fbpx
Untitled design 1

มั่นคงเคหะการ บนเส้นทางสายใหม่ การปรับ-เปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดของบริษัทอสังหาฯ

มั่นคงเคหะการ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เก่าแก่ที่มีอายุเกือบครึ่งศตวรรษกำลังจะทรานสฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่ โดยหันไปโฟกัสในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันได้เริ่มชะลอการลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงรอบด้านลง หรือในวันนี้ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะไม่หอมหวานด้วยผลกำไรที่ได้รับเป็นกอบเป็นกำเหมือนในอดีต!

49 ปี มั่นคงเคหะการ ถึงเวลา Move on

หลังจากก่อตั้งบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด ขึ้นในปี 2516 และเริ่มพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรโครงการแรกในปี 2520 ในชื่อชุมชนชวนชื่นก่อนจะมาเป็นแบรนด์ “ชวนชื่น” จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 49 ปี ที่มั่นคงเคหะการและชวนชื่นยืนยงอยู่ในตลาด แม้จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถทะลุขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของธุรกิจได้ด้วยสไตล์การทำงานที่ค่อนข้าง Conservative

ในปี 2558 มั่นคงเคหะการ เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่เมื่อนายชวน ตั้งมติธรรม ผู้ก่อตั้งบริษัทวางมือจากธุรกิจเปิดทางให้กลุ่มฟินันซ่าเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปฏิบัติการทรานสฟอร์มธุรกิจของมั่นคงเคหะการจึงเริ่มเกิดขึ้น โดยการเริ่มให้ความสำคัญกับธุรกิจ Industrial Property และ Health&Wellness ที่มีทิศทางการเติบโตที่ดี

“เรายังคงเดินหน้าสานต่อการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือธุรกิจ บริษัทได้มองเห็นศักยภาพการเติบโตและจุดเด่นของประเทศไทยในเรื่องของ Industrial Property และ Health&Wellness เราจึงพร้อมต่อยอด 2 ธุรกิจในเครือ อย่างธุรกิจเวลเนสที่จะเดินหน้าพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจรมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย รวมถึงขยายธุรกิจคลังสินค้าให้เช่า บางกอกฟรีเทรดโซน (BFTZ)” นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) กล่าว

2 ผู้บริหารมั่นคงเคหะการ ดุษฎี ตันเจริญ และ วรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์

หลังจากบริหารมั่นคงเคหะการมานาน 7 ปี ผู้บริหารจากกลุ่มฟินันซ่าคงมองเห็นแล้วว่า มั่นคงเคหะการจะต้อง Move on จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยซึ่งไม่ใช่คำตอบในเวลานี้ เมื่อดูจากรายได้จากการขายของมั่นคงเคหะการพบว่า ในปีล่าสุด(2564) อยู่ที่ 2,481 ล้านบาท อยู่ในลำดับที่ 22 ของบริษัทอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์(เฉพาะบริษัทที่มีรายได้หลักจากการขายที่อยู่อาศัย) ขณะที่อันดับ 1 ในปีล่าสุดอย่างเอพี (ไทยแลนด์) มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 30,879 ล้านบาท

ปรับโหมดลงทุนลดความเสี่ยงสู่ความยั่งยืน

ยิ่งเมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น ผู้คนเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต้องเร่งปรับตัวสู่บริบทใหม่ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเปลี่ยนไปจากเดิม หากมั่นคงเคหะการต้องการมีที่ยืนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างมั่นคง

การพึ่งพิงตลาดที่อยู่อาศัยเป็นหลักคงต้องเหนื่อยหนัก เพราะต้องทำงานอยู่กับความเสี่ยงที่ไม่รู้จบ จึงต้อง Move on หาเส้นทางใหม่ในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ Industrial Property และ Health&Wellness จึงเป็นเป้าหมายใหม่ที่ผู้บริหารจากกลุ่มฟินันซ่าปักธงเอาไว้

“ย้อนกลับไปเมื่อมี 2558 เมื่อฟินันซ่าได้เข้าซื้อหุ้นมั่นคงและมีการเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย สู่ธุรกิจอสังหาฯเพื่อเช่า และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ สิ่งแรกที่เริ่มทำคือ การเข้าไปในธุรกิจโกดังให้เช่า เพื่อสร้างรายได้ประจำ ทั้ง 2 ธุรกิจที่เราได้เข้าไป ถือเป็นธุรกิจที่ทำให้เห็นแล้วว่า ไทยเรามีความแข็งแกร่งจากการฐานผลิตของต่างชาติมายาวนาน ธุรกิจอสังหาฯเพื่อการเช่าในอุตสาหกรรม มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การพัฒนาโรงงานให้เช่า โกดัง ไปจนถึงโลจิสติกส์ ขณะที่ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ เป็นธุรกิจที่ไทยเรามีจุดแข็งมาก ขณะที่โรงพยาบาลก็เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ จึงเป็นที่มาของการเข้าร่วมกับบริษัทในการให้บริการด้านสุขภาพ” นายวรสิทธิ์กล่าว

ส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยยังคงจะต้องระมัดระวังมากขึ้น เราไม่ใช่ผู้นำในธุรกิจนี้ ขณะที่การลงทุนมีความเสี่ยงอยู่ตลอด ตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการจนจบใช้เวลา 2-3 ปี ก็ต้องหาที่ดินใหม่มาพัฒนาใหม่ก็ต้องเริ่มรับความเสี่ยงกันใหม่ ตอนนี้เรามีโครงการอยู่ในมือมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เราพอใจยอดขายปีละ 2,000 ล้านบาท คำตอบคือ ต้องดูอีกทีในช่วงปลายปีว่าจะมีการพัฒนาโครงการใหม่ออกสู่ตลาดหรือไม่ แต่ในระยะ 3 ปีนับจากนี้เราจะเน้นไปที่ Industrial Property และ Health&Wellness เป็นหลัก

ผู้บริหารมั่นคงเคหะการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่ใช่เสาหลักของมั่นคงเคหะการในเวลานี้ และบางทีอาจจะหมายถึงในอนาคตด้วย โดยได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่า รายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนมากกว่า 70% ในขณะนี้จะลดลงเหลือ 50% เท่าๆ กับ Industrial Property และ Health&Wellness และจะลดเหลือ 30% ถ้าทุกอย่างเดินไปตามแผน

ปี 65 รุกหนักพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม-สุขภาพ

ในปี 2565 มั่นคงเคหะการ จะใช้เงินลงทุนราวๆ 3,000 ล้านบาท เดินหน้าขยายพื้นที่สร้างโรงงานและคลังสินค้า “โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน” ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีพื้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 400,000 ตารางเมตร และตั้งเป้าขยายพื้นที่ถึง 1,000,000 ตารางเมตร ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทอาร์เอ็กซ์ เวลเนส จำกัด (RX Wellness) บริษัทได้เปิดตัวโครงการ รักษ ศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวม (Fully Integrative Wellness & Medical Retreat) เมื่อปี 2563 ที่บางกะเจ้า บนเนื้อที่ 180 ไร่ ขณะนี้มีการพัฒนาไปแล้ว 50 ไร่ และจะพัฒนาวิล่าเพิ่มอีก และได้ขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ

ล่าสุดได้เช่าที่ดินสวนสามพราน และโรงแรมโรส การ์เดน จำนวน 20 ไร่ ระยะเวลา 40 ปี เปิดโครงการรักษ วิลเลจ สามพราน โดยใช้เงินลงทุนปรับปรุงโรงแรมรวม 400 ล้านบาท ซึ่งจากการปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับบริษัท จะสามารถทำให้บริษัทมีการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน

บิ๊กอสังหาฯเร่งขยายฐานลูกค้าชิงความเป็นหนึ่ง

กลับมาอีกด้านหนึ่งของกลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่อยู่ด้านบนของตาราง ต่างมุ่งมั่นกับการขยายฐานลูกค้า เพื่อสร้างยอดขายและรายได้ให้เพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อก้าวสู่ความเป็นเบอร์ 1 ในตลาด

อย่างเอพี (ไทยแลนด์) ซึ่งมุ่งมั่นที่จะเป็นเบอร์ 1 ในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขายให้ได้อย่างถาวร โดยตั้งเป้ายอดขายในปี 2565 ไว้ถึง 50,000 ล้านบาท และมีรายได้รวมที่ 47,000 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีทำยอดขายไปได้แล้ว 12,959 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 63% และเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 โดยจะเปิดตัวใหม่ทั้งสิ้น 11 โครงการ มูลค่า 16,270 ล้านบาท

พร้อมกับการประกาศคำมั่นสัญญา หรือ Brand Promise เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ภายใต้คำว่า “ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้” เพื่อเป็นการสื่อสารถึงวิสัยทัศน์ในระยะยาวของเอพี ไทยแลนด์

สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง

“ก้าวต่อไปของการสร้างแบรนด์เอพี ภายใต้วิสัยทัศน์ Empower Living ผมคิดว่าแบรนด์ที่ดีต้องมีจุดยืนทางสังคมหรือ Social Standpoint ที่ชัดเจน ต้องกล้าที่จะพูดอะไรที่ใหม่เพื่อตอบโจทย์ หรือช่วยสังคมตามบริบทที่เกิดขึ้น หน้าที่ของแบรนด์ที่ดีควรสร้างคุณค่าและความหมายบางอย่างกับชีวิต มากกว่าการมุ่งขายของเพียงอย่างเดียว

จึงเป็นต้นกำเนิด Brand Promise ใหม่ล่าสุดของเอพีภายใต้ประโยคที่ว่า “ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้” ซึ่งเป็นชีวิตดีๆ บริบทใหม่ในปี 2022 คือชีวิตดีๆ ที่ลูกค้าเป็นคนเลือกเอง หน้าที่ของเอพี คือมอบสิ่งต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกในสิ่งที่เค้าอยากได้ด้วยตนเอง” นายสรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายงานกลยุทธ์แบรนด์องค์กร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ในการนำพาแบรนด์เอพีให้เป็นแบรนด์ที่ช่วยเอ็มพาวเวอร์ให้ทุกคนมีความสุขกับสิ่งที่เลือกเองได้จะสะท้อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1.HAPPINESS HAS NO BLUEPRINTS ทุกคนสามารถที่จะเลือกสร้างความสุขในแบบที่ตนเองต้องการ ผ่าน 16 แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ในเครือเอพี ที่ครอบคลุมครบทุกเซ็กเมนต์มากที่สุด

2.INNOVATION FROM YOU FOR YOU นวัตกรรมดีไซน์ที่ให้ความสำคัญกับการค้นหา Unmet Need ของลูกค้า นำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ Aspiration หรือความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ของลูกค้าที่มีความหลากหลาย

3.COMMUNITY OF THE FUTURE การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบสังคมให้ดีขึ้น ผ่านแคมเปญเพื่อสังคมต่างๆ

นอกจากนี้ เพื่อสร้างภาพจดจำแบรนด์เอพีจึงได้ร่วมมือกับทาง GDH สนับสนุนภาพยนตร์ไทย เรื่อง FAST & FEEL LOVE พร้อมกับดึงคู่พระ-นางในเรื่องได้แก่ ญาญ่า- อุรัสยา เสปอร์บันด์ และนัท-ณัฏฐ์ กิจจริต มาเป็น AP Brand Ambassadors นำเสนอมุมมองการสร้างความสุขให้กับชีวิต ผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุดล่าสุดของเอพี

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อสื่อสารไปถึงคนกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังซื้อหลักในตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและในอนาคต

เช่นเดียวกับแสนสิริ คู่แข่งสำคัญในการแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งในตลาดที่เลือกที่จะสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ด้วยคาแรคเตอร์การ์ตูนขายหัวเราะ สร้างประสบการณ์ความสุขและเสียงหัวเราะ ท่ามกลางภาวะสังคมที่อยู่ในอารมณ์ตึงเครียดที่ผู้คนต้องเผชิญกันอยู่ในขณะนี้

แสนสิริได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ป เจ้าของแบรนด์คาแรคเตอร์การ์ตูน “ขายหัวเราะ” ส่งแคมเปญ “บ้านนี้ ฮะ ฮะ ฮ่า” เพื่อรุกตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ ในกลุ่มเซ็กเมนท์ Affordable ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ของแสนสิริในปีนี้ที่มีสัดส่วนสินค้าในเซ็กเมนต์ Affordable มากกว่า 50% ผ่านคาแรกเตอร์การ์ตูนขายหัวเราะที่ทำให้คนเข้าถึงแบรนด์และเข้าใจจุดเด่นของแสนสิริได้ง่ายขึ้น

คาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนของขายหัวเราะที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง หนูหิ่น, ปังปอนด์, บก.วิติ๊ด จะมาเล่าความต้องการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ในฐานะ End-User ตัวแทนของคนอยากมีบ้านอย่างเข้าถึงอินไซต์ของลูกค้า ตั้งแต่ดีไซน์-ฟังก์ชัน-บริการ ที่เป็นจุดเด่นของแสนสิริ ตลอดจนกิจกรรม CSR ที่แสนสิริมุ่งมั่นช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับโปรโมชั่น “โปรอารมณ์ดี” ในการซื้อบ้าน-คอนโดของแสนสิริ

ไม่ว่าการเป็นการถอยออกไปตั้งหลักของมั่นคงเคหะการ การสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นในแบรนด์ เพื่อเร่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ของเอพี และแสนสิริ กับเป้าหมายการเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ล้วนสะท้อนความเป็นไปของบริษัทอสังหาฯในห้วงเวลานี้ที่จะต้องปรับและเปลี่ยน เมื่อตลาดมีพื้นที่ที่จำกัดลง จากโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปในทุกมิติ การช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่จำกัดทำให้มีคนที่ได้และคนที่เสีย

ใครไม่ปรับตัว หรือไม่เปลี่ยนแปลง ก็คงจะอยู่ได้ยากยิ่งขึ้น และคงจะได้เห็นบริษัทอสังหาฯทั้งรายเล็ก รายกลาง หรือแม้กระทั้งรายใหญ่ ที่เป็นไปในแบบเดียวกัน…ไม่ปรับก็ต้องเปลี่ยน