fbpx
FB cover 2021 02 26T142319.052

อนันดา ปลุกชีวิตคนเมือง “Urban Life Never Dies”

  • ซีอีโอ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” มั่นใจวิถีชีวิตคนเมือง คอนโดแนวรถไฟฟ้ายังไปต่อ

วิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป หลายคนอาจมองว่า วิถีแห่ง New Normal จะเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตแบบเดิม การทำงานที่บ้าน การเรียนหนังสือออนไลน์ สั่งอาหาร Delivery ออกกำลังกายแบบ Visual ต้องการพื้นที่ ต้องมีระยะห่าง ฯลฯ

ชีวิตคนเมืองจะเปลี่ยนไป  คนจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางมากมายเหมือนแต่ก่อน ต้องการพื้นที่การอยู่อาศัยที่กว้างกว่าเดิม  และด้วยวิถีแห่ง New Normal บ้านแนวราบนอกเมืองดูเหมือนจะตอบโจทย์มากกว่า คอนโดในเมือง

อนันดา

นั่นคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไปจริงแท้แน่หรือ กระแสของ Urbanization ซึ่งเป็นเทรนด์ในช่วงก่อนหน้าที่ทำให้คอนโดในเมืองขายดีเป็นเทน้ำเทท่ากำลังจะหายไปจริงหรือ วันนี้มาหาคำตอบกันกับ นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ที่ยังเชื่อมั่นเต็มร้อยว่า Urban Life Never Dies

ซีอีโอ อนันดา เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มนุษย์ยังคงอยากอยู่ในเมืองกันอยู่หรือเปล่า เราสนุกกับวิถีชีวิตแบบใหม่ ทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ สั่งอาหาร Delivery ไม่ต้องเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ต้องพบปะใครให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เราสนุกกับชีวิตแบบนี้จริงๆ หรือ

เราอยากสั่งอาหาร Delivery ใส่กล่องกินอยู่ที่บ้าน หรือเราอยากกินข้าวกับเพื่อน อยากถอดแมสออกมาพูดคุยกัน  ทานอาหารร้อนๆ ดื่มไวน์ ได้หัวเราะร่วมกัน หรือร้องไห้ร่วมกันในเวลาที่เศร้า หรือแม้แต่เด็กๆ ที่ต้อง learn from home ถือเป็น Gen ที่น่าสงสารที่สุด เพราะเขาต้องการ Human Interaction สำหรับการพัฒนาการของเขา แต่ต้องกลับมาเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน เชื่อว่า หลายๆ คนอยากกลับมาใช้ชีวิตในแบบที่เคยเป็น และอยากกลับไปอยู่ในสภาวะแบบเดิมให้เร็วที่สุด

นายชานนท์ ตั้งคำถามต่อว่า แล้วสมมุติว่า ถ้าโควิดไม่หายไปจากโลกใบนี้ล่ะ  เราเชื่อหรือเปล่าว่าเราจะอยู่อย่างนี้ได้ตลอดไป ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็คงต้องต่างคนก็ต่างย้ายออกไปอยู่ในต่างจังหวัด ไปอยู่ในพื้นที่ไกลๆ เป็น Simple Life  และ Business Model ของอนันดาที่ต้องการสร้างคอนโดแนวรถไฟฟ้า เพื่อชีวิตคนเมืองก็คงจะต้องเปลี่ยนไป หันไปสร้างรีสอร์ตในต่างจังหวัด ติดอินเทอร์เน็ตแรงๆ ไม่ต้องมาเจอกันตัวเป็นๆ  ไปเจอกันใน Visual แทน ซึ่งชีวิตก็คงไม่ถึงขนาดนั้น และคิดว่าเมื่อถึงเวลาโควิดก็ต้องจบ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางก่อนที่โควิดจะจบจะเกิดผลกระทบมากมายที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจ หากเราไม่สามารถ Balance และหาจุดที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาได้ ซึ่ง นายชานนท์ ขยายความว่า แนวทางแก้ปัญหาโควิดบนโลกใบนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบหนึ่งมองในเรื่องของ Economic Health ขณะที่อีกแบบหนึ่งให้ความสำคัญกับ People’s Health ซึ่งเราเลือกใช้แบบนี้

อนันดา

คำถามก็คือเราจะ Balance แนวทางในการแก้ปัญหา ในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้อย่างไร บางคนบอกว่าการเลือก People’s Health ในเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ระยะยาวบาดแผลจะเกิดขึ้นไปอีก 10-20 ปี ตราบใดถ้าเรายังล็อคไปเรื่อยๆ ไม่มี วีซ่าวัคซีน หรือพาสปอร์ตวัคซีน  ท่องเที่ยว ส่งออก ของเราก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ GDP ของเราก็ยังต่ำที่สุดในประเทศ Emerging Market และน่าจะต่ำที่สุดในเอเชียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นอะไรที่เราค่อนข้างที่จะกังวล

อย่างไรก็ตาม แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ยังมีให้เห็น ซึ่งทุกคนต่างก็คาดหวังว่าวัคซีนจะเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ ขณะที่พี่ใหญ่อย่างจีนสามารถแก้ปัญหาโควิดได้ดี และฟื้นตัวได้เร็วโดยในปีที่แล้ว GDP ยังโตได้ 2.3% และในปีนี้คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตสูงสุด 8.1% ก็น่าจะเป็นที่พึ่งพิงของเราได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิค ก็เริ่มฟื้นกลับมาในไตรมาส 4 ปีที่แล้วอยู่ที่ 22% และคาดว่าปีนี้จะกลับมาอยู่ที่ 64%  ขณะที่หุ้นไทย ก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาเช่นกัน

ขยับเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีตัวเลขหลายตัวที่บ่งบอกว่า Urban Life Never Dies

อนันดาเมื่อดูที่เทรนด์ของ Urbanization ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนย้ายมนุษย์เข้ามาอยู่ในเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่อง ในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือญี่ปุ่น มีอัตราของคนที่เข้าไปอยู่ในเมืองสูงถึง 90% โดยเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 50% ขณะที่จีนอยู่ในระดับใกล้ๆ 50% ส่วนประเทศไทยก็อยู่ประมาณกลางๆ โดยเฉลี่ย บริษัทใหญ่ๆ สถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่ของเมือง การเคลื่อนย้ายคนเข้าสู่เมืองก็คงจะไม่หยุดอยู่แค่วันนี้

มาที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมถือว่าค่อนข้างดีจนมาถึงปีที่แล้วเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจำนวนหน่วยการโอนบ้านและคอนโดลดลง แต่เป็นการลดลงที่ไม่ถึงขนาดต่ำติดดิน ขณะที่มูลค่าการโอนบ้าน-คอนโดในภาพรวม ลดลง 5% โดยที่คอนโดลดลงไป 10% ขณะที่บ้านลดลง 0.4%  ดูแล้วคอนโดก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ขณะที่ซัพพลายใหม่ในปีที่แล้ว คอนโดเปิดตัวลดลง ประมาณ 12% ขณะที่ซัพพลายในฝั่งของบ้านเพิ่มขึ้นจากดีมานด์ที่ต้องการซื้อจริง

แล้วจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการระบายสต๊อกออกไป จากข้อมูลเราพบว่า คอนโดในช่วงที่ยังไม่เกิดโควิดจะใช้เวลา 2.3 ปี  แต่เมื่อเกิดโควิดเมื่อปีที่แล้วจะใช้เวลา 3.6 ปี ถึงจะระบายสต๊อกได้หมดโดยไม่เติมของใหม่ ส่วนบ้านใช้เวลาระบายสต๊อก 3.3 ปี และ 3.4 ปี ตามลำดับ ข้อมูลนี้สำคัญมาก เพราะจะเห็นว่า ระยะเวลาในการระบายสต๊อกเก่าของคอนโดจะเร็วกว่าบ้าน และเมื่อรวมทุกๆ ดาต้าที่เรามีเอามาคำนวณหาระยะเวลาในการระบายสต๊อกคอนโดจะพบว่า ถ้าไม่เติมของใหม่ภายใน 2-3 ปี สต๊อกคอนโดจะหมดไปจากตลาด

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้มั่นใจมากขึ้นก็คือ เรายังมีการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนที่ต้องเรียกว่าเป็นการลงทุนใน Infrastructure ครั้งประวัติศาสตร์ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 3 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 9 ปี ไม่ต้องรอให้ถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน คือภายในปี 2030 เราจะมีสถานีรถไฟฟ้ามากกว่า 300 สถานี หรือก่อสร้างเฉลี่ยเดือนละเกือบ 2 สถานี โดยขณะนี้มีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการรวมแล้ว 128 สถานี โอกาสทางธุรกิจของอนันดาจึงยังคงมีอยู่

ขณะเดียวกัน กำลังซื้อต่างชาติซึ่งเป็นฐานสำคัญของตลาดคอนโดก็ยังคงมีความต้องการซื้อคอนโดในเมืองไทยอยู่เช่นกัน ถ้าดูจากตัวเลขยอดขายในปีที่ผ่านมาอาจจะลดลงมากถึง 89% แต่เป็นเพราะต่างชาติเดินทางเข้ามาซื้อไม่ได้ แต่ถ้าดูจากยอดการโอนก็ยังถือว่ายังมีการโอนต่อเนื่องแม้จะลดลงเล็กน้อยในปีที่ผ่านมาที่ -11% โดยที่จีนมีการซื้อขายสูงสุด

คนจีนยังคงมีอิทธิพลต่อตลาดอสังหาฯไทยอย่างมหาศาล ถ้าดูจากจำนวนประชากรที่มีกว่า 1,300 ล้านคน เทียบกับขนาดตลาดของเราที่มีอยู่ในระดับแสนหน่วย โดยที่ไทยเป็นประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่มากที่สุด และใน 3 ปีที่ผ่านมาไทยก็เป็นประเทศอันดับ 1 ที่คนจีนจะเลือกซื้ออสังหาฯ จึงคาดว่า เมื่อสามารถเดินทางได้อีกครั้งต่างชาติโดยเฉพาะจีนจะกลับมาซื้ออย่างถล่มทลายแน่นอน เพราะสถานการณ์โควิดได้ทำเห็นว่า ระบบสาธารณสุขของไทยอยู่ในระดับ เวิลด์คลาส เช่นเดียวกับ เรื่องของการท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของโลก

อนันดาทั้งหมดทั้งมวลมาขมวดปมอยู่ที่ตัวเลขการดำเนินงานของอนันดาในปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แม้ในสถานการณ์โควิดและกระแสของ New Normal แต่ Urban Life Never Dies โดยบริษัทมีรายได้จากการโอนกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท มียอดขายกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยมียอดขายรอรับรู้รายได้อยู่กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท สามารถปิดการขายคอนโดไปได้ 9 โครงการ พร้อมกับส่งมอบโครงการพร้อมอยู่ที่เสร็จใหม่อีก 7 โครงการ ส่วนปี 2564 บริษัทพร้อมกับพันธมิตรจะเปิดโครงการใหม่เพิ่ม 5 โครงการ มูลค่ารวม 24,422 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดโอนรวม 16,008 ล้านบาท ยอดขายรวมที่ 18,570 ล้านบาท

สุดท้ายนายชานนท์ เชื่อมั่นว่า “เมืองยังคงไปต่อ” เพราะเมือง คือ ศูนย์รวมแห่งการพัฒนาด้านการศึกษาแหล่งความรู้ แหล่งงาน  องค์กรชั้นนำ จุดกำเนิดของ Trend Setter & Lifestyle  ในทุกยุคทุกสมัย การเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ คือสาระสำคัญของคนเจนวาย – มิลเลนเนียลที่เป็นพลังสำคัญช่วยผลักดัน สร้างสรรค์ และพัฒนาเรื่องราวที่จะสะท้อนถึงสีสันของเมืองนี้

“มั่นใจว่าคนเมืองต้องกลับมาใช้ชีวิตในเมือง ปรับเปลี่ยนวิกฤติที่ได้มาเป็นการเรียนรู้ขับเคลื่อนพลังในการพัฒนาต่อยอด เพื่อให้คนเมืองได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย เติบโตและก้าวต่อไปด้วยกันด้วยพลังกายใจที่ดี ให้เมืองของเราได้ไปต่อ  “Urban Life Never Dies” รวมถึงมั่นใจในศักยภาพคอนโดติดรถไฟฟ้า ที่ยังคงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของการใช้ชีวิตคนเมืองได้อย่างไร้ขีดจำกัด นายชานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม
-อนันดา กางแผนปี 64 ผุดคอนโดใหม่ 5 โครงการ 2.4 หมื่นล้าน

ติดตามช่อง Property Mentor Chanel ทาง YouTube

Property Mentor Line Official: https://lin.ee/nE9XYOo4