fbpx
bts1ใช้ประกอบข่าว scaled

คนซื้อบ้านกระอัก ดัชนีราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าพุ่งสูงสุด 61%

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้อัพเดตดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประจำไตรมาส 2 ปี 2563 โดยดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดเผยเอาไว้ว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในไตรมาส 2 มีค่าเท่ากับ 308.6 จุด เพิ่มขึ้นถึง 30.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 236.9 จุด และเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 293.3 จุด

สำหรับทำเลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าทำเลอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้าที่เป็นส่วนต่อขยายและมีแผนจะก่อสร้างในอนาคต โดยทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ได้แก่

  1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา ซึ่งเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง โดยในไตรมาส 2 ปี 2563 รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือได้เปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่ 11 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณตามแนวรถไฟฟ้านี้มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 61.4% และเป็นทำเลที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องมา 5 ไตรมาส
  2. สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความคืบหน้าการก่อสร้างโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 57 มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 53.6%
  3. สายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 28.5%
  4. สายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศาลายา เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 26.5%
  5. สายสีเขียวใต้ (สมุทรปราการ-บางปู) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากัน 23.1%

ดูจากข้อมูลชุดนี้แล้วบอกได้คำเดียวว่าเศร้าแทนคนซื้อบ้าน เพราะจาก 5 อันดับ 6 เส้นทางข้างต้น เป็นโครงการที่ยังเป็นแค่แผนอยู่ในอากาศ 4 เส้นทาง แต่ราคาที่ดินกลับพุ่งพรวดสูงสุดถึง 61% ขณะที่โครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ 1 เส้นทาง ดัชนีราคาก็วิ่งไปไกล 54% เช่นกัน ส่วนโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว 1 เส้นทาง ก็เพิ่มขึ้นไม่น้อย 23%

นั่นหมายความว่า โครงการกว่าจะเริ่มลงมือไปจนถึงสร้างเสร็จเปิดให้บริการ ราคาที่ดินจะพุ่งไปอีกเท่าไหร่ และทำให้ราคาบ้านหรือคอนโดแพงไปอีกแค่ไหน ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯเองก็ไม่กล้าจะควักสตางค์ซื้อที่ดินตราบใดที่รถไฟฟ้ายังไม่เริ่มตอกเข็ม เพราะนั่นคือความเสี่ยง ยิ่งยุคสมัยที่นักการเมืองคุมกระทรวงนี้ก็ยิ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวดึงซ้ายที ดึงขวาที โครงการก็ล่าช้าไปอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้

แต่ผู้ประกอบการเองก็มีส่วนจากการแย่งกันทุ่มเงินซื้อจนราคาพุ่งสูงปรี้ดในเวลาเพียงไม่กี่ปี สุดท้ายคนที่อยากได้บ้านที่เดินทางสะดวกมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านชัวร์ๆ ก็ต้องจ่ายเพิ่มตามราคาที่ดินที่ขึ้นไปดักรอแล้วหลายปี แต่ถ้าอยากได้ราคาที่ถูกกว่าก็ต้องรีบซื้อตั้งแต่ตอนนี้ แต่ไม่รับประกันว่าจะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านมั๊ย เพราะเป็นอะไรที่ไม่แน่ไม่นอน ดูรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นตัวอย่าง โครงการกว่าจะเริ่มกว่าจะเสร็จปรับแล้วเปลี่ยนอีกดึงแล้วดึงอีกกินเวลาเป็น 10 ปี ราคาที่ดินก็วิ่งขึ้นไปไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า

เอาเป็นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแลเรื่องพวกนี้อย่าปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอยู่ฝ่ายเดียวจนผู้บริโภคต้องเสียเปรียบและเสียประโยชน์ กลไกรัฐต้องเข้ามาช่วยถ่วงดุล สร้างโอกาสให้คนที่ต้องการซื้อบ้านสร้างครอบครัว เพราะที่อยู่อาศัยชานเมืองทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นคือที่พึ่งพิงของคนชั้นกลางและชนชั้นฐานราก ถ้ามีรถไฟฟ้าแล้วแต่กลับต้องมาอยู่ในคอนโดห้องแคบๆ นอกเมือง เพราะต้นทุนที่ดินทำบ้านประเภททาวน์เฮ้าส์ไม่ได้ มันก็กระไรอยู่

เรื่องนี้อยากฝากไปถึงคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ช่วยออก action (บ้างก็ได้นะ) หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูแลการเคหะแห่งชาติ ช่วยให้ผู้ว่าคนใหม่หมาดๆ “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผลักดันโครงการแนวรถไฟฟ้าของการเคหะฯให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพื่อเป็นทางเลือกและเป็นอานิสงส์ให้กับคนที่ต้องการมีบ้าน ก็ขออนุโมทนาสาธุไว้ล่วงหน้าเลยครับ