อัพเดตรถไฟฟ้าแดง-เขียวโซนเหนือ สายสีแดงบางซื่อ-รังสิต พร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการก.ค. 2564 ส่วนสายสีเขียวบีทีเอสเปิดวิ่งถึงคูคต 16 ธ.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ได้ออกจากทำเนียบไปตรวจเยี่ยมสถานีกลางบางซื่อ พร้อมทั้งรับฟังแผนการพัฒนาที่ดินบริเวณรอบสถานีกลางบางซื่อ และทดลองเดินขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต
สายสีแดงเตรียมเปิดบริการก.ค. 64
ปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อและรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีกำหนดจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ทดลองใช้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 และจะเปิดบริการในเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564
สำหรับการเดินทางจากสถานีบางซื่อถึงสถานีรังสิต จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที เมื่อเปิดให้บริการแล้วคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 86,000 คน-เที่ยว/วันส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ สถานีกลางบางซื่อ ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ย่านบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ และพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที
สถานีกลางบางซื่อแห่งนี้ถือว่ามีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก ในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและทุกคน ตามหลักอารยสถาปัตย์ สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางจากระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน และยังเชื่อมต่อการเดินทางของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง และระบบขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อาทิ รถสาธารณะ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสาร บขส. รถแท๊กชี่
ภายในสถานี ประกอบด้วย อาคารทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารและจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางในกรุงเทพฯ ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และชานชาลารถไฟความเร็วสูง
โดยแบ่งเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา นอกจากนี้ ยังมีชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถ ที่สามารถจอดรถยนต์ได้ถึง 1,624 คัน มีถนนทางเข้าออกสถานีได้หลายทิศทาง เชื่อมต่อกับทางด่วนพิเศษ
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีแดงยังมีแผนต่อขยายเส้นทางจากสถานีรังสิตไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565
บีทีเอสสายเหนือวิ่งถึงคูคตแล้ว
ขณะเดียวกัน รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ปรับรูปแบบการเดินรถไฟฟ้า เพื่อรองรับเส้นทางส่วนต่อขยายใหม่สายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มอีก 7 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 59 สถานีสายหยุด สถานีสะพานใหม่ สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ได้จัดรูปแบบการเดินรถ และแบ่งระยะเวลาการให้บริการเป็น 2 ช่วงหลักดังนี้
1. ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.00 น. และช่วงเวลาเร่งด่วนเย็น ตั้งแต่เวลา 16.30 – 20.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ การให้บริการระหว่างสถานีหมอชิต (N8) ถึงสถานีสำโรง (E15) จะมีความถี่ระหว่างขบวน 2 นาที 40 วินาที ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถสังเกตจากป้ายด้านหน้า และด้านข้างขบวนรถ เสียงประกาศบนชั้นชานชาลา ในขบวนรถ และจอประกาศบนสถานี
2. ช่วงนอกเวลาเร่งด่วนในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. และเวลา 20.00 น. จนถึงเวลาปิดให้บริการ ในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ รถทุกขบวนจะวิ่งตั้งแต่สถานีเคหะฯ ถึงสถานีคูคต โดยจะมีความถี่ 6 นาที 30 วินาที
ส่วนการเดินรถไฟฟ้าสายสีลมนั้น รูปแบบและความถี่ในการเดินรถยังคงเหมือนเดิม โดยช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น จะมีความถี่ของการเดินรถ 3 นาที 45 วินาที