fbpx
shutterstock 572535850 11 scaled

มท.1 หนุนปรับผังเมืองสู่ยุค New Normal สร้างเมืองปลอดภัยรับมือภัยพิบัติ

ผังเมือง กับการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์

มหาดไทยหนุนผังเมืองปรับตัวสู่การเป็น Resilient & Recovery Cities ใช้เทคโนโลยี เชื่อมโยงคน ลดการเดินทาง เพิ่มระยะห่าง ด้านกรมโยธาฯ ระดมสมองทุกภาคส่วนสร้างเมืองปลอดภัยรับมือภัยพิบัติ 

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาวะของประชาชน ทุกองค์กรจะต้องปรับตัว ทั้งการใช้ชีวิตและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปในรูปแบบ New Normal รวมถึงการออกแบบและขับเคลื่อนงานด้านผังเมืองก็ต้องมีความยืดหยุ่นสามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีความเข้มแข็งสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ปลอดภัย และมีความสุข

“การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิด ในการวางผังเมืองและการพัฒนาเมืองให้ต่างไปจากเดิมให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในรูปแบบ New Normal ที่เป็นเครื่องมือในการใช้ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีหัวใจสำคัญข้อหนึ่งคือการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social distancing ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาต่างๆให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวด้วย”

สำหรับการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการวางผังเมืองและการพัฒนาเมืองสามารถทำได้ในหลายแนวทาง เช่น

1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการติดต่อสื่อสารการเชื่อมโยงผู้คน เพื่อรองรับกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุข การทำงานประกอบอาชีพ โดยการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ลดการเดินทาง การพบปะติดต่อกัน แต่ก็ยังสามารถที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบได้โดยง่ายและมีประสิทธิภาพ

2. การพัฒนาออกแบบเส้นทางคมนาคมขนส่งให้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทาง ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยลดความแออัดของคนในระบบขนส่งสาธารณะ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเส้นทาง ที่สามารถเดินทางคนเดียวได้ เช่น การพัฒนาเส้นทางจักรยานหรือจักรยานยนต์ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางก็จะเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้มากขึ้น

3. แนวคิดการพัฒนาและการวางผังเมืองที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคโควิด-19 อาจจะต้องคิดถึงการออกแบบและวางผังเมือง ที่จะทำให้ผู้คนสามารถที่จะเดินทาง ไปยังจุดหมายปลายทางเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ การทำงานประกอบอาชีพ การเข้าถึงบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การจับจ่ายซื้อของเพื่อการดำรงชีวิต ที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่มากนัก และจำเป็นต้องปรับแนวทางการออกแบบเมืองให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัว รองรับความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ในอนาคตเราจะได้เห็นการออกแบบเมือง ที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมครอบคลุมและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ของประชาชน เป็นเมืองที่สามารถปรับตัว และรับมือได้กับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ประเทศชาติสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป” พลเอกอนุพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง Resilient & Recovery Cities “ขับเคลื่อนเมือง สู่ความสุข ในยุคโควิด 19” เนื่องในวันผังเมืองโลกวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิด เปิดมุมมอง สู่การพัฒนางานผังเมืองให้ทันกับสถานการณ์เมืองปัจจุบันในยุคโควิด-19 นับเป็นครั้งแรกของงานสัมมนาผังเมืองในรูปแบบ VIRTUAL VIDEO

พลเอกอนุพงษ์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก เป็นงานที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดต่อเนื่องเป็นประจําทุกปี เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงบทบาท และความสําคัญของการผังเมืองที่เป็นรากฐานของการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ด้านนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การผังเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนในแต่ละเมืองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข ซึ่งหมายถึงการได้อยู่อาศัยในเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข

การวางผังเมืองที่ดีนั้นต้องมีการพัฒนาเมือง และพื้นที่ต่างๆ ให้มีความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่ได้มาตรฐาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภารกิจสำคัญของกรมโยธาธิการและผังเมือง จึงเป็นที่มาของการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ชี้ให้เห็นความสำคัญของ “การวางผังเมือง” ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนทราบแนวทางการดำเนินงานด้านการผังเมืองที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เป็นกลไกขับเคลื่อนให้การพัฒนาด้านการผังเมืองของประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จ

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มาร่วมเสนอปัญหาและแนวทางใหม่ๆ ในการออกแบบและสร้างสรรค์เมืองเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาที่จะใช้ผังเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตอยู่กับเมืองได้อย่างปกติ ปลอดภัย และมีความสุข ส่งผลให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการจัดสัมมนาแบบออนไลน์ แบ่งออกเป็น 6 กิจกรรม ดังนี้

1.Forum เวทีสนทนา โดยผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ 1. ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน เมืองพลวัต (Resilient City) 2. ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) 3. รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีคุณชลรัศมี งาทวีสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

2.Spotlight เวทีวิชาการ โดยผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ 1. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ 2. ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง UDDC 3.นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 4. นายอรรถพร คบคงสันติ ประธานบริษัท T.R.O.P จำกัด 5. น.พ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

6. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา 7. นายธัชพล  สุนทราจารย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Landscape Collaboration จำกัด 8. ดร.พันธุ์อาจ  ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ 9. นายไพทยา  บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด 10. ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

3.Interview บทความวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญ 10 ท่าน ครอบคลุมเนื้อหาด้าน เศรษฐกิจ สังคม/สิ่งแวดล้อม ผังเมือง/กายภาพ และเทคโนโลยี

4.DPT Insight การ up date ผลงานด้านการผังเมือง/พัฒนาเมืองที่สำคัญ เช่น

  • ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง โดยว่าที่ร้อยเอกธีรพงศ์  ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
  • ผลงานของกรม และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ GIZ/JICA/UN-HABITAT
  • ผลงานที่สำคัญของกรมฯ อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)
  • การวางผังนโยบายระดับประเทศ ระดับภาค ผังเมืองเฉพาะ งานพัฒนาเมือง
  • การดาวน์โหลดกฎหมายผังเมือง
  • การตรวจสอบผังการใช้ประโยชน์ที่ดินผ่านแอพพลิเคชั่น Landuse Plan

5.Exhibition นิทรรศการจากหน่วยด้านการพัฒนาเมือง 14 หน่วยงาน

6.WTPD Community พื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็น

สามารถเข้าร่วมงานสัมมนาได้ที่ https://www.worldtownplanningday.com