แม้ว่า แผ่นดินไหวจะไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้านเรา แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นและภาวะแวดล้อมต่างๆ ของบ้านเราทำให้น่าวิตกว่าวันใดวันหนึ่ง มันอาจจะสร้างความเสียหายที่รุนแรงขึ้นกว่าทุกวันนี้ก็เป็นได้
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นที่ประเทศลาวเมื่อเช้าวันที่ 21 พ.ย. 2562 ซึ่งทำให้อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. ได้รับแรงสั่นสะเทือน เรื่องนี้ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และ นักวิจัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วิเคราะห์ว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นแผ่นดินไหวระดับกลางและเป็นแผ่นดินไหวระยะไกลประมาณ 600-700 กม. แต่ที่ทำให้อาคารหลายแห่งในกทม. สั่นไหวได้นั้นมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. สภาพชั้นดินของ กทม. เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน ดังนั้นแม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจากระยะไกล แต่ด้วยสภาพชั้นดินของ กทม. จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว
2. อาคารสูง เช่น คอนโดมีเนียม อาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 10 ชั้นมีค่าความถี่ธรรมชาติต่ำ ซึ่งเป็นค่าความถี่การสั่นของอาคารที่ใกล้เคียงกับการสั่นไหวของพื้นดิน ทำให้เกิดการสั่นเข้าจังหวะกันระหว่างพื้นดินและอาคาร ทำให้อาคารสูงมีการสั่นสะเทือนที่แรงกว่าอาคารทั่วไป
3. อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. หากก่อสร้างก่อนปี 2550 มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว เนื่องจาก กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เริ่มประกาศใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ อาจมีผลกระทบให้อาคารสั่นไหว แต่คงไม่กระทบต่อโครงสร้างมากนัก เนื่องจากเป็นเพียงแผ่นดินไหวระดับปานกลางและเกิดขึ้นค่อนข้างไกลจาก กทม. สำหรับอาคารสูงใน กทม. ที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีแหล่งกำเนิด 3 แห่ง ได้แก่
1.รอยต่อแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดีย มีความแรง 8-9.5 ริกเตอร์ ระยะทางห่างจาก กทม. 1,200 กม.
2.รอยเลื่อนทางภาคเหนือและประเทศลาวมีความแรง 6-7 ริกเตอร์ ระยะทางห่างจาก กทม. 600-700 กม. และ
3.รอยเลื่อนทางภาคตะวันตก (ศรีสวัสดิ์ และ เจดีย์สามองค์) และประเทศพม่า (รอยเลื่อนสะแกง) มีความแรง 6-8 ริกเตอร์ ระยะทางห่างจาก กทม. 200-400 กม.
ทั้งนี้จะต้องจับตารอยเลื่อนสะแกงในพม่าเป็นพิเศษเนื่องจากอาจเกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 8.5 ริกเตอร์ และมีระยะทางห่างจาก กทม. เพียง 400 กม. ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้อาคารใน กทม. ได้
เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และในพื้นที่ กทม. ก็มีอาคารอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งอาคารบางลักษณะอาจมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เช่น
1. ตึกแถวเนื่องจากมีลักษณะเสาเล็กแต่คานใหญ่
2. อาคารพื้นท้องเรียบไร้คาน
3. อาคารสูงที่มีลักษณะไม่สมมาตรหรือที่ชั้นล่างเปิดโล่ง
4. อาคารที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ข้อต่อไม่แข็งแรง
5. อาคารที่ทำการต่อเติมและทำทางเดินเชื่อมต่อกัน
ดังนั้นเพื่อให้ความเกิดความปลอดภัย จึงควรเตรียมความพร้อมรับมือโครงสร้างอาคารให้แข็งแรง ดังนี้
1. สำหรับอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่
ต้องปฏิบัติตาม กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และวิศวกรผู้ออกแบบจะต้องใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวที่ออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือ มยผ. 1302
2. สำหรับอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550
อาคารเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว จึงควรจะต้องประเมินอาคารเพื่อตรวจสอบสมรรถนะในการต้านแผ่นดินไหว และ หาทางเสริมความแข็งแรงอาคารในกรณีที่ตรวจพบว่าอาคารไม่แข็งแรงพอ ซึ่งการเสริมความแข็งแรงอาคารทำได้หลายวิธี เช่น การติดตั้งโครงเหล็กค้ำยัน การหุ้มด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ การหุ้มด้วยแผ่นเหล็ก การพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น เป็นต้น
9 แนวทางการตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
โดยนายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร1.ตรวจสอบสิ่งของที่ร่วงหล่นได้ ตรวจสอบการร่วงหล่นของสิ่งของรอบอาคารเพื่อตรวจสอบว่าของที่ยึดกับตัวอาคาร เช่น เครื่องปรับอากาศ กระถางต้นไม้ วัสดุอาคาร มีการหลุดร่วงหรือไม่
2.ลิฟต์ ตรวจสอบโดยการให้ลิฟต์วิ่งขึ้นลงจากล่างสุดถึงบนสุดเพื่อตรวจว่ามีการติดขัดหรือมีความสั่นสะเทือนผิดปกติหรือไม่
3.ท่อน้ำ ตรวจสอบในช่องท่อน้ำแนวดิ่ง อันได้แก่ ท่อน้ำประปา ท่อน้ำระบบปรับอากาศ เพื่อตรวจว่ามีท่อแตกรั่วซึมหรือไม่
4.ท่อก๊าซหุงต้ม ตรวจสอบที่ตั้งถังก๊าซและตลอดแนวท่อก๊าซ เพื่อตรวจว่ามีการรั่วซึม หรือ มีกลิ่นก๊าซหุงต้มหรือไม่
5.สายไฟฟ้าและตัวนำไฟฟ้าแนวดิ่ง ตรวจสอบในห้องไฟฟ้าประจำชั้นเพื่อตรวจว่ามีการลัดวงจร มีกลิ่นไหม้ มีความร้อน หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ กรณี อาคารที่ใช้บัสดักแทนสายไฟให้ตรวจความเสียหายของอุปกรณ์ทั้งหมดเพราะหากอาคารเลือกใช้บัสดัก (Busduct) ที่ไม่รองรับแผ่นดินไหว อาจจะทำให้ฉนวนของบัสดัก (Busduct) เสียหายและเมื่อใช้อาจจะระเบิดได้
6.ท่อระบายความร้อน (Cooling Tower) และถังเก็บน้ำดาดฟ้า ตรวจสอบความเสียหาย ความมั่นคงแข็งแรงเพื่อตรวจสอบว่ามีการแตกร้าว น้ำรั่ว ยึดติดมั่นคงแข็งแรงอยู่กับฐานหรือไม่
7.ตรวจสอบระบบดับเพลิง ท่อน้ำดับเพลิง สปริงเกอร์ วาวล์ควบคุมการจ่ายน้ำ ต้องอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง
8.กรณีอาคารที่กำลังปรับปรุงอาคาร กำลังก่อสร้าง และมีงาน hot work จะต้องตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซในอาคารและความพร้อมของระบบป้องกันเพลิงไหม้ก่อนทำงาน
9.อาคารขนาดใหญ่และอาคารสูง ควรได้รับการตรวจสอบอาคารโดยผู้ตรวจสอบอาคารหรือผู้มีความรู้ด้านงานตรวจสอบอาคารก่อนใช้งานอาคาร