fbpx
อนันต์ กาญจนพาสน์

รำลึกถึง อนันต์ กาญจนพาสน์

อนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งในนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย ที่พลิกโฉมหน้าธุรกิจอสังหาฯในแบบที่ไม่เคยมีใครในยุคเดียวกันกล้าคิด กล้าทำ แม้จะถูกมองว่า เป็นการพัฒนาที่มาเร็วเกินยุคสมัย และทำให้เขาต้องต่อสู้ดิ้นรนประคับประคองโปรเจ็กต์ที่เขาก่อร่างสร้างมันขึ้นมาเกือบตลอดทั้งชีวิต จนถึงวันนี้มันก็ได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า สิ่งที่เขาเชื่อมั่นและตั้งใจทำมาตลอดนั้นมาถูกทางแล้ว

อาณาจักรเมืองทองธานีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ อนันต์ ต้องทุ่มเททุกอย่างทั้งแรงกาย แรงใจ ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไปจนถึงความคิด สติปัญญา ความสามารถในเชิงธุรกิจ ตลอด 3 ทศวรรษ พลิกพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ที่ห่างไกลเมืองในเวลานั้นให้เป็นเมืองใหม่ที่พร้อมสรรพ ทั้งที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมและพื้นที่พาณิชยกรรม อาคารสำนักงาน ผสมผสานรวมกันเป็นโครงการขนาดใหญ่ หรือที่รู้จักกันในยุคสมัยนี้ว่า โครงการมิกซ์ยูส

อนันต์ กลับจากฮ่องกงมาสานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของคุณพ่อ มงคล กาญจนพาสน์ ผู้ซึ่งเข้ามาบุกเบิกธุรกิจบ้านจัดสรรในยุคต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อกำเนิดบริษัท สยามประชาคาร ที่พัฒนาโครงการเสนานิเวศน์ ก่อนที่จะแยกตัวมาก่อตั้งบริษัท บางกอกแลนด์ ในปี 2516 พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรที่เชื่อว่า เมืองทองนิเวศน์

อนันต์ เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในยุคที่กำลังเฟื่องฟู โดยได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทตั้งแต่ปี 2533 พร้อมกับการนำแนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดมิเนียมแบบฮ่องกงมาพัฒนาในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของเมืองไทยในขณะนั้น พร้อมกับวางมาสเตอร์แพลนเมืองทองธานีให้เป็นเมืองขนาดใหญ่เนื้อที่หลายพันไร่

คอนโดมิเนียมราคาถูก และอาคารสำนักงานถูกปูพรมระดมสร้างขึ้นในเวลาอันรวดเร็วในช่วง 1-3 ปีหลังจากนั้นมากกว่า 30 อาคาร ซึ่งคอนโดในเมืองทองถือเป็นที่อยู่อาศัยราคาถูกจับกลุ่มข้าราชการ ผู้มีรายได้น้อย ที่รู้จักกันดีภายใต้แบรนด์ ป๊อปปูล่า คอนโดมิเนียม ถือว่า ประสบความสำเร็จในด้านการขายเป็นอย่างดี แต่ทุกอย่างพังทลายเมื่อเจอวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540

วิกฤติใหญ่ในครั้งนั้นทำให้ บางกอกแลนด์ มีหนี้สินที่ต้องชำระสะสางกว่า 5 หมื่นล้านบาท! พร้อมกับเปลี่ยนสภาพเมืองทองที่กำลังจะรุ่งโรจน์กลายเป็นเมืองร้างในเวลาต่อมา ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของคนที่ชื่อว่า อนันต์ จากคนที่อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสกลับกลายเป็นคนเคร่งขรึม และพร้อมทำทุกทางเพื่อไม่ให้บริษัทล้มละลาย

อนันต์ วิ่งเข้าวิ่งออกทุกที่ที่คิดว่าจะเสนอขายโครงการได้ ขายทรัพย์สินที่มีทั้งที่ดิน-หุ้น ขอเจรจาปรับโครงการสร้างหนี้ ขอลดหนี้ ใช้เวลานานถึง 15 ปี บางกอกแลนด์ และเมืองทอง ถึงจะปลดภาระหนี้ทั้งหมดได้ โดยมีจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้เมืองทองรีเทิร์นกลับมาได้อีกครั้ง นั่นก็คือ การเสนอตัวสร้างสนามกีฬา ในอาณาจักรเมืองทองธานี เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี 2541 ซึ่งกว่าจะส่งมอบงานได้ก็ต้องลุ้นกันจนตัวโก่งท่ามกลางปัญหาหนี้ที่รุมเร้ามากมาย

แต่งานนี้ก็ทำให้แบรนด์ เมืองทอง รับรู้ในวงกว้างอีกครั้ง ในฐานะหนึ่งในสนามจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ และกลายเป็นสปริงบอร์ดต่อยอดสู่ธุรกิจจัดแสดงสินค้า ศูนย์ประชุมและสัมมนา โดยเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2543 และด้วยความกล้าได้กล้าเสียของอนันต์จึงตัดสินใจลงทุนขยายพื้นที่เพิ่ม พร้อมกับการลุยหาลูกค้าด้วยตัวเองกับลูกชาย พอลล์ กาญจนพาสน์ ทำให้งานเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ และติดลมบนจนกลายเป็นอิมเพค เมืองทอง ในยุคเรืองรองเช่นทุกวันนี้ และยังมีโปรเจ็กต์อีกมากมายที่รอสานต่อ

ขณะเดียวกัน อนันต์ ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจของบางกอกแลนด์ จากการพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย มาสู่การพัฒนาอสังหาฯ เพื่อเช่าเป็นหลัก พร้อมกับประกาศชัดเจนว่าจะไม่ใช้เงินกู้ในการทำธุรกิจ เพราะเข็ดขยาดจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ผ่านมา และจากการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เน้นการพัฒนาเพื่อให้เช่า ทำให้ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สัมมนา และโรงแรม ได้สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับบางกอกแลนด์ จนถึงทุกวันนี้อสังหาฯเพื่อเช่าได้สร้างรายได้เกินกว่าครึ่งของรายได้รวมให้กับบางกอกแลนด์ไปแล้ว

อนันต์ เคยกล่าวเอาไว้หลังจากสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นในราวๆ ปี 2553 ว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาถือเป็นสถานการณ์ที่หนักหนาสาหัสที่สุด และต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะแก้ปัญหาสำเร็จ และถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเขา

การทำธุรกิจในเมืองไทยต้องค่อยเป็นค่อยไปอย่างใจเย็น ต้องมองปัญหาให้ทะลุปรุโปร่ง มิเช่นนั้นจะเหมือนเขาที่ยอมรับว่ามองวิกฤตในปี 2540 ไม่ออก จนทำให้เกือบล้มทั้งยืนมาแล้ว แต่เขาก็ยืนยันว่า เมืองทองธานีคือความสำเร็จที่เขาภูมิใจ และเขามั่นใจมาตลอดตั้งแต่วันแรกว่า เขาเดินมาถูกทาง

อนันต์ กล่าวไว้ในรายงานประจำปีล่าสุด(ปี 2562) ว่า ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า การพัฒนาอย่างมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครซึ่งเราได้สร้างสรรค์ไว้ในเมืองทองธานีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เราจะพยายามพัฒนาเมืองทองธานีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป ก่อนที่เขาจะลาจากไปในวัย 80 ปี เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ปล่อยให้ลูกชาย 2 คนซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของกาญจนพาสน์ สานฝันของเขาต่อไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *