fbpx
ภาคเหนือ เชียงใหม่

ท่องเที่ยวทรุดอสังหาฯภาคเหนือกำลังซื้อลดวูบ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้จัดทำรายงานสรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่จังหวัดสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และตาก โดยนับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย จากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายจำนวนรวมประมาณ 17,843 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 5 ของ 26 จังหวัดที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ทำการสำรวจในช่วงครึ่งหลังปี 2562 โดยแบ่งเป็น จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 11,465 หน่วย เชียงราย จำนวน 3,009 หน่วย พิษณุโลก จำนวน 2,595 หน่วย และตาก จำนวน 774 หน่วย

สำหรัยหน่วยเหลือขายรวม ณ สิ้นปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 13,401 หน่วย แบ่งเป็น บ้านจัดสรร 10,706 หน่วย อาคารชุด 2,695 หน่วย โดยมีอัตราดูดซับต่อเดือน (ทุกระดับราคา) ของบ้านจัดสรร และอาคารชุด ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 เท่ากับ 2.6% เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกปี 2562 ที่มีอัตราดูดซับ 2.5% หากแยกประเภท บ้านจัดสรร จะมีอัตราดูดซับในครึ่งหลักปีอยู่ที่  2.4% ขณะที่ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.2% อาคารชุดมีอัตราดูดซับครึ่งปีหลังที่ 3.5%  ส่วนครึ่งปีแรกอัตราดูดซับ 3.3% โดยประมาณการยอดโอนกรรมสิทธิ์ ปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 17,780 หน่วย ลดลงร้อยละ -12.6

อสังหาฯเชียงใหม่สต๊อกยังเพียบ
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่ภาคเหนือมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยในจังหวัดเชียงใหม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่น้อยมาก ส่งผลให้มีโครงการอยู่ระหว่างการขายรวมทั้งสิ้น 221 โครงการ รวม 11,465 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 42,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 7 แบ่งเป็นอาคารชุด 2,582 หน่วย และบ้านจัดสรร 8,883 หน่วย

เมื่อพิจารณาจากหน่วยขายได้ใหม่จากการสำรวจพบว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 มีหน่วยขายได้ใหม่จำนวน 2,316 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 13.3 แต่ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ -11.8 ในจำนวนดังกล่าวเป็นการขายห้องชุด 647 หน่วย และเป็นบ้านจัดสรร 1,669 หน่วย โดยยังมีหน่วยเหลือขายจำนวน 9,149 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 5.5 มูลค่ารวม 35,426 ล้านบาท แบ่งเป็นหน่วยเหลือขายประเภทโครงการอาคารชุดจำนวน 1,935 หน่วย บ้านจัดสรรจำนวน 7,214 หน่วย

สำหรับทำเลขายดีมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ 5 อันดับแรก โดยพิจารณาจากหน่วยที่ขายได้ใหม่ ได้แก่ 1.ทำเลสารภี จำนวน 560 หน่วย 2.ทำเลหางดงตอนบน จำนวน 536 หน่วย 3.ทำเลแม่โจ้ จำนวน 229 หน่วย 4.ทำเลสันทราย จำนวน 208 หน่วย และ 5.ทำเลสันกำแพง จำนวน 187 หน่วย โดยทำเลอันดับ 1 และ 2 มีอัตราดูดซับในระดับสูงคือร้อยละ 6.9 และร้อยละ 6.7 ตามลำดับ

ส่วนทำเลที่มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทำเลสันทราย จำนวน 448 หน่วย 2.ทำเลหางดงตอนบน จำนวน 430 หน่วย 3. ทำเล ม.พายัพ จำนวน 426 หน่วย 4.ทำเลแม่โจ้ จำนวน 317 หน่วย และ 5.ทำเลหางดงตอนล่าง จำนวน 190 หน่วย

“จากการสำรวจจะพบว่าที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ ตลาดหลักยังคงเป็นอาคารชุดพักอาศัย บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ เป็นหลัก ซึ่งทำเลสารภี และ หางดง มีอัตราดูดซับที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีสินค้าใหม่เข้ามาในตลาดน้อยมาก และกลุ่มราคาที่ขายได้ดี จะอยู่ใน 2 กลุ่มระดับราคา คือ 2-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท แต่กลุ่มระดับราคาดังกล่าวก็เป็นกลุ่มที่มีหน่วยสร้างเสร็จเหลือขายอยู่จำนวนมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการทำการตลาด”

ศูนย์ข้อมูลได้ประมาณการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่ในตลาดจำนวน 9,343 หน่วย ประกอบด้วยอาคารชุดจำนวน 2,050 หน่วย บ้านเดี่ยวจำนวน 4,321 หน่วยทาวน์เฮ้าส์จำนวน 1,814 หน่วย บ้านแฝดจำนวน 1,025 หน่วย และอาคารพาณิชย์จำนวน 133 หน่วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราดูดซับที่ขยับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในครึ่งหลังปี 2562 หากจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดตามที่ศูนย์ข้อมูลประมาณการไว้ ภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่ลดต่ำลงเช่นในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะเหลือประมาณสูงสุดไม่เกินร้อยละ 1.6

ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่า การโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงมาอยู่ที่ 12,156 หน่วย มูลค่าประมาณ 23,141 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งมีมูลค่า 26,817 ล้านบาท โดยมูลค่าลดลงร้อยละ -14.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจาก 2561 ด้วยภาพรวมดังกล่าวผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเสนอขาย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว และอาคารชุดพักอาศัยที่มีอัตราการดูดซับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงต้นปี 2562 และคาดว่าจะต่อเนื่องมาถึงปี 2563

เชียงรายสต็อกบ้านจัดสรรน่าห่วง
ส่วนจังหวัดเชียงราย ศูนย์ข้อมูลฯสำรวจภาคสนามโครงการที่อยู่อาศัยครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอหลัก ประกอบด้วยอำเภอเมืองเชียงราย เชียงแสน แม่สาย และเวียงชัย ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมครึ่งหลังปี 2562 จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกร้อยละ 56.1 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 115.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจาก 2 ส่วนประกอบกันคือ ที่อยู่อาศัยเหลือขายจากครึ่งปีแรกจำนวน 1,811 หน่วย และมีหน่วยเปิดขายใหม่อีกจำนวน 1,239 หน่วย ส่งผลให้ ณ ครึ่งหลังปี 2562 มีที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งสิ้น 61 โครงการ รวม 3,009 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร จำนวน 2,946 หน่วย อาคารชุด 63 หน่วย

ทั้งนี้มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขาย ณ ครึ่งหลังปี 2562 จำนวน 449 หน่วย มูลค่า 1,528 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีหน่วยสร้างเสร็จเหลือขายมากที่สุดในทำเลในเมืองเชียงราย จำนวน 292 หน่วย และทำเลสนามบิน-ม.แม่ฟ้าหลวง จำนวน 112 หน่วย แม้ว่าทั้งสองทำเลจะเป็นทำเลที่ขายได้สูงสุดแต่ด้วยอัตราดูดซับที่ต่ำจึงยังคงเป็นทำเลที่ต้องระมัดระวังในการลงทุน

ศูนย์ข้อมูลได้ประมาณการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอยู่ในตลาดจำนวน 2,919 หน่วย ประกอบด้วย อาคารชุดจำนวน 57 หน่วย บ้านเดี่ยวจำนวน 1,359 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์จำนวน 690 หน่วย บ้านแฝดจำนวน 262 หน่วย และอาคารพาณิชย์จำนวน 551 หน่วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราดูดซับที่ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.7 ในครึ่งหลังปี 2562 หากจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดตามที่ศูนย์ข้อมูลฯประมาณการไว้ ภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่ลดต่ำลงเช่นในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะเหลือประมาณสูงสุดจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1

ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่า การโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงมาอยู่ที่ 2,783 หน่วย มูลค่าประมาณ 4,833 ล้านบาท จำนวนหน่วยอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่ในส่วนของมูลค่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งมีมูลค่า 4,408 ล้านบาท โดยมีมูลค่าลดลงร้อยละ -17.1 เป็นการปรับตัวลดลงจากปี 2561 ด้วยภาพรวมดังกล่าวผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเสนอขาย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว

พิษณุโลกชะลออุปทานใหม่เข้าตลาด
ในส่วนของจังหวัดพิษณุโลกศูนย์ข้อมูลฯดำเนินการสำรวจเพียงพื้นที่เดียวคืออำเภอเมืองเนื่องจากเป็นศูนย์กลางด้านอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัด เป็นที่น่าสังเกตว่าครึ่งหลังปี 2562 จำนวนที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายมีจำนวนหน่วยลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ทั้งนี้เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดเพียง 180 หน่วยเท่านั้น ส่งผลให้มีจำนวนที่อยู่อาศัยเสนอขายมีจำนวนรวม 2,595 หน่วย ลดลงจากครึ่งปีแรกร้อยละ -0.8 และมีหน่วยเหลือขายจำนวน 2,461 หน่วย ลดลงจากครึ่งปีแรกร้อยละ -0.2 แต่เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 20.3 โดยเป็นบ้านจัดสรร 2,461 หน่วย และ อาคารชุด 368 หน่วย

ศูนย์ข้อมูลได้ประมาณการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกอยู่ในตลาดจำนวน 2,521 หน่วย ประกอบด้วยอาคารชุดจำนวน 362 หน่วย บ้านเดี่ยวจำนวน 1,254 หน่วย บ้านแฝดจำนวน 531 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์จำนวน 212 หน่วย และอาคารพาณิชย์จำนวน 162 หน่วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราดูดซับจะมีอัตราที่ลดต่อลงต่อเนื่องจากปี 2561 โดยในครึ่งหลังปี 2562 อัตราดูดซับปรับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 หากจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดตามที่ศูนย์ข้อมูลฯประมาณการไว้ ภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่ลดต่ำลงเช่นในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะเหลือประมาณสูงสุดจะอยู่ในระดับร้อยละ 1.1

ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่าการโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงมาอยู่ที่ 2,085 หน่วย มูลค่าประมาณ 3,610 ล้านบาท จำนวนหน่วยอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแต่ในส่วนของมูลค่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งมีมูลค่า 3,304 ล้านบาท โดยมูลค่าลดลงร้อยละ -9.1 เป็นการปรับตัวลดลงจาก 2561 ด้วยภาพรวมดังกล่าวผู้ประกอบการมีการปรับกลยุทธ์โดยไม่เติมอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดหากมีการกระตุ้นกำลังซื้อในระดับที่เหมาะสมตลาดโดยรวมจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในที่สุด

จังหวัดตากตลาดบ้านเดี่ยวยังน่าห่วง
สำหรับจังหวัดตาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ดำเนินการสำรวจในพื้นที่อำเภอเมืองตาก และแม่สอด โดยมีที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขาย ณ ครึ่งหลังปี 2562 จำนวน 774 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกร้อยละ 62 ประกอบด้วย อาคารชุด 144 หน่วย บ้านเดี่ยว 477 หน่วย บ้านแฝด 76 หน่วย อาคารพาณิชย์ 39 หน่วย และทาวน์เฮ้าส์ 38 หน่วย ซึ่งตลาดที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวยังเป็นตลาดหลัก โดยพื้นที่อำเภอแม่สอดถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุด โดยเฉพาะในกลุ่มราคา 1.5 – 2 ล้านบาท

ศูนย์ข้อมูลประมาณการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายในพื้นที่จังหวัดตากอยู่ในตลาดจำนวน 745 หน่วย ประกอบด้วยอาคารชุดจำนวน 116 หน่วย บ้านเดี่ยว จำนวน 474 หน่วย บ้านแฝด จำนวน 81 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์ จำนวน 38 หน่วย และอาคารพาณิชย์ จำนวน 36 หน่วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราดูดซับซึ่งมีอัตราที่ลดต่อลงต่อเนื่องจากปี 2561 จากร้อยละ 1.2 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 หากจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดตามที่ศูนย์ข้อมูลฯประมาณการไว้ ภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่ลดต่ำลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 มีการจำกัดด้านการค้าชายแดน การเดินทาง และการท่องเที่ยว คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะลงมาในระดับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5 ในกลุ่มของบ้านเดี่ยว

ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่าการโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงมาอยู่ที่ 751 หน่วย มูลค่าประมาณ 1,275 ล้านบาท จำนวนหน่วยอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแต่ในส่วนของมูลค่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งมีมูลค่า 1,134 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงร้อยละ -11.6 แต่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงประมาณร้อยละ 0.2 เนื่องจากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์มีมีมูลค่าต่อรายสูงขึ้น ด้วยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดตากยังอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะตลาดบ้านเดียวแม้จะขายได้มากที่สุดแต่ก็ยังคงเหลือขายมากที่สุดเช่นเดียวกัน

“ภาพรวมของตลาดภาคเหนือ เนื่องจากกลุ่มจังหวัดที่ทำการสำรวจ 4 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลกและตาก เป็นพื้นที่ซึ่งเศรษฐกิจหลักอ้างอิงกับธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าขายชายแดน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องปี 2563 จึงได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือมีหน่วยเหลือขายค่อนข้างมากขณะที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้หน่วยเหลือขายในปี 2562 กลายมาเป็นหน่วยตั้งต้นของปี 2563 เมื่อได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้กำลังซื้อของคนในพื้นที่ลดลง แรงกระตุ้นจากคนนอกพื้นที่ก็หายไป เช่นเดียวกับกำลังซื้อของชาวต่างชาติ ทั้งหมดนี้มีผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์ใน 4 พื้นที่ดังกล่าว และจะมีผลโดยตรงให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลดลงไปด้วย” ดร.วิชัยกล่าวสรุป

ท่องเที่ยวทรุดฉุดอสังหาฯภาคเหนือวูบ
ด้านนายปราชญ์ วงศ์วรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2562 หลังจากในปี 2560-2561 มีการเปิดโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก โดยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และมาตรการคุมเงินออกนอกประเทศของทางการจีนทำให้อัตราการโอนลดลง มาถึงปี 2563 สถานการณ์ตลาดก็เป็นไปตามภาพรวมของเศรษบกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังซื้อลดลงโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวซึ่งตอนนี้ชะงักไปจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากมีพนักงานภาคท่องเที่ยวออกจากงานเป็นจำนวนมากซึ่งกระทบกับภาคอสังหาฯ

ผลจากภาวะชะลอตัวของตลาดทำให้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่มีอยู่คือการลดค่าโอนและค่าจดจำนองที่จะใช้ไปถึงปลายปีอาจจะไม่พอที่จะกระตุ้นตลาดได้ จึงอยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณามาตรการเพิ่มเติมที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ มาตรการบางมาตรการควรจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริงในตลาด อย่างเช่น โครงการบ้านล้านหลังที่ให้กู้บ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท ในเมืองใหญ่โอกาสพัฒนาค่อนข้างยาก จึงอยากให้พิจารณาปรับเพดานราคาขึ้น หรือบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งคนที่จะได้สิทธิ์เป้นผู้อยู่ในฐานภาษี อยากให้ขยายวงมาถึงคนที่ทำอาชีพอิสระด้วย เป็นต้น

นายยศวัจน์ รุ่งคณาวุฒิ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์พิษณุโลก กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะลอตัวเหมือนกันหมดทั่วประเทศ จากกำลังซื้อที่ลดลง แม้ซัพพลายใหม่จะลดลง แต่อัตรการดูดซับในตลาดก็ลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการในตลาดก็พยายามปรับตัว แทนที่จะรอลูกค้า ก็เข้าไปหาลูกค้าผ่านทางออนไลน์ ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ก็ยังมีมุมที่ดี เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้นก็ใช้เวลาในออนไลน์มากขึ้นด้วย พฤติกรรมผุ้ซื้อกก็หันมาใช้ออนไลน์มากขึ้นในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่กำลังซื้อหดตัวลง อยากให้รัฐบาลช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มข้าราชการซึ่งไม่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ รวมถึงภาคการเกษตรซึ่งภาคเศรษฐกิจสำคัญของตลาดในภูมิภาค เช่น จังหวัดพิษณุโลกก้มีทั้งข้าราชการ และภาคการเกษตร ถ้าสามารถเพิ่มกำลังซื้อ ผู้บริโภคก็จะมีความมั่นใจในการซื้ออสังหาฯมากขึ้น