fbpx
สินเชื่อบ้าน ธอส.

สินเชื่อบ้าน ปี 64 ธอส.พร้อมปล่อยกู้ 2.15 แสนล้าน

ปี 64 ธอส.วางเป้าเปล่อย สินเชื่อบ้าน 2.15 แสนล้าน กดดอกเบี้ยต่ำ สร้างโอกาสให้คนไทยมีบ้านง่ายขึ้น พร้อมเดินหน้าสู่ Digital Service Bank เต็มรูปแบบ 

สินเชื่อบ้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ปี 2564 ธอส. ยังคงเดินหน้าแนวคิด “Be Simple, Make it Simple” หรือการทำให้คนไทยเข้าถึงการมีบ้านได้ง่ายๆ กับ ธอส. ตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” โดยเตรียมจำหน่ายสลากออมทรัพย์ธอส. ชุดใหม่ นำมาจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่จำนวน 215,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากเป้าหมายในปี 2563 สินเชื่อคงค้างที่ 1,374,116 ล้านบาท

สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญที่จะดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 คือ การยกระดับบริการธนาคารสู่ Digital Service Bank ในปี 2564 และก้าวไปสู่การเป็น Digital Bank อย่างเต็มรูปแบบในปี 2566 ตาม Roadmap “บันได 3 ขั้น” ด้วยการนำบริการหลักทั้งสินเชื่อและเงินฝากขึ้น Digital Platform เพื่อให้บริการลูกค้าโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา ตั้งเป้าลดจำนวนธุรกรรมที่เคาน์เตอร์ภายในสาขาให้เหลือ 5% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมด

ส่วนจำนวนธุรกรรมผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ตู้ชำระเงินกู้ LRM หรือ QR Non Cash Payment ที่หน้าสาขาเหลือ 15% และเพิ่มจำนวนธุรกรรมผ่าน Application : GHB ALL เป็น 80% ภายในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ GHB New Normal Services ในเฟสที่ 3 มีกำหนดให้บริการในเดือนมีนาคม 2564

รวมถึงเดินหน้าโครงการ Virtual Branch หน่วยบริการสินเชื่อไร้ที่ทำการโดยลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่สาขาแต่ยังคงได้รับบริการเสมือนอยู่ที่สาขา ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2564 มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ผ่านโครงการจำนวน 10,000 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม…ธอส.เปิดแนวรบสินเชื่อบ้านดิจิทัล)

ปี 63 ปล่อยกู้ new high
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงาน ในปี 2563 แม้จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่ ธอส. ยังคงสามารถสร้างโอกาสให้คนไทยมีบ้านตามพันธกิจได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนเงินสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ทำได้สูงสุดในรอบ 67 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารที่ 225,151 ล้านบาท 140,386 บัญชี เพิ่มขึ้น 4.57% สูงกว่าเป้าหมายถึง 15,791 ล้านบาท และแบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 88,007 ราย

สินเชื่อบ้าน

โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,320,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.18% มีสินทรัพย์รวม 1,399,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.41% เงินฝากรวม 1,162,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 47,572 ล้านบาท คิดเป็น 3.60% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจากปี 2562 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.09% ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่ได้รับกระทบจาก COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้การเกิด NPL อยู่ในอัตราที่ลดต่ำลง

ในปี 2563 ธอส. ช่วยเหลือลูกค้าผ่าน 10 มาตรการ มีจำนวนสูงสุด 687,489 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 576,139 ล้านบาท ขณะเดียวกันธนาคารยังได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ในอนาคต และเพื่อรองรับมาตรฐาน TFRS 9 เป็นจำนวน 96,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.18% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 202.76% สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธนาคารและความพร้อมในการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 10,494 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,858 ล้านบาท หรือ 21.41% เนื่องจากธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งมากที่ 15.30% (ณ พฤศจิกายน 2563) สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

สินเชื่อบ้าน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าหมายแม้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา คือ ธอส. นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ มาออกผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดและตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละอาชีพ

ทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Social Solution สินเชื่อบ้าน สำหรับผู้มีรายได้น้อย อาทิ มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ยอดอนุมัติและทำนิติกรรมสูงสุดถึง 28,540 ล้านบาท โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน 28,900 ล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อในกลุ่ม Business Solution สำหรับผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ผลิตภัณฑ์ที่มียอดอนุมัติและทำนิติกรรมสูงสุดคือ สินเชื่อ D Plus ไตรมาส 3-4 จำนวน 21,970 ล้านบาท รวมถึงแรงส่งจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และการจัดทำโปรโมชั่นกระตุ้นการขายของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์” นายฉัตรชัย กล่าว

เดินหน้ามาตรการช่วยลูกค้า
ในปี 2564 ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหาโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ผ่านโครงการ “ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ด้วย 4 มาตรการ ลดเงินงวดผ่อนชำระ (เงินงวดที่ชำระจะตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน โดยเริ่มเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียน แจ้งความประสงค์เข้ามาตรการระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ล่าสุด ณ วันที่ 28 มกราคม 2564 มีลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการแล้วรวมจำนวนกว่า 102,000 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 95,000 ล้านบาท

สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของ ธอส. ธนาคารจะเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการที่ 11 ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.00 น. ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 22.00 น. เพื่อลดเงินงวดผ่อนชำระ(เงินงวดที่ชำระจะตัด เงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (อ่านเพิ่มเติม…ธอส. ลดค่าผ่อนบ้าน 25-75% ช่วยลูกหนี้จากโควิดรอบใหม่)

Property Mentor Line Official: https://lin.ee/nE9XYOo4

ติดตามช่อง Property Mentor Chanel ทาง YouTube