fbpx
The Stanford Thailand Research Consortium 4

3 บิ๊กธุรกิจ ทุ่ม 100 ล้าน ดึงสแตนฟอร์ดลุยงานวิจัยยกระดับประเทศไทย

3 บริษัทรายใหญ่จาก 3 ธุรกิจของไทย ได้แก่ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันสร้างมิติใหม่โดยการสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ผ่านการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเอกชนด้วยงายประมาณตั้งต้นกว่า 100 ล้านบาท

พร้อมกับต่อยอดความร่วมมือโดยการสนับสนุนเงินทุนจัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ภายใต้การดูแลและดำเนินการของศูนย์พัฒนา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC)

Consortium จะคัดเลือกสมาชิกที่ตระหนักถึงประเด็นและปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ต้องการการจัดการ โดยนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเข้าไปช่วยแก้ไข ขณะเดียวกันสมาชิกจะได้รับการจัดสรรให้เข้าร่วมการจัดการปัญหาในระดับที่เหมาะสม มีระยะเวลาการเข้ารวม 5 ปี โดยเป้าประสงค์สำคัญ 4 ประการ เพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศไทย ได้แก่:

  • การยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลก
  • การนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย
  • เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน
  • ส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

The Stanford Thailand Research Consortium จึงเป็นการผนึกกำลังขององค์กรชั้นนำของประเทศไทยที่มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะผลักดันประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล

ด้านมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านการวิจัย ได้นำทีมนักวิจัยที่มาจากคณะต่างๆ อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นต้น เข้ามาทำงานวิจัย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและมุมมอง อันหลากหลายให้บรรลุเป้าประสงค์ของ Consortium ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมทั้งองค์ความรู้ในมุมของประเทศไทยจาก SEAC ที่มีศักยภาพในด้านการ ให้คำปรึกษา การอบรมและการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยปัจจุบัน การทำงานวิจัยได้เริ่มขึ้นแล้ว และครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การลดขยะในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารไปจนถึงการสร้างศักยภาพของคนทำงาน เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรในอนาคต

พอล มาร์คา ผู้บริหารระดับสูง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เราจึงได้เร่งคิดค้นกลวิธีเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว จนพบว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่างๆ ในแต่ละประเทศให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงยุคดิสรัปชั่นได้อย่างทันท่วงที

สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพ ของคนไทย รวมไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย จึงได้เข้ามาเริ่มศึกษาระบบต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา เป็นต้น โดยทั้ง3 องค์กรที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับศักยภาพของประเทศไทย และทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ร่วมสนับสนุนงานวิจัยอย่างเต็มรูปแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี

เมื่อสำเร็จโครงการแล้ว จะนำข้อสรุปและผลสำเร็จของงานวิจัยมา ต่อยอดในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของประเทศไทย เพื่อนำ “คุณค่า” กลับคืนสู่ประเทศไทยในบริบทใหม่ ฟื้นฟูและผลักดันศักยภาพ “ทรัพยากรมนุษย์” เรื่ององค์ความรู้และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถครั้งสำคัญขององค์กรไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มภาคภูมิ และพร้อมเข้าสู่การแข่งขันเชิงธุรกิจ ที่จะนำไปสู่การขยายศักยภาพและการเติบโตขององค์กรบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยังส่งผลเชิงลบ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากบทสรุปของ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงานในอีก 4 ปีข้างหน้า ว่าจะมีจำนวนงานกว่า 75 ล้านตำแหน่งหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ถึง 113 ล้านตำแหน่ง ซึ่งนับว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ทรัพยากรมนุษย์ปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะโซนพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หลายองค์กรและบริษัทชั้นนำต่างร่วมมือศึกษาและวิจัย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรคนและองค์กร รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจเพื่อแข่งขันบนเวทีโลก

อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมาย “คุณภาพของคน” คือ ประเด็นสำคัญที่โลกธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น ประเด็นเรื่อง การยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลกนี้เองจะเป็นหัวข้อหนึ่งในงานวิจัย ที่ทาง The Stanford Thailand Research Consortium ซึ่งเป็นการทำวิจัยระดับโลกครั้งแรกของไทยจะหยิบขึ้นมาทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึก อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนสำหรับประเทศของเรา

การจัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ซึ่งมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงองค์ความรู้ที่ประเทศไทยเราจะได้รับจากศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำประเทศก้าวเดินไปสู่มาตรฐานใหม่ ให้เท่าทันกับบริบทของโลกธุรกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายมากกว่าการปรับตัวให้ทันกระแสโลกยุคดิจิตอล นั่นคือการเตรียมพร้อมให้คนไทยมีความเข้าใจ ตื่นตัว และเสริมสร้างองค์ความรู้ ตลอดจนเกิดเป็นความสามารถใหม่ (New Ability) ที่จะสามารถต่อยอดทำสิ่งใหม่ๆ โดยมีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

เราเชื่อมั่นว่าการเติบโตแต่เพียงผู้เดียว มิใช่การเติบโตอย่างแท้จริงและยั่งยืน พร้อมทั้งเชื่อมั่นในการสร้างสังคมเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งการเข้าร่วมศึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ SEAC ในครั้งนี้ จึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของคนไทยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยยกระดับสังคม และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย มีความมุ่งมั่นในการช่วยแก้ไขปัญหาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยเน้นสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการรักษ์ป่าน่าน เพื่อปฏิรูปและหาวิธีแก้ปัญหารากฐานของความถดถอยของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหากับจังหวัดอื่นๆ ในอนาคต

สำหรับโครงการ The Stanford Thailand Research Consortium จะเป็นการทำวิจัยเพื่อยกระดับการแก้ปัญหาของประเทศไทยให้เป็นที่ตระหนักและเข้าใจมากขึ้น และด้วย DNA ของ Stanford ที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องการพัฒนาผู้นำให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง DNA ให้กับทีมงานและผู้นำในทุกภาคส่วน เพื่อพร้อมผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อไป และผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในเรื่องของ “Doing Good” และ “Doing Well”

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *