการก่อสร้างในโครงการวัน แบงค็อก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้ง รวมถึงเป็นความร่วมมือในการพัฒนาแผนการจัดการขยะจากการก่อสร้างโครงการแบบองค์รวม ตามเจตนารมย์และเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน คือ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง สอดรับกับการเจริญเติบโตของประเทศต่อไปในอนาคต

เศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็มที่ถูกบดย่อยและนำกลับมาใช้ใหม่

กระบวนการรีไซเคิลเศษวัสดุก่อสร้างในโครงการวัน แบงค็อก ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการจัดการ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทาง CPAC Smart Structure และ CPAC Construction Solution ภายใต้เอสซีจี โดยนำเทคโนโลยีในการบดย่อยหัวเสาเข็มที่เหมาะกับการก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ ในรูปแบบการผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปจากโรงงานของ CPAC Smart Structure ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายโดย เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น เพื่อนำไปสร้างส่วนหน้าอาคารและผนังอาคารในโครงการวัน แบงค็อก

การวางแผนการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดขยะและฝุ่นจากการก่อสร้าง โดยการนำเศษวัสดุจากการก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งกำหนดวิธีการก่อสร้างที่สามารถรื้อถอนในภายหลังได้ และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างที่สร้างขยะน้อยลง ตลอดจนทำให้สามารถลดการใช้ทรัพยากรคน ลดเศษคอนกรีตที่หน้างาน ลดฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง จากกระบวนการดังกล่าวช่วยลดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 5.94 ตันหรือเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตก๊าซออกซิเจนจากต้นไม้ 540 ต้น

อีกหนึ่งความร่วมมือที่ยังคงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญคือการพัฒนาแผนการจัดการขยะและมลพิษจากการก่อสร้างโครงการแบบองค์รวม โดยวัน แบงค็อกได้ร่วมกับเอสซีจี ซึ่งมี CPAC Construction Solution และบริษัท ขอร์ รีไซเคิล จำกัด เป็นผู้ดูแลการจัดการคัดแยกขยะต่าง ๆ ทั้งขยะจากการก่อสร้าง ขยะอันตราย และเศษอาหารอย่างเป็นระบบ โดยนำเทคโนโลยีการแสดงผลข้อมูลตามเวลาจริง ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามจำนวนขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเพื่อนำไปบริหารจัดการให้ไซต์ก่อสร้างมุ่งสู่แนวคิดขยะเป็นศูนย์ได้สำเร็จ

ความร่วมมือระหว่างโครงการวัน แบงค็อก และ เอสซีจี ครั้งนี้ ยังมุ่งแก้ปัญหาทรัพยากรส่วนเกินและด้อยมูลค่าที่เกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และปัญหาการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการสร้างอาคาร ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในโลกปัจจุบัน แนวทางการดำเนินการจากการร่วมมือกันนี้จะช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างมีความยั่งยืนมากขึ้นและเดินหน้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับวัน แบงค็อก คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท พัฒนาโดยบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบไปด้วย อาคารสำนักงานแบบพรีเมี่ยมเกรดเอ จำนวน 5 อาคาร, ศูนย์การค้าระดับชั้นนำ, โรงแรมระดับลักชัวรี่ จำนวน 5 แห่ง, คอนโดมิเนียมหรูอีกจำนวน 3 โครงการ ทั้งยังมีพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อทั่วถึงกันทั้งโครงการ พื้นที่ทั้งหมดมีขนาด 104 ไร่ บนถนนวิทยุและพระราม 4

ตั้งเป้าเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการพัฒนาชุมชนแวดล้อม LEED Neighborhood Development นอกจากนั้น อาคารสำนักงานแบบพรีเมี่ยมเกรดเอทั้ง 5 อาคาร และอาคารที่พักอาศัยหนึ่งอาคาร ยังมุ่งสู่การก่อสร้างขึ้นภายใต้มาตรฐานอาคารระดับสากลอย่าง WELL Platinum เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในประเทศไทย โครงการพร้อมเปิดเฟสแรกในปี 2566 และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569