ค่อยๆ ดีขึ้นกับผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่สามารถทำยอดขายไปได้ 6,584 ล้านบาท เติบโต 88% จากไตรมาสก่อนที่มียอดขาย 3,507 ล้านบาท แต่ก็ยังห่างไกลจากยอดขายในช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่สามารถทำได้ 14,113 ล้านบาท หรือยอดขายลดลงถึง 53.3% เนื่องจากไตรมาสที่ 2 พฤกษา กระชากเบรกมือ หยุดลงทุนโครงการใหม่ตลอดทั้งไตรมาส
ส่วนรายได้ในไตรมาส 3 ของปี 2563 พฤกษาทำไปได้ 6,353 ล้านบาท ดีขึ้นเล็กน้อยหรือประมาณ 3% จากไตรมาสก่อนที่มีรายได้ 6,166 ล้านบาท แต่ก็ยังตกลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีรายได้ 8,517 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 25% ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 615 ล้านบาท ดีขึ้นถึง 44% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ก็ยังสู้กำไรจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 933 ล้านบาท โดยมีกำไรลดลงประมาณ 34%
ขณะที่ผลงานรวม 9 เดือนของปี 2563 พฤกษา มียอดขายรวม 16,161 ล้านบาท ลดลง 57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 37,480 ล้านบาท ส่วนรายได้ 9 เดือนปีนี้ทำไปได้ 19,661 ล้านบาท ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีรายได้ 28,179 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสุทธิงวด 9 เดือนที่ทำได้ 1,981 ล้านบาท ลดลงถึง 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำกำไรไปได้ 3,600 ล้านบาท
สรุปก็คือผลงานไตรมาสต่อไตรมาสดูดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยให้ผลการดำเนินการ 9 เดือนกระเตื้องขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดโดยรวม และพฤกษายังคงต้องเหนื่อยต่อในไตรมาส 4 เพื่อทำผลงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ประเมินว่า ปีนี้พฤกษา น่าจะติดลบประมาณ 10% ขณะที่ตลาดรวมจะติดลบประมาณ 30% ซึ่งจากการปรับกลยุทธ์องค์กรครั้งใหญ่ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จะช่วยให้บริษัทคล่องตัวขึ้น และแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ในปี 2564 ผลประกอบการจะกลับมาเติบโตได้ประมาณ 15% แต่การจะกลับไปสู่จุดที่เคยทำยอดขายได้ในระดับ 4-5 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 คงต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี
ในไตรมาสที่ 3 พฤกษา ได้ปรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจครั้งใหญ่ โดยการเปลี่ยนจาก Operating Company เป็น Thinking Company โดยการ Outsource งานออกไปภายนอก เพื่อให้องค์กรกระชับขึ้น ปรับลดจำนวนโครงการลงไม่เน้นจำนวนแต่เน้นที่คุณภาพ โดยคัดเฉพาะโครงการที่เป็น Hero Projects ขยายไปในเซ็กเมนต์ที่ยังไปได้ดีโดยโฟกัสไปที่ตลาดระดับกลาง-บนในทุกประเภทสินค้า ได้แก่ คอนโดมิเนียมราคา 2-5 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ 2-3 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 5-15 ล้านบาท
พร้อมแข่งขันราคา-โปรโมชั่น
ในส่วนของการพัฒนาแต่ละโปรดักต์ บริษัทจะนำข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ลงลึกโดยการทำData Analytics เพื่อให้รู้ถึง Customer Insight ของผู้บริโภค และนำมาพัฒนาตัวโปรดักต์ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนต์ได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกันราคาจะต้องแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งจากการ Outsource งานออกไปทำให้บริษัทมีต้นทุนที่ลดลง 10-20% สามารถทำราคาสำหรับโครงการใหม่ได้ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 10% ส่วนการระบายสต๊อกของที่เหลืออยู่ราคาสามารถลดลงได้ถึง 20%
“ในไตรมาส 4 บริษัทจะเปิดโครงการใหม่เพิ่มอีก 2 โครงการ ทำให้ในปี 2563 บริษัทเปิดโครงการใหม่ไปเพียง 13 โครงการ สำหรับในปี 2564 บริษัทจะกลับมาเปิดโครงการใหม่ประมาณ 30-35 โครงการ มูลค่า 3-3.5 หมื่นล้านบาท เป็นคอนโด 5-7 โครงการ มูลค่า 7,000- 1 หมื่นล้านบาท และจะไม่กลับไปเปิดโครงการจำนวนมากๆ 50-60 โครงการ เหมือนในอดีต ซึ่งในอนาคตโครงการในพอร์ตจะลดลงจาก 200 โครงการ เหลือประมาณ 100 โครงการ”
สำหรับเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ว่าพฤกษาจะมียอดขายในระดับ 1 แสนบาทต่อปี เราคงจะไม่มองที่เป้าหมายตรงนั้นแล้ว ต่อไปจะไม่เน้นที่ปริมาณแต่หันไปเน้นที่ประสิทธิภาพในการทำกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดึงญี่ปุ่นร่วมทุนคอนโดลดเสี่ยง
ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาฯจากญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Health Care เพื่อพัฒนาคอนโดมิเนียมที่จะเปิดตัวในปีหน้า ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่ง Business Model สำหรับการลงทุนพัฒนาคอนโดขนาดใหญ่ มูลค่าระดับ 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน
นอกจากการป้องกันความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการแล้ว พฤกษา ยังมองไปถึงการสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว โดยการเพิ่มพอร์ตที่เป็น Recurring Income เข้ามา เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ที่เป็น Recurring Income ของพฤกษานั้นไม่มีเลย
แตกธุรกิจสร้างรายได้ระยะยาว
นายปิยะ คาดหวังว่าจะเพิ่ม Recurring Income ให้ได้ 20% ของรายได้รวมภายใน 5 ปี นอกจากโรงพยาบาลวิมุต ที่จะเปิดให้บริการตามแผนงานในเดือนพฤษภาคม 2564 แล้ว ยังจะต่อยอดไปถึง Nursing Home และ Health Care ในโครงการคอนโด และโครงการในรูปแบบอเวนิวที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคต และยังมองไปถึงการนำแลนด์แบงก์ที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย มาหารายได้จากการเช่าทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อย่างเช่น การทำตลาด อพาร์ตเมนต์ ที่กำลังศึกษาอยู่
ทุกท่วงท่าของการปรับกระบวนยุทธ์ในครั้งนี้ก็เพื่อให้ พฤกษา สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน เป็นการเติบโตเชิงคุณภาพ ไม่ใช่การเติบโตในเชิงปริมาณเหมือนที่ผ่านมา
โหมโปรโมชั่นโค้งสุดท้าย
ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี พฤกษามีการจัดกิจกรรมการตลาดมอบสิทธิพิเศษ และโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อเร่งยอดขาย พร้อมเร่งทะยอยโอน The Reserve สุขุมวิท 61 มูลค่า 2,700 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 13% ของรายได้ที่ต้องทำอีกในไตรมาส 4 เมื่อประกอบกับรายได้จากการโอนฮีโร่โปรเจ็กต์ราว 32% และโครงการอื่นๆ ที่เปิดขายอยู่อีกราว 55% คาดว่าจะช่วยผลักดันให้พฤกษาสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ที่วางไว้ได้
หนึ่งในโครงการฮีโร่โปรเจ็กต์ที่จะเปิดในไตรมาส 4 และเป็นโครงการไฮไลท์ ได้แก่ The Plant รังสิต-อเวนิว บ้านเดี่ยวในคอนเซปแพลนชีวิตได้อย่างอิสระ เพื่อทุกคนในบ้าน มูลค่าโครงการ 985 ล้านบาท ราคา 3-5 ล้านบาท และโครงการ พฤกษาวิลล์ ศรีนครินทร์-บางนา ชูพื้นที่กว้างและสเป็คเทียบเท่าบ้านเดี่ยว บนที่สุดของทำเล ใกล้เมกาบางนา มูลค่าโครงการ 1,101 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 2-3 ล้านบาท