โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือโอเชี่ยน กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจของไทยสมุทรประกันชีวิต บริษัทประกันของตระกูลอัสสกุล ซึ่งมีธุรกิจอยู่ในพอร์ตหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม โรงเรียนนานาชาติ ธุรกิจผลิตแก้วน้ำ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ดำเนินการอย่างเงียบๆ มาอย่างยาวนานถึง 31 ปี ถูกส่งต่อมาถึงรุ่นที่ 3 ของอัสสกุล “ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์” กรรมการผู้จัดการ โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ คนปัจจุบัน กับภารกิจสร้างอาณาจักรโอเชี่ยนให้เติบโตอย่างแข็งแรง ด้วยแลนด์แบงก์นับหมื่นไร่ของโอเชี่ยน กรุ๊ป ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
“ถือเป็นจุดแข็งของ โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ ซึ่งโมเดลการขยายธุรกิจที่แตกต่างกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่วๆ ไป ตรงที่โอเชี่ยนฯจะขยายธุรกิจจากแลนด์แบงก์ที่มีอยู่เป็นแกนหลัก ที่ดินแปลงไหนมีความพร้อมในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็จะนำมาศึกษาว่าควรจะทำอะไรบ้าง” ณพงศ์ กล่าวกับ property mentor
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ มีธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งข้อดีก็คือ เป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โครงการหลายๆ พื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบ แต่ก็มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวกเช่นกัน
“ในช่วงโควิดระบาดคอนโดที่พัทยาของบริษัทกลับมียอดขายที่ดี เพราะกลุ่มเป้าหมายต้องการซื้อบ้านหลังที่สองที่อยู่ใกล้กทม. ขณะที่คอนโดที่ขอนแก่น ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะขอนแก่นเป็นเมืองการศึกษา เป็นศูนย์การแพทย์จึงยังมีreal demand อยู่ ยอดขายถือว่ายังไปได้ดี ส่วนที่ภูเก็ตยอมรับว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของการแพร่ระบาด ไม่มียอดขายเลย แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายยอดขายก็ค่อยๆ กลับมา
สำหรับธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทำให้บริษัทต้องตัดสินใจปิดโรงแรมที่พัทยา เพื่อรีโนเวทใหม่ใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 150 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในช่วงต้นปีหน้า โดยหันมาเน้นกลุ่มครอบครัวมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจท่าจอดเรือไม่ได้รับผลกระทบ เพราะลูกค้าทั้งหมดเป็นกลุ่มระดับบน ส่วนอาคารสำนักงาน ก็ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อาจจะมีผู้เช่ารายเล็กที่ของต่อรองค่าเช่าอยู่บ้าง” ณพงศ์ ยกตัวอย่าง
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีที่ดินอีกหลายแปลงที่เตรียมไว้สำหรับการพัฒนาในระยะกลาง และระยะยาว อย่างเช่น ที่ดินที่พัทยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมโอเชี่ยน มารีน่า ยอช์ทคลับ และคอนโด ซาน มารีโน่ และโอเชี่ยน พอร์โตฟีโน่ จอมเทียน-พัทยา บริษัทยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาอีกกว่า 100 ไร่
ที่ดินแปลงดังกล่าวเตรียมแผนไว้รองรับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีแผนจะพัฒนาสถานีพัทยาในรูปแบบของ TOD (Transit-Oriented Development) จะเพิ่มศักยภาพของพัทยาขึ้นอีกมาก ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของคนไทยและต่างชาติ โดยบริษัทมีแนวคิดที่จะพัฒนาคอนโดมิเนียมเพิ่มอีก 1 โครงการ บ้านระดับไฮเอนด์ และรีสอร์ท ซึ่งคงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
เช่นเดียวกับ ภูเก็ต บริเวณโครงการโอเชี่ยน ทาวน์ ยังมีที่ดินอีกประมาณ 200 ไร่ โดยมีแผนจะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮมต่อเนื่อง 8 โครงการ ใช้เวลาอีก 7-8 ปี
สำหรับในพื้นที่กทม. โอเชี่ยน ยังมีที่ดินอยู่หลายแปลงที่รอการพัฒนาในอนาคต อาทิ ที่ดินบริเวณถนนวิภาวดี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 20 ไร่ โรงเรียนใช้ไป 7-8 ไร่ และมีแผนที่จะขยายเพิ่มจึงมีแนวคิดที่จะย้ายโรงเรียนไปไว้ด้านหลังของแปลงที่ดิน และนำที่ดินด้านหน้าพัฒนาเป็นคอนโดและออฟฟิศ รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเปิดในอนาคต แต่ก็ต้องใช้เวลาสร้างโรงเรียนใหม่อีก 4-5 ปี
นอกจากนี้ ยังมีที่ดินบริเวณถนนพระราม 3 ติดกับโรงแรมมณเฑียรเนื้อที่กว่า 16 ไร่ ที่ได้ศึกษาร่วมกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต เพื่อพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน เพื่อเป็นสำนักงานใหญ่ และคอนโดมิเนียม และยังมีที่ดินฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณราษฎร์บูรณะอีก 20 ไร่ ที่เตรียมจะนำมาพัฒนาในอนาคต
ปัจจุบัน โอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ มีพอร์ตที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ได้แก่ อาคารสำนักงาน โอเชี่ยน ทาวเวอร์ 1 และ โอเชี่ยน ทาวเวอร์ 2 โรงแรม 2 แห่ง ได้แก่ โอเชี่ยน มารีน่า ยอช์ทคลับ พัทยา และเมอเวนพิค อัสสรา รีสอร์ท แอนด์ สปา หัวหิน รวมถึงธุรกิจท่าเรือที่อยู่บริเวณเดียวกัน ส่วนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ณ ปัจจุบัน มีคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างขาย 3 โครงการ และทาวน์เฮ้าส์อีก 2 โครงการ ทั้งหมดอยู่ในต่างจังหวัด
“เป้าหมายของเราคือ จะพยายามเพิ่มสัดส่วนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายให้เป็น 70% ขณะที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าอยู่ที่ 30% จากเดิมอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าจะมีสัดส่วนถึง 70% และเพื่อขายมีอยู่ 30% และได้ขยับมาเป็น 50-50 จากรายได้รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มเปิดโครงการใหม่มากขึ้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มมองไปที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกทม.เริ่มแน่น การแข่งขันสูง ขณะที่ในต่างจังหวัดยังมีช่องว่างที่จะเข้าไปเจาะได้” ณพงศ์ กล่าว
ณ เวลานี้ ก็คงต้องรอให้สถานการณ์ของโควิด-19 คลี่คลาย แผนการเปิดโครงการที่ชะลอไว้ รวมถึงบิ๊กโปรเจ็กต์ต่างๆ ก็จะได้เริ่มเดินหน้าต่อไป