fbpx
ภาพโดย PIRO4D จาก Pixabay

New Normal กับการออกแบบเมืองแห่งอนาคต โดย รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต

ทุกวันนี้ เมือง กำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายมากมายหลายเรื่อง ทั้งปัญหาเก่าที่ยังแก้กันไม่ตกไม่ว่าจะเป็นปัญหาจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาความแออัด ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ และยังต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ภายใต้ความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ต้องเตรียมวางแผนรับมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคระบาด และปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ หากจะปล่อยให้เมืองเป็นไปอย่างเดิม เราคงอยู่กันต่อไม่ได้

ด้วยเหตุที่ว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ อุทยานการเรียนรู้ TK Park จึงได้เชื้อเชิญ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มาเป็นหนึ่งใน 19 ผู้เชี่ยวชาญที่มาถ่ายทอดประสบการณ์จากวิกฤติโควิด 19 เพื่อที่เราได้ร่วมเรียนรู้ใหม่ คิดใหม่ ค้นพบโอกาสใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ “ความปกติใหม่” ภายใต้หัวข้อ “Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่ (ไม่)เหมือนเดิม”

เมืองแห่งอนาคต ภายใตัปัจจัยแวดล้อมใหม่
อาจารย์สิงห์ ได้นำเสนอ framework ของการออกแบบเมืองแห่งอนาคต ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนไป โดยต้องย้อนกลับมาดูกันก่อนว่า ที่ผ่านมาเมืองเรามีปัญหาอะไร และกำลังจะเกิดปัญหาอะไรที่จะต้องนำมาวางแผนในการสร้างเมืองแห่งอนาคต

“ภาครัฐกำลังจะลงทุนในเรื่องของ Smart City ใหม่ๆ มากมาย วันนี้เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังว่าแล้วหลังจากที่เราพบปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ PM 2.5 ภัยแล้ง โรคระบาด น้ำท่วม เราควรจะสร้างเมืองในอนาคต หรือ resilient framework สำหรับเมืองในอนาคตที่คงทน ยั่งยืน กับการรับมือปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะวางแผนอย่างไร”

วิธีง่ายๆ ก็คือการมองกลับไปในอดีตเราจะพบว่า เราจะมีปัญหาและมีเรื่องที่ต้องคอยแก้คอยระวังอะไรบ้าง สิ่งที่เราจะพบกันแน่ๆ ของการสร้างเมืองในอนาคตก็คือ

-High Stress Urban Citizens ก็คือ ความเครียดที่เกิดขึ้นในเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราหนีไม่พ้นแน่ๆ เพราะเมืองมีสิ่งกระตุ้น สิ่งเร้าเกิดขึ้นมากมาย ทำให้คนที่อยู่ในเมืองมีความเครียด ปัญหาการยิงกราด การฆ่าตัวตาย จะเกิดมากขึ้น

-Epidemic Threats คือ การระบาดของโรคต่างๆ ยิ่งเมืองที่คนอยู่ใกล้กันมากๆ มีความหนาแน่นมากๆ การแพร่ระบาดก็จะรวดเร็วมาก

-Waste Overflow คือเรื่องของปัญหาขยะ เมื่อมีคนอยู่ในเมืองมากจำนวนขยะก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะโดยปกติเมืองจะสร้างขยะประมาณ 2 กิโลกรัมต่อคน ถ้ายิ่งมีโรคระบาดจะเพิ่มปริมาณขยะไปอีก 40%

-Energy Shortage คือปัญหาของพลังงานที่ไม่พอ เมื่อคนอยู่บ้านมาก เปิดแอร์มากปริมาณการใช้ไฟก็ยิ่งมาก เมืองแห่งอนาคตก็ต้องวางแผนการใช้พลังงานให้ดี

โควิด-19

“เมื่อคนอยู่กันจำนวนมากมีปัญหาเรื่องโรคระบาด หรือมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ เราจะพบว่า เมืองอย่างกรุงเทพฯจะสามารถรับมือกับปัญหาได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เช่นถ้าเกิดน้ำท่วมภายใน 24 ชั่วโมง ต้องเอาน้ำ เอาอาหารไปส่ง เพราะเราไม่ได้ผลิตอาหารในเมือง เราไม่ได้เตรียมตัวให้อยู่ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อเกิดปัญหา ดังนั้นเรื่องของ Food in Security จึงเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมในอนาคต”

น้ำ-อากาศ-พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป
ปัญหาต่อมาที่เมืองจะต้องเตรียมพร้อมก็คือ ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม (Drought-Flood) ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมจะเห็นเลยว่าหลายหมู่บ้านหลายโซนมีปัญหาน้ำท่วมอยู่กันไม่ได้ หรือปัญหาน้ำแล้งน้ำไม่พออย่างเช่นการประปาบอกว่าน้ำจะไม่ไหลเสาร์-อาทิตย์นี้ เราก็แย่แล้วอยู่กันไม่ได้ภายในเวลา 24-48 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ปัญหาของเมืองไทยที่เกิดขึ้นใหม่ก็คือปัญหาน้ำกร่อย (Brackish Water) เพราะว่าตอนนี้น้ำแข็งละลายน้ำทะเลสูงขึ้น ก็ดันน้ำจากทะเลขึ้นมาจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปถึง 90 กิโลเมตรถึงอยุธยา ทำให้น้ำกลายเป็นน้ำกร่อยต้นไม้ต่างๆ อยู่ไม่ได้ เพราะน้ำมันเค็มขึ้น

รวมถึงปัญหาคุณภาพของอากาศ (Air Pollution) PM 2.5 ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ และยังมีปัญหาเรื่องของ extreme heat ที่คนเริ่มบ่นกันมากกับเรื่องภาวะอากาศที่ร้อน เป็นเพราะอุณหภูมิของเมืองและของโลกได้สูงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน เมืองแห่งอนาคตจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลคนในทุกระดับชั้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมกรณี social unrest เราจะออกแบบเมืองอย่างไร เมื่อเกิดปัญหาการประท้วงที่จะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ออกแบบเมืองเผื่อเส้นทางต่างๆ หรือพื้นที่ให้คนใช้สำหรับในการประท้วง ก็จะเกิดปัญหากระทบเป็นอัมพาตกันทั้งเมือง

ภาพโดย DrSJS จาก Pixabay

ความคิดสร้างสรรค์ที่กำลังจะหายไป
ต่อมาที่สำคัญเมื่อเรากำลัง move towards สู่โลกแห่ง AI คนจะทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เร็วขึ้น แม่นยำขึ้นจากการใช้ AI แต่ต้องยอมรับว่า  คนยังเป็น creative people แต่เมื่อไม่ถูกกระตุ้นให้ใช้ creative สุดท้ายคนก็จะตกงาน ดังนั้นเมืองจึงมีหน้าที่ที่ทำให้เกิด human creativity ด้วย เมืองจะต้องกระตุ้นให้คนได้ได้รู้สึก ได้คิด ได้แก้ปัญหา ไปหาวิธีใหม่ๆ ที่จะทดลองทดสอบต่างๆ เป็นหน้าที่หนึ่งของการสร้างสภาพแวดล้อม

สุดท้ายเรื่องของ big shopping mall จะ outdated คนจะไม่ shopping ใน big shopping mall เพราะเกิดความกลัวจากปัญหาโรคระบาด คนจะกลัวสถานที่ที่คนมารวมตัวกันเยอะๆ ไม่ไว้ใจในระบบปิดควบคุมอากาศ ประกอบกับ คนจะอยากเดินซื้อของใน neighborhood ตัวเองมากขึ้น

“เมื่อเราเห็น scenario ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเมืองในอนาคต และมันต้องเป็น resilient city ด้วย คือเมืองที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่โหดร้ายได้ กระตุ้นให้คนสร้างสรรค์ได้ และรองรับพฤติกรรมของคน ไม่ว่าจะเป็น social unrest หรือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในการจับจ่าย ก็ต้องมาดูว่ามันมี potential solution อย่างไรบ้าง การแก้ปัญหาอะไรบ้างที่คนเขาแก้กันอยู่แล้ว มันมีอะไรอยู่แล้วในรอบๆ ตัวเราที่คนเขาใช้แก้ปัญหาตามเมืองต่างๆ แต่เรายังไม่ได้ใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในเมืองแห่งอนาคต”

ออกแบบเมืองป้องกันการระบาด
ขอยกตัวอย่าง เมืองที่ออกแบบเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ซึ่งจะเป็น New Normal ที่เกิดขึ้นหลังผ่านไวรัสโควิด-19  เมืองจะต้อง design for isolation การดีไซน์ที่ต้องเผื่อไว้สำหรับการบล็อคตัวเอง เมื่อมีโรคระบาด หรือกลัวว่าจะมีโรคระบาด เรื่องของ urban design รวมถึงการวางผังเมืองในอนาคตเราจะต้องสามารถล็อกดาวน์บางส่วนของเมืองได้

เราต้องเริ่มคิดว่าอนาคตของเมืองจะต้องสามารถถูกแยกออกมาได้ ซึ่งการออกแบบบ้านไทยที่สามารถแยกส่วนได้ เช่น มีเรือนรับรองแขก มีนอกชาน มีพื้นที่สำหรับห้องนอน ไอเดียเหล่านี้จะถูกนำกลับมาใช้กับอาคารใหญ่มากขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาแบบ big blocks คงจะไม่ได้แน่ อาคารในอนาคตจะต้องคิดถึง building system เหล่านี้ว่าจะต้องทำอย่างไร เดี๋ยวนี้เราจะเห็นว่าเปิดแอร์เราก็ต้องเปิดทั้งตึก ในอนาคตจะทำไม่ได้อย่างนั้นแล้วต้องมีการแบ่งโซนออกเป็นส่วนๆ มีพื้นที่แยก พื้นที่คัดกรอง เมื่อมีปัญหาจะได้ไม่กระจายหรือจะต้องล็อคดาวน์อาคารทั้งหมด

new normal
ภาพโดย PIRO4D จาก Pixabay

นอกจากนี้ ยังต้องดีไซน์ โดยคำนึงถึง physical distancing เช่น เราต้องออกแบบ public infrastructure ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถไฟ ให้คนนั่งห่างๆ กันได้ แล้วต้องเริ่มคิดว่า อดีตเราใส่คนเข้าไป 90 คนในพื้นที่ 100 ตารางเมตร จะต้องออกแบบพื้นที่ให้เหลือ 25 คนต่อ 100 ตารางเมตร แบบนี้ก็จะทำให้คนสามารถเดินแยกกันได้เดินห่างกันได้

รวมไปถึง ถนน ทางเดินเท้า ก็ต้องออกแบบให้กว้าง เพื่อในอนาคตคนจะต้องเดินในระยะที่ห่างกัน 1.5 เมตร ถ้าไม่ได้ออกแบบไว้เราก็จะไม่มี physical distancing ของเมืองสำหรับป้องกันเรื่องโรคระบาดต่างๆ ซึ่งจะต้องวางแผนให้ชัดเจน public use ต่างๆ จะต้องทำให้คนเดินได้ใช้ได้ และรักษาระยะห่าง โอกาสที่ควบคุมการระบาดของโรคก็จะง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาอีกมากมายควบคู่กับการพัฒนา standard ใหม่ในการสร้างเมือง เพื่อให้เกิดความกว้าง ความห่างกันโดยปริยาย อย่างเช่นอุปกรณ์ที่เป็นฉากกั้นต่างๆ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการครอบ จะเกิดขึ้นควบคู่กับขนาดของทางเท้า ถนน และห้องที่จะออกแบบให้กว้างขึ้นในอนาคต

เมืองที่ลดความตึงเครียดของคน
ในส่วนการออกแบบเมืองรองรับความเครียดของคน ในต่างประเทศเขามี concept ในการแก้ปัญหาที่เรียกว่า healable และ well being infrastructure โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมืองทั้งหมดให้คนได้ผ่อนคลาย โดยทำให้คนสามารถเดินได้และพักผ่อนได้โดยไม่เสียค่างใช้จ่าย ประเทศไทย เราไม่ค่อยมีที่นั่ง public ให้คนได้นั่งผ่อนคลาย อ่านหนังสือ ในระหว่างทางจากออฟฟิศกลับบ้าน

ในต่างประเทศเขามีวิธีการ เช่น ออกแบบทางเดินให้กว้างเดินสบาย มีต้นไม้เป็นร่มเงา มีพิพิธภัณฑ์ มีห้องสมุดให้เข้าฟรี มีสนามกีฬาให้เล่นระหว่างทางกลับบ้าน มีทะเลสาบให้พักผ่อนนั่งกินขนมกินกาแฟก่อนกลับบ้าน นี่คือ social infrastructure หรือ wellness infrastructure

ต่อมาก็คือการออกแบบเมือง เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ซึ่งจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมืองไปตลอดแน่ๆ เมืองแห่งอนาคตต้องเตรียมสำหรับการดูดซับน้ำในเมือง เมื่อก่อนเรามีภูเขา มีต้นไม้สำหรับดูดซับน้ำเอาไว้แล้วค่อยปล่อยลงมาตามแม่น้ำ มันไม่ได้แล้วเพราะภูเขาของเรามันไม่สมบูรณ์แล้ว

เมืองแห่งอนาคตต้อง design ให้เหมือนฟองน้ำที่สามารถดูดซับน้ำไว้ได้ เราจะเห็นระบบของเมืองต่างๆที่พยายามจะออกแบบในเรื่องของ green belt พื้นที่สีเขียวพื้นที่รับน้ำ ถนนที่มีรูพรุน เพื่อการดูดซับน้ำเอาไว้ให้ได้ นอกจากนี้ เราต้อง design drainage system ให้แยกออกจากกันระหว่าง flood water และน้ำเสียจากบ้าน เพื่อที่จะสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพราะถ้าเราไม่แยกมันก็จะรวมกันกลายเป็น grey water

อาจจะเป็นไอเดียเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด แต่เชื่อเถอะว่า ปัญหาต่างๆ ที่ รศ.ดร.สิงห์หยิบยกขึ้นมานั้น กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองภายใต้ new normal ที่ต้องรีบวางแผนแก้ไขก่อนที่มันจะสายเกินไป

อ่านประกอบ: ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล วิเคราะห์อสังหาฯหลังโควิด new normal แค่ไหน?

ติดตามช่อง Property Mentor Chanel ทาง YouTube